‘สมชัย’ ยกทฤษฎีสมคบคิด ใครสมคบใคร เล่นเกมยื้อ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. หวังไม่ทันกรอบ 180 วัน

‘สมชัย’ ยกทฤษฎีสมคบคิด ใครสมคบใคร เล่นเกมยื้อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาเสร็จไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน

 

วันที่ 8 ส.ค.2565 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา และอดีตกกต. โพสต์เฟซบุ๊กถึงการดึงเกมให้การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เสร็จไม่ทันกรอบ 180 วันหรือวันที่ 15 ส.ค.นี้ว่า “ทฤษฎีสมคบคิด ใครสมคบใคร”

21 ก.ค. 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บอก สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ยังไปไม่ไกล กลับมาใช้หารร้อยได้

27 ก.ค. 2565 ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ได้ 2 มาตรา สภาล่ม เพราะไม่ครบองค์ประชุม เวลา 15.46 น.

1 ส.ค. 2565 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ไม่เลื่อนวาระร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นมาแทนร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะหากไม่เสร็จในวันที่ 2-3 ส.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กำหนดให้ประชุมร่วมอีกในวันที่ 9 และ 10 ส.ค. สามารถเสร็จทันแน่นอน ไม่มีอะไรต้องกังวล

2 ส.ค. 2565 ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ครบ 45 มาตรา ลงมติในวาระที่สามได้ ในเวลา 19.11 น. หลังจากลุ้นเรื่องการครบองค์ประชุมทั้งวัน

3 ส.ค. 2565 ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ได้ 7 มาตรา ไม่สามารถลงมติมาตรา 8 ได้ หลังจากรอองค์ประชุมเป็นเวลา 53 นาที ยังค้างอีก 5 มาตรา สภาล่มเวลา 17.00 น. ขาด 7 คน

3 ส.ค. 2565 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ส่งสัญญาณว่า ในสัปดาห์หน้า วุฒิสภาไม่สามารถประชุมร่วมกับ ส.ส. ในวันอังคารที่ 9 ส.ค.ได้ เนื่องจากมีวาระสำคัญต้องพิจารณา

4 ส.ค. 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เพื่อไทย รับสภาล่มมีนัยยะทางการเมือง การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ดี

4 ส.ค. 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยันรัฐบาลอยากให้ผ่าน แต่หากล่ม รัฐสภาต้องรับผิดชอบถูกประชาชนตำหนิ แต่เรียกร้องให้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟคงไม่ได้

4 ส.ค. 2565 นายชวน นัดวิป 3 ฝ่าย คือ ส.ว. ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน กำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาครั้งต่อไป พุธที่ 10 ส.ค. 2565 เพียงวันเดียวเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาในกระบวนการยุติธรรมที่ยังค้าง 5 มาตรา และ ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งส.ส. ที่ยังค้าง 9 มาตรา โดยฝ่าย ส.ว.ยืนยันว่า ไม่สามารถเพิ่มวันอังคารที่ 9 ส.ค. 2565 ได้ เรื่องจากวุฒิสภามีวาระสำคัญต้องพิจารณาในวันดังกล่าว

5 ส.ค. 2565 นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหารพรรค พปชร. ปัด พปชร-พท. ร่วมยื้อกฎหมายลูกให้ไม่ทัน 180 วัน ยันไม่มีใครชี้นำได้

5 ส.ค. 2565 นายสุทิน แบไต๋ หาก กม.ลูก เสร็จไม่ทันกรอบ 180 วัน พร้อมยอมรับร่างของ ครม. เหตุไม่ร่วมประชุม ไม่ใช่ขาดความรับผิดชอบ แต่เพื่อยับยั้งกฎหมาย

7 ส.ค. 2565 นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล บอกวันที่ 10 ส.ค. 2565 เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ส.ส.เขตส่วนใหญ่ต้องร่วมงานในพื้นที่ น่าจะไม่สามารถมาประชุมสภาได้