เหรียญหล่อก้นแมงดา หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัตถุมงคลดังนครปฐม / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญหล่อก้นแมงดา

หลวงพ่อวัดไร่ขิง

วัตถุมงคลดังนครปฐม

 

“หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง เป็นเวลานาน คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ

ด้านวัตถุมงคลที่กล่าวขานร่ำลือกัน “เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี 2467” นับเป็นเหรียญรูปเหมือน ที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก (รุ่นแรก) ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง

แต่ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ เหรียญหล่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง ที่จัดสร้างในราวปี พ.ศ.2460 สร้างโดยพระอธิการใช้ ปติฏโฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง รูปที่ 5 เมื่อครั้งยังรักษาการเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ.2455-2475

เหรียญหล่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง

รูปร่างเหรียญมีลักษณะคล้ายแมงดานา คือ มีก้นแหลมรูปสามเหลี่ยม บรรดาเซียนพระเรียกขานว่า “รุ่นก้นแมงดา”

ลักษณะของเหรียญดังกล่าว ด้านหน้าเหรียญ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธปางสมาธินั่งบนดอกบัว 3 กลีบ

ด้านหลังเหรียญมีอักขระยันต์คำว่า “พุทโธ”

พิธีการปลุกเสกเหรียญหล่อโบราณชุดนี้ พระอธิการใช้ นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครปฐมในสมัยนั้น เข้าร่วมพิธีการปลุกเสกมากมายหลายท่าน อาทิ หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อทา โสณุตตโร วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อห้อย ปุญญัสสะ วัดหอมเกล็ด, หลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ เป็นต้น จึงมั่นใจในความเข้มขลังยิ่ง

จัดเป็นพระที่หายาก เนื่องด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย อีกทั้งจำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

 

“วัดไร่ขิง” หรือ “วัดมงคลจินดาราม” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

เดิมเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2533

เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูน ประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ส่วนหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย

แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

หลวงพ่อวัดไร่ขิง

จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร ตั้งแต่ครั้งเป็นวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) พื้นเพเป็นชาวนครชัยศรี เล่ากันเป็นสองนัยว่า เป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.2394 อาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน

กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิม มีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี

ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ฝนโปรยลงมา ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต

“ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”

จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

 

เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวน นับรวมอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม

บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย

ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์มากมายเป็นอเนกประการ บันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง เช่น หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้ เป็นต้น

ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ส่งผลให้วัดไร่ขิงเป็นพระอารามที่เจริญก้าวหน้า สง่างาม ริมแม่น้ำท่าจีน มีศาสนสถาน เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และมีเขตสาธารณสถาน อันเป็นสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ของวัด สงเคราะห์แก่ประชาชน ส่วนราชการ

วัดไร่ขิง ยังได้สร้างสถานศึกษา สถานพยาบาล อันได้แก่ โรงเรียนประชาบาลวัดไร่ขิง (สุนทรอุทิศ) โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดไร่ขิง (วัดไร่ขิงวิทยา) วิทยาลัยสารพัดช่างวัดไร่ขิง โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี เป็นต้น

ในงานประจำปีวัดไร่ขิง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มีมหรสพ 9 วัน 9 คืน ซึ่งประชาชนต่างแห่นมัสการสักการะ และบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา”

เชื่อว่าที่เป็นพิเศษรองลงมา คือ ประทัดและละครรำ •