ที่สุด / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

ที่สุด

 

วันก่อน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปพูดที่งาน “นายอินทร์สนามอ่านเล่น”

“ชัชชาติ” เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก

ตอนที่เขาไปบรรยายให้หลักสูตร ABC จะเล่าเรื่องหนังสือที่อ่านทุกครั้ง

บรรยายทุกรุ่น หนังสือจะไม่ซ้ำเลย

เขาเคยโชว์หนังสือที่อ่านในช่วงปีนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ How To

เยอะมากครับ…

“ชัชชาติ” เล่าว่านิสัยรักการอ่านนั้นติดตัวมาตั้งแต่สมัยวัยเด็ก

เขาเริ่มต้นจากหนังสือการ์ตูน นิยายพลนิกรกิมหงวน ต่วย’ตูน

เป็นหนังสือเพื่อความบันเทิงทั้งสิ้น

จากนั้นขยับมาที่นิตยสารสตรีสาร และสกุลไทย เพราะคุณแม่ชอบอ่าน

เมื่อคุ้นเคยกับการอ่านก็จะอ่านหนังสือได้หลากหลายขึ้น

นิสัย “รักการอ่าน” จะติดตัว

“อย่ากังวลว่าเราจะอ่านอะไร ขอให้อ่านในสิ่งที่เราชอบก่อน จากนั้นจะขยายไปสู่การอ่านหนังสือเรื่องอื่น”

จริงครับ เห็นด้วยเลย

ถ้าเราจะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ต้องให้เด็กอ่านหนังสือที่เขาอยากอ่านก่อน

พออ่านหนังสือแล้วสนุก มีความสุขกับการอ่าน

เมื่อทำอะไรที่สนุก และมีความสุข

เขาจะรักสิ่งนั้น

ดังนั้น พ่อแม่ต้องอย่าเริ่มต้นด้วยการบังคับให้เด็กอ่านหนังสือวิชาการที่ยากและไม่สนุก หรือหนังสือที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระมากเกินไป

ไม่มีใครชอบ “ยาขม” หรอกครับ

ต้องเริ่มต้นด้วยหนังสือที่เด็กอยากอ่าน

เมื่อเด็กรักการอ่านแล้ว เขาจะก้าวขึ้นบันไดไปสู่การอ่านหนังสือยากๆ เอง

อย่างตัวผมเองก็เริ่มต้นคล้ายอาจารย์ชัชชาติ เพราะที่บ้าน คุณพ่อเป็นนักอ่าน

พ่อรับหนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับ นิตยสารทุกแนว ตั้งแต่ “บางกอก-ทานตะวัน” ที่เป็นนิตยสารผู้ชาย มีแต่นิยายบู๊

ชกกัน ยิงกัน จนกระดาษทะลุ

บางทีกระดาษก็เปียก

เพราะบู๊จนเลือดโชก

“สกุลไทย” พ่อผมก็รับครับ

หรือแม้แต่นิตยสารตระกูล “ฟ้า” ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้งแต่ฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี

ผมอ่านมาแล้วทั้งหมด

รวมถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

ผมก็อ่านตั้งแต่เล่มแรกที่หน้าปกยังเป็นกระดาษปรู๊ฟ

พอนิสัย “รักการอ่าน” ติดตัว เราก็ตะลุยเข้าสู่โลกแห่งตัวอักษรเรื่อยมา

ทั้งนวนิยายไทย นิยายกำลังภายใน เรื่องแปล

จนมาถึงหนังสือแนวธุรกิจหรือหนังสือ How To ในวันนี้

ทุกอย่างมี “จุดเริ่มต้น”

แต่ต้องเริ่มต้นให้ถูกต้อง

 

ถ้ามีคนถามว่า “ห้องสมุด” ที่ไหนสวยที่สุด

ผมเชื่อว่าแต่ละคนจะตอบแตกต่างกัน

บางคนอาจพูดถึงห้องสมุดเนลสัน ที่สถาปัตยกรรมสวยมาก

บางคนอาจบอกว่าห้องสมุดทีเค พาร์ค ที่เซ็นทรัลเวิลด์

และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ถ้าถาม “ชัชชาติ” ว่า “ห้องสมุด” ไหนที่สวยที่สุด

เขาบอกว่าห้องสมุดที่สวยที่สุดในชีวิต คือห้องสมุดชุมชนในชุมชน 70 ไร่ เขตคลองเตย

“ชัชชาติ” เคยไปที่นี่เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน

ห้องสมุดแห่งนี้มีอาสาสมัครชาวฝรั่งเศสและชาวเวียดนาม สอนหนังสือให้เด็กๆ

ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย

ห้องสมุดนี้ไม่ใช่ห้องสมุดใหญ่โต ตกแต่งสวยงาม มีหนังสือเป็นหมื่นๆ เล่ม

แต่ที่ “ชัชชาติ” บอกว่าห้องสมุดแห่งนี้สวยที่สุด

เพราะมีเด็กคนหนึ่งมาใช้ห้องสมุดแห่งนี้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์

วันนี้เด็กคนนั้นเรียนจบปริญญาเอก ทำงานที่ดี และหาเงินซื้อบ้านให้พ่อแม่ได้

น้องคนนี้บอกว่าเขาประสบความสำเร็จได้เพราะ “ห้องสมุด” เล็กๆ แห่งนี้

“ชัชชาติ” สรุปสั้นๆ ว่าห้องสมุดสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เพราะมันไม่ใช่การอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

“แต่มันยังสามารถให้ความรู้ สร้างวิธีคิด สร้างพัฒนาการ สร้างแรงบันดาลใจสร้างความหวัง สร้างความฝัน และสร้างพลังให้กับเราได้”

มุมมองความสวยของ “ชัชชาติ” ไม่ใช่อยู่ที่สถาปัตยกรรม หรือจำนวนหนังสือ

แต่ความงดงามของ “ห้องสมุด” อยู่ที่การสร้าง “โอกาส” ให้กับเด็กที่ไร้โอกาส

“ห้องสมุด” ที่สร้าง “คน”

เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุด

 

วันก่อน มีวิวาทะในโซเชียลมีเดีย เรื่อง “ราชภัฏ” กับ “จุฬาฯ”

เริ่มจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ทวีตข้อความว่า “อยากให้มีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน เอาเด็กจุฬาฯ ไปเรียนราชภัฏเทอมหนึ่ง ใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยนั้นๆ สอบ ตัดเกรดกันที่มหาวิทยาลัยที่ตัวเองไปแลกเปลี่ยน พวกคุณจะได้รู้ว่าเด็กราชภัฏไม่ได้โง่ เด็กราชภัฏก็มีคุณภาพ ไม่เชื่อลองทำดูสิ”

จากนั้นก็มีคนเข้ามาตอบ

“เรื่องแลกเปลี่ยนจะไม่ต้องเกิดขึ้นเลยจ้าถ้าหล่อนสอบติดจุฬาฯ แต่แรก” “พอยต์คือ ถ้าคุณเก่งจริงคุณก็ทำได้ ไม่ใช่มาร้องปาวๆ ว่าเก่ง แค่ทำไม่ได้เหมือนพูด นี่ไม่เคยเห็น CU เหยียด RU เลยนะ มีแต่เห็น RU แหละ ที่ชอบวางบทบาทให้คนนั้นคนนี้มาดูถูกตัวเอง และอีกอย่าง ถ้าเก่งจริง จะกลัวอะไร”

เท่านั้นล่ะครับ โซเชียลมีเดียก็ลุกเป็นไฟ

ไม่ใช่ “เด็กจุฬาฯ” จะเห็นด้วยกับความเห็นนี้นะครับ

เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม” สูงมาก

ตอนที่อ่านเรื่องนี้ ผมนึกถึง “คมสันต์ ลี” เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Flash Express

“ยูนิคอร์น” บริษัทแรกของไทย

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดสำหรับเขา คือ “ราชภัฏลำปาง” มหาวิทยาลัยที่เขาเรียนจบมา

แล้วเขาก็ไล่เรียงถึงค่าเทอมหลักพัน ค่าหอพักที่ถูกมาก ค่าอาหาร ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายในการเรียนของ “ราชภัฏลำปาง” ต่ำมาก

ก่อนที่จะตบท้ายสั้นๆ

“สำหรับผม มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด คือมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสคนมากที่สุด ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้”

เพราะถ้าวันนั้นการเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางต้องใช้เงินสูงมาก

ประตูแห่ง “โอกาส” ก็คงไม่เปิดให้ “คมสันต์” ได้เรียนที่นี่

และไม่มี Flash Express ในวันนี้ •