100 หารก็กลัว-500 มีจุดอ่อน-บัตรเดียวมีเสียว สภาวะสูตรเลือกตั้งชุลมุน ผู้มีอำนาจหนีเสือปะจระเข้/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

100 หารก็กลัว-500 มีจุดอ่อน-บัตรเดียวมีเสียว

สภาวะสูตรเลือกตั้งชุลมุน

ผู้มีอำนาจหนีเสือปะจระเข้

 

ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. จากสัญญาณและทิศทางล่าสุดของกลุ่มผู้มีอำนาจ

โดยเฉพาะจากกลุ่ม 3 ป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานในแบบ 3 ขา คือ งานด้านบริหาร งานด้านการเมือง และงานด้านนิติบัญญัติ

ยังดูไม่ชัดเจน ในการทำคลอดกติกาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการออกกฎหมายลูก อย่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ…. ให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งที่กำหนดให้ใช้บัตร 2 ใบ คือ ส.ส. 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

โดยเฉพาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ที่สัญญาณของผู้มีอำนาจที่ส่งผ่านมายังพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คุมเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา

ยังคงมีบรรยากาศของความไม่ชัดเจน ฝุ่นตลบ กลับไปกลับมา จากเดิมฝั่งผู้มีอำนาจจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500

ส่งผลให้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นด้วยกับคำสงวนคำแปรญัตติของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้ใช้สูตรหารด้วย 500

ในการพิจารณาในวาระที่ 2 โดยกลับมติจากวาระรับหลักการที่เห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 100

ทำให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมาแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการใช้สูตรหารด้วย 500 รอเพียงวาระเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ว่าจะยืนยันใช้สูตรหารด้วย 500 ในการลงมติวาระที่ 3 หรือไม่ โดยมีเดดไลน์กำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

หากที่ประชุมรัฐสภาพิจารณากฎหมายลูกไม่เสร็จภายใน 180 วัน จะด้วยเหตุผลกลใดในทางการเมือง จะส่งผลให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้สูตรหารด้วย 500 ต้องตกไป

กระบวนการต้องกลับไปรีเซ็ตใหม่ คือ กลับไปใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอเข้ามาซึ่งเป็นร่างหลักของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ที่กำหนดให้ใช้สูตรหารด้วย 100 ซึ่งจะเข้าทางและเกมการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ และหารด้วย 100 มากที่สุด

 

เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะให้ออกมาในรูปแบบไหนนั้น เนื่องจากทีมที่ปรึกษา และกุนซือของฝ่ายผู้มีอำนาจ นั่งคิด วิเคราะห์ แก้โจทย์ในทุกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อกันมาแล้ว ไม่ว่าสูตรหารด้วย 100 ก็เกรงว่าจะเข้าทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่จะมุ่งสู่ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ได้

เนื่องด้วยกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคเพื่อไทยนอกจากจะมีจุดแข็งของ ส.ส.เขต ที่มีเขตเพิ่มมาเป็น 400 เขตแล้ว หากใช้สูตรหารด้วย 100 จะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้ามามีส่วนแบ่งในสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีอยู่ทั้งหมด 100 คนด้วย

ส่วนการใช้สูตรหารด้วย 500 ก็เพื่อใช้สกัดยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย แต่จะไปเข้าทางการเมืองของพรรคก้าวไกล เนื่องจากพรรคก้าวไกลอาจจะไม่มี ส.ส.เขตที่เข้มแข็งมากนัก

แต่ด้วยกระแสพรรคที่ครองใจคนรุ่นใหม่ และกลุ่มวัยทำงาน อาจส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อมากพอสมควร

อีกทั้งการใช้สูตรหารด้วย 500 ที่มีการคำนวณ ส.ส.พึงมี เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยว่า แต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส.พึงมีเท่าใด แม้จะเป็นกติกาที่สกัดไม่ให้พรรคใหญ่มี ส.ส.มากเกินไป เช่น พรรคเพื่อไทย หากได้ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคควรจะได้รับแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งกติกาดังกล่าวจะกระทบกับพรรคที่อาจจะมี ส.ส.เขตเข้ามามากจนครบหรือเกินเกณฑ์จำนวน ส.ส.พึงมี อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ที่อาจจะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยเหมือนกัน แน่นอนจะกระทบกับ “บิ๊กเนม” และ “แกนนำพรรค”

ที่ส่วนใหญ่จะวางตำแหน่งของแต่ละคนไว้ในบัญชีของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากเป็นไปเช่นนั้น บรรดาบิ๊กเนมอาจจะชวดไม่ได้เข้าสภา เพราะไม่ได้รับจัดสรรเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตามกติกาที่กลุ่มผู้มีอำนาจดีไซน์ออกมากันเอง

 

จึงมีแนวคิดของฝ่ายผู้มีอำนาจบางคน เสนอให้ยูเทิร์นย้อนกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้บัตรใบเดียว เหมือนกับการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะเป็นสูตรที่พรรคพลังประชารัฐมีความได้เปรียบและยังเปิดโอกาสให้มี ส.ส.หน้าใหม่ ส.ส.พรรคเล็ก ที่ได้รับอานิสงส์จากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะพรรคเล็ก พรรคใหม่ที่ได้คะแนนพรรคเพียง 3-4 หมื่นเสียงก็จะได้รับการจัดสรรให้เป็น ส.ส. มาร่วมเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้

แต่แนวคิดการกลับไปใช้บัตรใบเดียวกลับถูกต่อต้านจาก ส.ส.เขตของพรรคพลังประชารัฐที่ประเมินกระแสและเสียงตอบรับของประชาชนในพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ได้มีเรตติ้งดีเหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 การกลับไปใช้บัตรใบเดียว เท่ากับเป็นการไม่มีทางเลือกให้กับประชาชนที่จะต้องเลือกด้วยบัตรใบเดียว คะแนนสงสารที่อาจจะได้จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงจะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนจะเลือกได้เพียงพรรคเดียวที่พวกเขารักและชื่นชอบ โอกาสที่ ส.ส.เขตของพรรคพลังประชารัฐในหลายพื้นที่อาจจะสอบตกจึงมีสูงมาก

เนื่องจากกระแสความนิยมของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ ไม่ดีเท่ากับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ที่มีตัวบุคคล นโยบาย กระแส และจุดยืนของพรรคถูกใจกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า

 

กลุ่มผู้มีอำนาจที่คิดค้นสูตรการเลือกตั้งอยู่ในขณะนี้ จึงอยู่ในสภาวะ “หนีเสือปะจระเข้” หรือ “โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” ไม่ว่าจะใช้สูตรการเลือกตั้งแบบไหนก็ล้วนได้รับผลกระทบกับตัวเองแทบทั้งสิ้น

อีกทั้งไม่ว่ารัฐสภาจะลงมติให้ใช้สูตรหารด้วย 100 หรือหารด้วย 500 อย่างไรก็ต้องมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ในแต่ละสูตรมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากขัด หรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญจะเดินต่ออย่างไร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญคงจะมีทางออกให้ได้เห็น