ออสซี่ ‘ช็อก’ ข้อมูลโลกร้อน / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Great Barrier Reef Marine Park Authority / AP

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ออสซี่ ‘ช็อก’ ข้อมูลโลกร้อน

 

รายงานสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันมานี้ สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติไปตามๆ กัน แม้กระทั่ง “ทันยา ไพลเบอร์แซ็ก” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำคนใหม่ยังยอมรับเห็นข้อมูลแล้วช็อกมากเพราะไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างนี้

รายงานชิ้นดังกล่าวจัดทำเสร็จมาตั้งแต่ปีที่แล้วในสมัยรัฐบาลนายสก็อต มอร์ริสัน บังเอิญว่า เป็นช่วงการเมืองเข้มข้นมีการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำออสเตรเลียคนใหม่ จึงอุบข้อมูลเอาไว้

เมื่อนายมอร์ริสัน หัวหน้าพรรคเสรีนิยมพ่ายแพ้นายแอนโธนี อัลบานีส ผู้นำพรรคแรงงาน มีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ นางไพลเบอร์แซ็กเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ ได้นำรายงานของกระทรวงออกเผยแพร่

ข้อมูลระบบนิเวศน์ของออสเตรเลียที่ปรากฏอยู่ในรายงานได้ชี้ให้เห็นว่า ในจำนวน 9 หัวข้อ มีถึง 5 ห้วข้อมีเรตติ้ง “ย่ำแย่และเสื่อมโทรม” ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ, ภัยธรรมชาติรุนแรงสุดขั้ว, พื้นผิวดิน, แหล่งน้ำ, ชายฝั่งทะเล

ส่วนอากาศแม้จะมีสภาพดี แต่ก็มีบางส่วนอยู่ในขั้นเสื่อมโทรม เช่นเดียวกับระบบนิเวศน์ทะเล บริเวณขั้วโลกใต้ที่จัดอยู่ในภาวะ “ดี” แต่บางพื้นที่เสื่อมโทรม

มีเพียง 1 ข้อคือ ชุมชนเมืองจัดให้อยู่ในขั้นดี

“เมื่อระบบนิเวศน์เสื่อมโทรมลงเช่นนี้ แนวโน้มในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่คุกคามมนุษย์ ก่อให้เกิดผลลบอย่างรุนแรงและนำไปสู่การล่มสลายของสังคม” รายงานระบุ

 

ในรายงานสิ่งแวดล้อมจำแนกข้อมูลออกมาเป็นประเด็น

ประเด็นว่าด้วยสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า ตั้งแต่ปี 2559 ในสมัยรัฐบาลนายมอร์ริสันยังบริหาร สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในออสเตรเลียได้รับการคุกคามมากถึง 202 ชนิด

รัฐบาลนายมอร์ริสันตั้งเป้าปรับปรุงฟื้นฟูสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างเร่งด่วน แต่ปรากฏว่ามีเพียง 21 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการฟื้นฟู

ช่วงเกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ระหว่างปี 2561-2563 มีสัตว์ป่าราว 1,000 ล้านตัว-3,000 ล้านตัว เสียชีวิตหรือหนีหัวซุกหัวซุนออกจากพื้นที่

เปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆ พบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทวีปออสเตรเลียมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด และออสเตรเลียเป็น 1 ในประเทศพัฒนาแล้วที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีอัตราลดลงมากที่สุด

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 100 ชนิดในออสเตรเลียสูญพันธุ์ไปแล้ว หรือกำลังจะสูญพันธุ์ สาเหตุมาจากการขยายเมืองทำลายสภาพธรรมชาติ

พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของทวีปออสเตรเลีย ได้พัฒนาให้เป็นชุมชนเมืองเป็นแหล่งเพาะปลูกเกษตรกรรมและปศุสัตว์

คาดว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติสูญเสียไปแล้วราว 40 ล้านไร่ตั้งแต่มีการขยายตัวของเมืองเมื่อปี 2533 เป็นต้นมา

เฉพาะช่วงปี 2557-2562 มีการแผ้วถางพื้นที่ป่าธรรมชาติราว 1.2 ล้านไร่ และป่าที่ปลูกใหม่ 1.4 ล้านไร่

พืชพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมายังทวีปออสเตรเลียมีจำนวนมากกว่าพืชพันธุ์พื้นเมือง ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียสูญเสียเงินงบประมาณหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันหรือกำจัดเชื้อโรคและแมลงร้ายที่มากับพืชพันธุ์เหล่านั้น

เมื่อปี 2562 ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำบริเวณที่ราบลุ่มเมอร์เรย์-ดาร์ลิ่ง ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเกิดภัยแล้งและน้ำถูกดึงไปใช้มากเกินไป

ที่ราบลุ่มเมอร์เรย์-ดาร์ลิ่งอยู่ในซีกตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ครอบคลุมรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียใต้ วิกตอเรีย 1 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่หนาแน่นราว 2.3 ล้านคน และเป็นแหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่

คุณภาพน้ำของแม่น้ำเมอร์เรย์และแม่น้ำดาร์ลิ่งเสื่อมโทรมลงจนอยู่ในภาวะแย่ ราว 150 ปี ประชากรปลาลดลงกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มยังลดลงต่อเนื่อง

สำนักงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟแห่งออสเตรเลีย เผยแพร่ภาพผลสำรวจล่าสุดของปีนี้ แสดงให้เห็นแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขื้น เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง

ระบบนิเวศน์ใต้ทะเลของออสเตรเลีย แม้จะจัดอยู่ในภาวะ “ดี” แต่ก็เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดบริเวณเกรตแบร์ริเออร์ (The Great Barrier Reef) เป็นแนวปะการังยาวที่สุดกว่า 2,300 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2559, 2560 และปี 2563

ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ยังพบว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวคุกคามปะการังของเกรตแบร์ริเออร์ซึ่งมีความสำคัญทางธรรมชาติและวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมานานถึง 40 ปีแล้ว

สาเหตุที่เกิดปะการังฟอกขาวเป็นเพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลร้อนขึ้น ความเป็นกรดสูงขึ้น ทำปฏิกิริยากับแหล่งปะการังตัวอ่อนโดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่เรียกว่า โพลิป (coral polyp) มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิของน้ำทะเลมาก

ปะการังเกิดความเครียดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เปลี่ยนไปจะขับไสสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในปะการังออกไป

สาหร่ายซึ่งช่วยสร้างสีสันและความมีชีวิตชีวาของปะการังไม่อยู่ ปะการังมีสภาพกลายเป็นสีขาว

ปะการังจะฟื้นคืนความสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลกลับมาเย็นเป็นปกติ แต่ต้องใช้เวลาฟื้นราว 10-15 ปีเป็นอย่างน้อย

นอกจากเกรตแบร์ริเออร์แล้ว แหล่งปะการังราว 150 ชนิดรอบๆ ทวีปออสเตรเลีย และหอยเม่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ เจออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

รายงานยังบอกอีกว่า ทางน้ำ ชายหาดและฝั่งทะเลที่อยู่ใกล้ชุมชนของออสเตรเลียมีภาวะเสื่อมโทรม จะมีที่อยู่ในขั้นดี ก็เฉพาะพื้นที่ห่างไกลนอกเขตชุมชน

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น กำลังคุกคามพื้นที่ชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน “คาคาดู”

อีกทั้งการใช้ที่ดินในออสเตรเลียเปลี่ยนไปมีผลต่อสภาพดิน เกิดภาวะดินเสื่อม ในอันดับต้นๆ ของโลก

เมืองใหญ่ๆ ในออสเตรเลีย โตเร็วมาก เร็วกว่าเมืองอื่นๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว การขยายตัวของเมืองเช่นนี้ มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เกิดกับดักความร้อน เนื่องจากตึกอาคารที่สร้างกันอย่างแออัด การจราจรติดขัด การปล่อยก๊าซพิษมีปริมาณมากการระบายอากาศในเมืองไม่หมุนเวียน อุณหภูมิในพื้นที่จึงสูงกว่าร้อนกว่าที่อื่นๆ

 

คณะทำงานที่เขึยนรายงานสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียชิ้นนี้ ประกอบด้วย ดร.เอียน เครสส์เวลล์ ดร.เทอร์รี่ แจนเก้ และศาสตราจารย์แอมมา จอห์นสตัน มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ย้ำว่า ธรรมชาติสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร น้ำ อากาศ ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกัน ทุกอย่างต่างพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างสมดุล

แต่ในช่วง 200 กว่าปี หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาวโลกขุดโกยทรัพยากรธรรมชาติ ปล่อยสารพิษลงในน้ำ ดินและอากาศจนสิ่งแวดล้อมกลายเป็นพิษ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวน ความหลากหลายทางชีวภาพที่เสื่อมทรามระบบนิเวศน์เลวร้าย ได้ย้อนกลับมาสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คนทั้งโลก

หนทางเดียวที่ช่วยให้ชาวโลกรอดพ้นภัยร้ายนั่นคือเร่งทำความเข้าใจธรรมชาติให้ลึกซึ้งมากขึ้นเพื่ออยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน และร่วมมือกันปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด •