ธงทอง จันทรางศุ | ลองโควิดของ ‘การศึกษา’

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงยามนี้เข้าแล้ว คนรอบตัวผมก็เป็นโรคโควิดกันไปเกือบจะครบถ้วนแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมซึ่งเป็นโรคที่ว่านี้แล้วเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และผ่านพ้นมาได้โดยสวัสดิภาพ ดูประหนึ่งว่าถ้าใครไม่เป็นโรคโควิดกับเขาบ้าง ก็น่าน้อยเนื้อเนื้อต่ำใจเต็มที

มีน้องที่คุ้นเคยกันคนหนึ่ง กลัวจะติดโรคนี้เป็นอย่างยิ่ง ระมัดระวังไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ใช้ชีวิตเคร่งครัดแบบนั้นมาสองปีเต็ม เมื่อสองสัปดาห์ก่อนเกิดติดโควิดเข้าไปเสียแล้ว พอแข็งแรงดีเป็นปกติ โทรศัพท์มาพูดกับผมแบบกะลิ้มกะเหลี่ยว่า เมื่อเป็นเสียแล้วและเป็นไม่มากก็รู้สึกเปลื้องทุกข์อย่างไรไม่รู้

เรื่องหนึ่งที่มีคนร้องเตือนหรือถามไถ่ด้วยความห่วงใยอยู่เสมอคือ อาการที่เรียกว่าลองโควิด (Long Covid) ซึ่งหมายถึงผลข้างเคียงระยะยาวที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยแล้ว ที่อาจมีขึ้นได้สำหรับผู้ป่วยโควิดบางราย อาการที่ว่านี้มีได้หลายอย่าง แต่ที่พบเห็นบ่อยคือการหายใจเหนื่อยหอบและร่างกายอ่อนเปลี้ยไปกว่าเดิมเป็นอันมาก

สำหรับท่านที่มีอาการลองโควิดก็ต้องทะนุถนอมร่างกายให้ดีนะครับ

ส่วนตัวผมเองหายป่วยจากโรคโควิดมาได้สองสามเดือนแล้ว ยังไม่พบว่ามีอาการอะไรผิดปกติ เห็นจะไม่ “ลองโควิด” กับใครล่ะครับ

นอกจากอาการลองโควิดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งหลายแล้ว วันนี้จะมาชวนทุกท่านคุยเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบในแง่มุมหนึ่งที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในรอบสองสามปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด มุมที่ว่านี้คือมุมเรื่องการศึกษาครับ

ตั้งแต่โรคนี้ระบาดหนักเมื่อปีพุทธศักราช 2563 การเรียนการสอนตามโรงเรียนทั้งหลายตลอดถึงมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว การเรียนการสอนแบบออนไลน์เข้ามาแทนที่การสอนในห้องเรียนแบบเดิม ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ ความพร้อมของเด็กแต่ละคนซึ่งไม่เท่าเทียมกัน ทักษะการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ ประสบการณ์ของทั้งครูและนักเรียน และปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการอีกสารพัด

ทั้งๆ รู้ว่า การเรียนหนังสือออนไลน์นี้อย่างไรเสียก็สู้การเรียนแบบเห็นหน้าเห็นตากันไม่ได้

แต่ยามนั้นเราไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น เพราะต้องเอาชีวิตรอดเอาไว้ก่อน

มาจนถึงทุกวันนี้สถานการณ์ค่อยคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว ความรุนแรงของโรคภัยไข้เจ็บก็อยู่ในระดับที่ควบคุมหรือรักษาได้ การเรียนการสอนจึงกลับมาเข้าแนวเดิม

โดยโรงเรียนต่างๆ ที่มักจะเปิดภาคเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้จัดการเรียนในชั้นเรียนแล้ว

ขณะที่มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งซึ่งจะเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคมคือเดือนนี้ ก็ทำอย่างเดียวกัน

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมแวะไปที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของผม

วันนั้นมีเด็กปีหนึ่งที่เพิ่งแรกเข้าเป็นนิสิตของคณะหลายคนมาที่คณะนิติศาสตร์เป็นครั้งแรก เพราะคณะมีกิจกรรมนิสิตพบอาจารย์ที่ปรึกษา

ทราบจากเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องว่า นิสิตใหม่เดินหลงทางอยู่เป็นเวลานานกว่าจะพบห้องทำงานของอาจารย์

ผู้เป็นอาจารย์ก็ถามนิสิตว่าทำไมถึงไม่ถามรุ่นพี่หรือขอให้รุ่นพี่พามา ไล่เรียงแล้วได้ความว่า รุ่นพี่ก็ไม่ได้มาคณะสองปีแล้วเหมือนกัน จึงช่วยกันหลงทางพร้อมกับรุ่นน้องเป็นที่สนุกสนานมาก ฮา!

ปรากฏการณ์นี้ผมได้นำไปเล่าให้ท่านผู้ใหญ่หลายท่านในห้องประชุมแห่งหนึ่งได้รับฟัง

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า สถานการณ์การเรียนรู้ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นปัญหามาก และจะส่งผลระยะยาว เปรียบเหมือนลองโควิดเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น นิสิตนักศึกษาในชั้นปีที่หนึ่งตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลานี้ ความรู้พื้นฐานในระดับชั้นมัธยมในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา ไม่มีทางที่จะเป็นระดับเดียวกันกับมาตรฐานที่เราคุ้นเคยมาแต่ก่อน เพราะเด็กเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านมาสองปี

จึงแน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะต้องปรับพื้นฐานนิสิตนักศึกษาปีหนึ่งให้สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างพอเหมาะพอสม

เราพูดกันถึงเรื่องเด็กนักเรียนชั้นประถม ซึ่งยังมิพักต้องพูดถึงความรู้ลึกซึ้งอะไรมาก เอาแต่เพียงแค่อ่านออกเขียนได้เป็นข้อสำคัญก็น่าวิตกมากอยู่แล้ว เพราะสองปีที่ผ่านมา เด็กชั้นประถมต้นที่ควรจะอ่านออกเขียนได้แบบคล่องแคล่วได้ขาดโอกาสในเรื่องนี้ไปอย่างฉกรรจ์

เป็นไปได้ว่าเด็กที่อยู่ชั้นประถมปีที่สามในปีนี้ยังอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก

ผู้ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการศึกษาของประเทศต้องตระหนักในความจริงข้อนี้และหาทางแก้ปัญหาต่อไป

นอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการแล้ว ลองโควิดด้านการศึกษาอย่างมีเรื่องน่าเป็นห่วงอีกมุมหนึ่งคือ สองปีที่ห่างหายไปจากชีวิตในโรงเรียน ทำให้เด็กไทยของเราขาดทักษะการอยู่ร่วมกับสังคม ลูกหลานของเราไม่มีเพื่อน ไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะสมาคมติดต่อกับคนอื่น เมื่อเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านก็อยู่แต่กับพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ต่างคนต่างก็ขวนขวายวุ่นวายกับการเอาชีวิตรอดในช่วงโควิด

มีรายงานเบื้องต้นซึ่งแม้ยังไม่เป็นทางการแต่ก็ควรฟังหูไว้หูว่า เด็กไทยที่เป็นโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจจะถึงร้อยละยี่สิบด้วยซ้ำไป

การศึกษาที่แท้จริงในสายตาของผมไม่ได้มีความหมายจำกัดอยู่เพียงแค่การเรียนรู้ในทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายความถึงการเรียนรู้ทักษะความเป็นมนุษย์ การอยู่ร่วมกับคนอื่น การปรับตัวเข้ากับสังคม ตลอดไปจนถึงการแลกเปลี่ยนความคิดและฝึกฝนการอยู่ร่วมกับความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์แต่ละคนโดยสันติวิธี

ถ้าระบบการศึกษามีคุณภาพและสามารถทำได้จริงตามนี้ คนอย่างผมก็ตายตาหลับ

แต่ถ้าเป็นตรงกันข้าม ตายแล้วจะลืมตาโพลงเลยล่ะ

สยองสุดๆ

ด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราต้องไม่ปฏิเสธความจริงว่าการศึกษาของเรากะพร่องกะแพร่งไปมาก จำนวนปีในชั้นเรียนอาจจะเหมือนเดิม แต่คุณภาพไม่เหมือนเดิมแน่

วันนี้เมื่อพอมีโอกาสที่จะกลับมาพบหน้าพร้อมกันในห้องเรียนตามโรงเรียนต่างๆ แล้ว ผมเห็นว่าเราต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังสักทีว่า เราจะทำอย่างไรกับลองโควิดด้านการศึกษาแบบนี้ จะทำตัวเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ใช้ความพยายามที่จะเติมส่วนที่บกพร่องให้เต็มตื้นขึ้นมาอย่างนั้นหรือ

คำถามแบบนี้ต้องการทั้งคำตอบเชิงนโยบายในระดับชาติ (ซึ่งก็หวังอะไรไม่ได้มาก) ตลอดไปจนถึงการแก้ปัญหาในระดับภาคสนามหรือระดับปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถานศึกษาต่างๆ และครูบาอาจารย์ทุกคน

วันนี้ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับคำถามเรื่องนี้ ทราบแต่เพียงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ขอฝากไว้ในสติปัญญาของทุกท่าน

รวมทั้งตัวเองซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษาด้วย

อูย! หยิกเล็บแล้วเจ็บเนื้อมันเป็นอย่างนี้นี่เอง