‘Black Dog : Being A Teacher’ เรื่องยากลำบากของคนเป็น ‘ครู’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘Black Dog : Being A Teacher’

เรื่องยากลำบากของคนเป็น ‘ครู’

 

“Black Dog : Being A Teacher” เป็นซีรีส์เกาหลีที่ออกฉายตั้งแต่เมื่อปี 2019 ซึ่งไม่ได้โด่งดังสักเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเปิดเข้าไปดูซีรีส์เรื่องนี้โดยบังเอิญผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ และรู้สึกสนุกสนานกับเรื่องราวของมันตามสมควร

ถ้าให้สรุปง่ายๆ สั้นๆ ก็คงบอกได้ว่า “Black Dog” ถ่ายทอดเรื่องราวของ “สังคมครู” ในโรงเรียนมัธยมเอกชนแห่งหนึ่ง โดยมีตัวละครนำเป็นหญิงสาววัย 20 ปลายๆ ชื่อ “โกฮานึล” ที่เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นครูในโรงเรียนปีแรก (หลังจากเคยประกอบอาชีพเป็นติวเตอร์มาบ้าง)

เนื้อเรื่องของซีรีส์ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยองค์ประกอบใหญ่ๆ จำนวนหนึ่ง

ข้อแรก ครูสาวตัวละครนำนั้นได้งานเป็น “ครูอัตราจ้าง” ไม่ใช่ “ครูประจำ” นั่นหมายความว่าอนาคตในทางวิชาชีพของเธอยังไม่มีความแน่นอน สวัสดิการที่ได้รับยังไม่มั่นคง และสถานภาพในโรงเรียนของครูประเภทนี้ก็เป็นเหมือน “บุคลากรชั้นสอง” ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ไม่น้อย

ข้อต่อมา สมัย “โกฮานึล” ยังเรียนหนังสือชั้นมัธยม รถทัวร์ที่เธอโดยสารไปทัศนศึกษาได้ประสบอุบัติเหตุ แล้วเธอก็โชคร้ายติดค้างอยู่ในรถที่ใกล้จะระเบิด ท้ายสุด มีครูอัตราจ้างชายคนหนึ่งตัดสินใจบุกเข้าไปช่วยนำร่างเธอออกมา แต่เขากลับต้องเสียชีวิตแทน โดยที่ครอบครัวไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ (เพราะเขาไม่ใช่ “ครูประจำ”)

“โกฮานึล” รู้สึกว่าตัวเองเป็น “หนี้ชีวิต” ของครูคนดังกล่าว เธอเฝ้าสงสัยมาตลอดว่าทำไม “ครูอัตราจ้าง” คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ครูประจำชั้นของเธอด้วยซ้ำ ถึงยอมเสียสละเพื่อนักเรียนได้ขนาดนั้น และนี่ก็กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้เธอเลือกมาประกอบอาชีพครู

ส่วนชื่อซีรีส์ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “หมาดำ” ก็สื่อความหมายถึงภาวะของการตกเป็นเบี้ยล่าง-ชายขอบ ที่ไม่ได้รับการเหลียวแล

เช่น การเป็น “ครูอัตราจ้าง” ท่ามกลาง “ครูประจำ” การไม่มีพรรคพวกท่ามกลางการเมืองแบบแบ่งขั้วในรั้วโรงเรียน หรือการที่โรงเรียนซึ่งตัวละครนำสังกัดอยู่ เป็นสถาบันการศึกษาระดับรองที่มีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้น้อย

ผมค่อนข้างอินกับ “Black Dog” ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก ผมมีความสนใจใน “ระบบราชการ” รวมถึงลำดับชั้นของมัน ที่แฝงตัวหรือเผยตัวอยู่ในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มีระบบราชการในหน่วยงานประเภทหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ นั่นคือ “ระบบราชการในโรงเรียน”

ในแง่หนึ่ง โรงเรียนประถม-มัธยมต่างๆ ก็คล้ายจะมีความเป็นภราดรภาพหรือความเสมอภาคค่อนข้างสูง เพราะบุคลากรเกินร้อยละ 95 ล้วนเป็นครูเหมือนๆ กันหมด และมีครูใหญ่-รองครูใหญ่ (ภาษาบ้านเรา คือ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ) เพียงส่วนน้อย ที่มีอำนาจบังคับบัญชาครูคนอื่นๆ “อย่างเป็นทางการ”

แม้แต่ครูรุ่นพี่คนหนึ่งในซีรีส์ก็เคยให้แง่คิดกับ “โกฮานึล” ว่า นอกจากครูใหญ่กับรองครูใหญ่แล้ว ครูในโรงเรียนนี้ ไม่ว่าจะอาวุโสหรือเพิ่งทำงาน ไม่ว่าจะเป็น “ครูประจำ” หรือ “ครูอัตราจ้าง” ก็ล้วนเป็น “ครู” เท่าๆ กันหมดนั่นแหละ

(ทว่า ในโรงเรียนแบบไทยๆ สมัยผมเป็นเด็ก ความเสมอภาคเช่นนี้ดูจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมขึ้นเล็กน้อย เมื่อจริงๆ แล้ว อาจมีผู้อำนวยการเพียงคนเดียวที่มีระดับซีสูงกว่าครูคนอื่นๆ ขณะที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการและครูส่วนใหญ่จะมีซีขั้นเดียวกัน โดยในบางโรงเรียน ก็จะมีครูบางรายที่ขยันทำผลงานวิชาการจนได้เป็นซี 8-9 เทียบเท่า ผอ. แต่ไม่มีอำนาจบริหารใดๆ)

แต่ในอีกแง่ โรงเรียนทุกแห่งกลับมี “ลำดับชั้นแบบไม่เป็นทางการ” ดำรงอยู่ ผ่านการแต่งตั้งหัวหน้าหมวด/แผนกต่างๆ ซึ่งได้รับคัดเลือกขึ้นมาจากครูธรรมดาคนใดคนหนึ่ง

ตั้งแต่เล็กจนโต ผมจึงไม่ค่อยแน่ใจมากนัก ว่าสภาวะ (เสมือน) ปราศจาก “ลำดับชั้นอย่างเป็นทางการ” และการมีอยู่ของ “ลำดับชั้นแบบไม่เป็นทางการ” ของระบบราชการภายในโรงเรียนนั้น มันทำงานสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง?

กลายเป็นว่าซีรีส์เกาหลีเรื่อง “Black Dog” สามารถให้คำอธิบายต่อความสงสัยของผมได้ค่อนข้างละเอียดลออเลยทีเดียว (แม้ระบบของโรงเรียนเกาหลีคงไม่เหมือนกับโรงเรียนไทยแบบเป๊ะๆ)

เหตุผลถัดมามีอยู่ว่า เวลา “ฝ่ายก้าวหน้า” ในสังคมไทย วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายขวา/อนุรักษนิยม/ชาตินิยม/ราชาชาตินิยม คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักถูกกล่าวโทษอยู่เป็นประจำ ว่าเป็นพวกล้างสมองเยาวชน (ผ่านหลักสูตรการศึกษา) หรือใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเด็ก (ผ่านการบังคับใช้กฎเกณฑ์ระเบียบวินัยต่างๆ) ก็คือ บรรดาครูในโรงเรียน

แน่นอนว่าครูประเภทนี้ย่อมมีอยู่จริง แต่เราก็พึงตั้งคำถามได้เหมือนกันว่า “ครูทุกคน” ล้วนยอมปฏิบัติตนเป็นกลไกเซื่องๆ เฉื่อยๆ หงอๆ ของระบบอำนาจบางอย่างเท่านั้นจริงๆ หรือ?

“Black Dog” พยายามฉายภาพที่สลับซับซ้อนให้ผู้ชมตระหนักว่า ครูเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เป็นทั้งคนที่ต้องประนีประนอม-ยอมรับอำนาจเบื้องบน และลุกขึ้นสู้กับนโยบายที่ผิดพลาด เป็นทั้งตัวแทนเสียงของผู้ใหญ่ แล้วบางคราวก็หันไปเป็นตัวแทนของเด็ก เป็นทั้งผู้สนับสนุนคนได้เปรียบส่วนน้อย ก่อนจะหันไปปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนมากที่ถูกละเลย

(ครูบางคนตอนเป็นครูใหญ่ก็มีมุมมองอย่างหนึ่ง แต่พอถอดหัวโขนแล้ว ก็ได้เห็นความจริงอีกด้านในโรงเรียน)

และอำนาจในโรงเรียนนั้นมิได้ถูกกำกับควบคุมจากทิศทาง “บนลงล่าง” อย่างสัมบูรณ์เสียทีเดียว แม้โรงเรียนเอกชนในซีรีส์จะมีครูใหญ่-รองครูใหญ่ และผู้อำนวยการ (ตัวแทนของมูลนิธิที่บริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งอยู่เหนือครูใหญ่อีกที)

แต่โรงเรียนแห่งนี้ก็ยังมีผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครูจำนวนมาก นักเรียนหลายร้อยคน และผู้ปกครอง ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสถาบันการศึกษาเช่นกัน

“โกฮานึล” และเพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมแผนก “แนะแนว” อีกสามคน (บวกด้วยครูสตรีอาวุโสที่เป็นหัวหน้าแผนกให้คำปรึกษาอีกหนึ่งราย) คือ ตัวละครหลักในซีรีส์ที่เป็นภาพแทนของ “ครูที่ดี” แต่ครูที่เหลือในโรงเรียนก็ไม่ใช่ “ตัวร้าย” อย่างสิ้นเชิง

ทว่า พวกเขาคือครูที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเล่นการเมืองเดี๋ยวปรารถนาดีต่อเด็ก เดี๋ยวขยันเดี๋ยวหมดไฟ เดี๋ยวแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เดี๋ยวร่วมไม้ร่วมมือกัน ตามประสามนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา

(มีครูไม่กี่รายเท่านั้นที่ยืนกรานอยู่ในกรอบจำกัดแบบตายตัว-ดื้อรั้น เช่น ครูผู้ชายอาวุโสแห่งแผนกภาษาเกาหลี ซึ่งไม่ยอมรับพลวัตทางภาษาอันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย)

คนธรรมดาเหล่านี้ยังต้องแบกรับภาระในการทำงาน (กรอก) เอกสาร และ/หรืองานนอกห้องเรียนอันน่าปวดหัวอีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งคนสอนหนังสือในบ้านเรา ทั้งระดับประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา ที่ถูกบังคับให้ต้องทำงานลักษณะคล้ายๆ กัน ก็คงจะอินกับ “Black Dog” อยู่ไม่น้อย

ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นซีรีส์เกาหลีอีกเรื่องที่มุ่งสำรวจตรวจสอบวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งอย่างเข้มข้น จริงจัง เจาะลึก ไม่วอกแวก กระทั่งยอมละทิ้ง “บทรัก” ระหว่างคู่พระคู่นางไปอย่างน่าทึ่งและกล้าหาญ

กระนั้นก็ดี ซีรีส์เรื่องนี้ยังมีจุดอ่อนใหญ่ๆ อยู่บ้าง ตามความเห็นของผม การที่คนเขียนบทผูกรัดความปรารถนาจะเป็น “ครูที่ดี” ของ “โกฮานึล” เข้ากับบาดแผลในอดีต ได้ส่งผลให้ภาพการต่อสู้ดิ้นรนของ “ครู” ในเรื่อง นั้นอ้างอิงอยู่กับประสบการณ์เฉพาะของปัจเจกบุคคลรายหนึ่ง มากกว่าจะวางน้ำหนักอยู่บนเจตจำนงร่วมของครูหลายคน

นอกจากนั้น ในช่วงอีพีท้ายๆ ซีรีส์ยังเล่นท่ายาก ด้วยการเล่าเรื่องราวหรือลำดับเหตุการณ์ให้วกวนไปมาเกินความจำเป็น

แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การอธิบายประเด็นทางสังคมหนักๆ ผ่านสื่อบันเทิงของ “Black Dog : Being A Teacher” ก็ถือเป็นความพยายามที่น่าชื่นชม

และดูเหมือนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยยังไม่มีความทะเยอทะยานมากพอ ที่จะผลิตหนัง-ละครแนวนี้ (ด้วยคุณภาพระดับนี้) ออกมาสู่ตลาด •