กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย : คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย

: คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (2)

 

ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 นักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งมีโอกาสไปศึกษาวิชาสมัยใหม่ที่เรียกว่า Architecture ในยุโรป

เมื่อเดินทางกลับมา คนกลุ่มนี้ได้เกิดสำนึกอย่างใหม่ที่ไม่สามารถดำรงอยู่ภายใต้คำนิยามว่า “ช่าง” แบบโบราณได้อีกต่อไป และเริ่มนิยามตนเองว่าเป็น architect และสร้างลักษณะเฉพาะของวิชาชีพให้เกิดขึ้นตามแบบที่ได้ไปร่ำเรียนมาในยุโรป

จนนำไปสู่การแปลคำนี้ว่า “สถาปนิก” ในที่สุด

ตัวตนสถาปนิกมิได้เกิดขึ้นในทันทีเมื่อมีการแปลคำว่า architect เป็นภาษาไทย แต่ต้องอาศัยกระบวนการในการก่อรูปจิตสำนึกเป็นระยะเวลาพอสมควรก่อนหน้านั้น และเมื่อมีคำแปลภาษาไทยแล้วกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ก็ยังคงดำรงอยู่ ตลอดจนกระบวนการกำหนดนิยามความหมายของวิชาชีพนี้ในทางสังคมอีกเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานานนับจากนั้นอีกหลายสิบปีกว่าที่คำคำนี้จะถูกเชื่อมเข้ากับความหมายที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม การบัญญัติศัพท์ภาษาไทยคำว่าสถาปนิกก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในกระบวนการก่อรูปความเป็นสถาปนิกในสังคมไทย

จะเข้าใจประเด็นดังกล่าวได้ จำเป็นต้องพิจารณาย้อนกลับไปดูบริบททางสังคมตั้งแต่ก่อนจะมีคำว่าสถาปนิกเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก

รูปหมู่สมาชิกยุคแรกของ “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มา : ข่าวช่าง เล่มที่ 7 ตอนที่ 1 (เมษายน-มิถุนายน 2478)

ในสังคมจารีต ช่าง คือกลุ่มของแรงงานมีฝีมือ ที่มิได้แยกตัวออกมาเป็นองค์กรเฉพาะ และมิได้เป็นการประกอบวิชาชีพทางการช่างโดยตรงตลอดเวลา แต่ผู้ที่เป็นช่างจะดำรงสถานะอื่นๆ ด้วยเสมอ เช่น เป็นพระ เป็นขุนนาง หรือเป็นไพร่ ฯลฯ งานช่างในสังคมไทยจะมีหลายประเภท แยกไปตามลักษณะของงาน อาทิ ช่างมุก ช่างฉลุ ช่างเขียน ฯลฯ

โดยทั่วไป ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีความรู้ทางช่างไม่มากก็น้อยเสมอ โดยจะส่งทอดความรู้มาจากครอบครัว แต่หากตระกูลใดมีฝีมือทางช่างดีก็จะมีสถานะทางสังคมสูงขึ้น และหากตระกูลใดมีฝีมือช่างสูงมากขึ้นก็จะได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นมูลนาย และดำรงสถานภาพเป็น “ช่างหลวง” ซึ่งจะนำมาซึ่งยศศักดิ์และการนับหน้าถือตามาก

การเรียนการสอนวิชาช่างก็มิได้มีระบบที่ชัดเจน แต่เป็นไปในลักษณะของการฝากตัวเข้าเป็นศิษย์ ทำการฝึกงานกับครูช่าง เรียนรู้งานไปพร้อมๆ กับการรับใช้ครูช่าง เมื่อครูเชื่อมั่นในลูกศิษย์ก็จะถ่ายทอดความรู้ให้

หากไม่พอใจลูกศิษย์ หรือไม่เห็นว่ามีผู้ใดสมควรได้รับการสืบทอดวิชาช่าง ครูก็จะปล่อยให้วิชาช่างนั้นตายไปกับตัว

ความเปลี่ยนแปลงในระบบช่างเริ่มเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราวรัชกาลที่ 5 ที่ได้เริ่มนำเข้าช่างฝรั่งมาทำงานออกแบบก่อสร้างอาคารราชการสมัยใหม่มากมาย อันเนื่องมาจากช่างแบบจารีตไม่อาจก่อสร้างอาคารที่รองรับพื้นที่ใช้สอยแบบสมัยใหม่ได้ รวมถึงไม่เข้าใจรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก (ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นได้

นายช่างชาวต่างชาติเหล่านี้ ได้นำเทคโนโลยีและระบบการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทย และนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับช่างอย่างช้าๆ

การเปลี่ยนผ่านนี้ยังได้นำมาซึ่งคำศัพท์ชุดใหม่ เช่น อากีเต็ก (architect) อินเยอเนีย (engineer) สะเก็ด (sketch) กอนแตรก (contract) เอศติเมต (estimate) แปลน (plan) และดิไซน์ (design) ฯลฯ เข้ามาพร้อมๆ กับบทบาทหน้าที่ในแบบสมัยใหม่ที่ไม่เคยมี ช่างแบบโบราณ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เริ่มถูกมองว่าล้าสมัยและมีสถานะทางสังคมที่ตกต่ำลง

ช่างกลุ่มใหม่ที่มีความรู้ทาง engineering สมัยใหม่ และมีชีวิตสัมพันธ์อยู่ภายใต้ระบบก่อสร้างแบบตะวันตก เริ่มไม่พอใจการเป็นช่างแบบโบราณ เกิดสำนึกใหม่ของความเป็นคนกลุ่มใหม่ที่ไม่อยากเป็นช่างแบบจารีตอีกต่อไป

สุดท้าย นำมาซึ่งการแยกตัวเองออกจากระบบช่างในอดีตอย่างสมบูรณ์ ผ่านการก่อตั้ง “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2471 และสมาคมวิศวกรรมในเวลาต่อมา (คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะพัฒนามาเป็นวิศวกรในปัจจุบัน)

 

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ช่างสมัยใหม่อีกกลุ่มหนึ่งก็เกิดสำนึกใหม่ที่ไม่อยากเป็นช่างแบบจารีตเช่นกัน แต่เป็นสำนึกอีกแบบที่มองตนเองว่าเป็น “architect”

ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งเรียนจบทางด้านนี้โดยตรงจาก Ecole des Beaux-Art ประเทศฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6 และกราบบังคมทูลถามถึงคำแปลศัพท์คำว่า “architecture” และ “architect” ว่าควรจะแปลว่าอะไรในภาษาไทย ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้ว่า “สถาปัตยกรรม” และ “สถาปก” (ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “สถาปนิก”)

คนกลุ่มนี้ ต่อมารวมตัวกันก่อตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 โดยมีสมาชิกตั้งต้น 7 คนคือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์, หลวงบุรกรรมโกวิท, นารถ โพธิประสาท, ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร, ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร, ม.จ.โวฒยากร วรวรรณ และศิววงษ์ กุญชร ณ อยุธยา

แม้สำนึกของคนสามกลุ่ม (ช่างแบบจารีต วิศวกร และสถาปนิก) เมื่อแรกเริ่ม หลายด้านยังซ้อนทับกันอยู่ ในแง่ของลักษณะเนื้องานทางวิชาชีพก็ยังคาบเกี่ยวกัน แต่ในเวลาต่อมา กลุ่มที่เรียกตนเองว่าวิศวกร และสถาปนิก ต่างเริ่มขีดเส้นแบ่งระหว่างกัน มีกิจกรรมเป็นของกลุ่มตนเอง และสร้างขอบเขตเฉพาะของวิชาชีพมากขึ้น

สำนึกแห่งความแตกต่างระหว่างกันก็เริ่มชัดเจนตามไปด้วย

 

สมาคมนายช่างฯ ที่ตั้งขึ้นก่อน เริ่มสร้างตัวตนของกลุ่มขึ้น โดยนิยามตนเองว่าคือ “นายช่าง” ที่ไม่ใช่ “ช่าง” แบบจารีต บทความของหลวงศิริสารศิลปกฤต เรื่อง “ช่างกับนายช่าง” ในวารสาร “ข่าวช่าง” พ.ศ.2472 สะท้อนประเด็นนี้ได้ดี

“…คำว่าช่าง ซึ่งหมายความถึงกรรมกรที่มีฝีมือเปนพิเศษที่เกี่ยวแก่การศิลปหัตถกรรมทั้งหลาย และทั้งเรานิยมเรียกวิทยาการต่างๆ ที่เปนไปในทางศิลปหัตถกรรมว่า ‘ช่าง’ …เช่นว่า ช่างแกะ, ช่างสลัก, ช่างปั้น, ช่างเขียน, ช่างทอง, ช่างเหล็ก, ช่างไม้, ช่างแก้นาฬิกา, ฯลฯ…คำว่านายช่าง คำนี้เปนคำที่หมายความตรงกับที่ภาษาอังกฤษว่า Engineer และพึ่งมาแพร่หลายในเมื่อเรานิยมเอาศิลปในทางช่างมาจากชาวตวันตก…แท้จริงคำว่านายช่างนั้นหมายความถึงผู้ที่มีความรู้สามารถสร้างและใช้เครื่องจักร์กลไกได้…แต่โดยเหตุที่คำว่า ช่าง กับ นายช่าง มีคำร่วมกันอยู่ตรงว่า ‘ช่าง’ จึงชวนจะเข้าใจผิดและนำไปใช้ไขว้เขวสับสันกันอยู่ในภาษาไทย…เมื่อได้ทราบความจริงเสียดังนี้แล้ว หวังว่าคงจะทำให้ความเข้าใจผิดต่างๆ ระหว่างคำว่า ช่าง และ นายช่าง หมดสิ้นลง…”

เมื่อแยกตัวออกมาจากการใช้ชื่อเรียกที่ต่างกันแล้ว การแสดงให้เห็นถึงความดีกว่าเหนือกว่าของวิชาชีพตนก็เกิดตามมา ดังที่หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ เขียนไว้ในวารสาร “ข่าวช่าง” พ.ศ.2479 ความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าท่านทบทวนคิดถึงลักษณะบุคลที่เป็นนายช่างก่อสร้างแต่สมัยโบราณตามประวัติการ ท่านจะระลึกได้ว่า เขาเป็นแต่เพียงช่างฝีมือที่ชำนาญการ…ตั้งแต่แรกเริ่มมา นายช่างก่อสร้างยังมิได้ใช้การคิดคำนวณแต่อย่างใด เป็นแต่ใช้สายตาพินิจพิเคราะห์รูปร่างให้เป็นที่ต้องตาและมั่นใจเท่านั้น กระทั่งเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้เอง จึงได้มีการสนใจในความแข็งแรงของวัตถุ…ดังนั้น วิชาก่อสร้างจึงกลับกลายจากการใช้สายตาความคิดความชำนาญอย่างเดียว มาเป็นการคำนวณค้นหาแบบอาคารที่ประหยัดด้วยวิธีการแน่นอนอันอาศัยหลักวิทยาศาสตร์…”

ข้อความข้างต้นกำลังจะบอกแก่เราว่า ช่างโบราณคำนึงแต่เรื่องสัดส่วนหรือหน้าตาเพียงอย่างเดียว แต่ช่างสมัยใหม่จะต้องเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย

ในขณะที่สถาปนิก ในสายตาของสมาคมนายช่างฯ ยุคแรก ก็มองเป็นเพียงสาขาย่อยของ “นายช่าง” สมัยใหม่เท่านั้น มิใช่วิชาชีพเฉพาะที่แยกตัวออกไปต่างหาก ดังข้อความของรองอำมาตย์เอก ซุ่นช้ง บุณยคุปต์ ที่ว่า

“…ในสมัยปรัตยุบัน ยังมีนายช่างชะนิดใหม่เกิดขึ้นเสมอ เช่น นายช่างวิทยุ นายช่างวางผังเมือง นายช่างสถาปนิก นายช่างผู้จัดการ เป็นต้น…”

แต่กลุ่มสถาปนิก กลับมิได้มองเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทัศนะของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ที่เป็นแกนหลักในการก่อตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” ในเวลาต่อมา คำกล่าวด้านล่างของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ เมื่อ พ.ศ.2476 สะท้อนนัยยะในประเด็นนี้ได้ดี

“…ธรรมดาวิศวกรแล้วเขาคงรังเกียจที่จะให้ใครมาเรียกเขาว่าสถาปนิก ตัวฉันเอง เขาจะให้เข้าสโมสรนายช่าง ฉันยังไม่กล้าเล่นด้วยเพราะฉันถือตัวว่าฉันเป็นสถาปนิก…”

ข้อเขียนหลายชิ้นของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ (ที่จะอธิบายต่อไปข้างหน้า) คือจุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่ง ที่นำมาสู่กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกในสังคมไทย