ทปอ.ปรับระบบทีแคส 2566 นำร่องสอบผ่าน ‘คอมพ์’ ครั้งแรก!! / การศึกษา

การศึกษา

 

ทปอ.ปรับระบบทีแคส 2566

นำร่องสอบผ่าน ‘คอมพ์’ ครั้งแรก!!

 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ประชุมแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาแย้มๆ หลายครั้งว่าจะเริ่ม “ปรับ” ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ครั้งใหญ่

ทำให้นักเรียนต่างพากันจับตามองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างมาก

สาเหตุของการปรับระบบนั้น เพราะ ทปอ.ต้องการปรับรายวิชาสอบไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ที่สำคัญ “เนื้อหา” การสอบวัดความรู้วิชาการ จะต้องไม่เกินหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด เพื่อดึงให้เด็กอยู่ห้องเรียน ไม่ต้องไปกวดวิชา และเรียนพิเศษเหมือนที่ผ่านมา

ล่าสุด ทปอ.ออกมาประกาศความชัดเจนแล้ว โดยระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ จะไม่มีการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญอีกแล้ว!!

โดยจะแบ่งการสอบออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 วัดความถนัดทั่วไป ที่ไม่เน้นความรู้เชิงวิชาการ คือความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ TGAT) ซึ่งก็คือการสอบวิชา GAT ที่จากเดิมจะสอบวัดความรู้ 2 ส่วน จะเพิ่มเป็นวัดความรู้ 3 ส่วน คือ การสื่อสารภาษาอังกฤษ, การคิดอย่างมีเหตุผล และสมรรถนะการทำงาน ให้เวลาสอบ 3 ชั่วโมง และจะแจกข้อสอบทั้ง 3 ส่วน ดังนั้น ผู้เข้าสอบต้องบริหารเวลาในการจัดทำข้อสอบเอง

และการวัดความถนัดวิชาชีพ (Professional Aptitude Test หรือ TPAT) ประกอบด้วย การสอบในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ โดยการสอบ TGAT และ TPAT มีวิชาสอบ 6 วิชา เลือกสอบได้สูงสุด 6 วิชา

กลุ่มที่ 2 วัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level หรือ A-Level) ไม่สอบเนื้อหาความรู้เชิงวิชาการที่เกินหลักสูตร จะเป็นการวัดความรู้เชิงประยุกต์ หรือการสอบวิชาสามัญ เดิมสอบ 9 วิชา โดยเพิ่มจำนวนวิชาสอบเป็น 15 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ

ซึ่งการสอบในปีการศึกษา 2566 จะไม่มีการสอบภาษาอาหรับแล้ว เนื่องจากมีจำนวนผู้เข้าสอบน้อยมาก

ผู้สอบสามารถเลือกสอบได้สูงสุด 10 วิชา โดยการสอบ A-Level จะเน้นการนำความรู้เชิงวิชาการที่เรียนในหลักสูตรไปประยุกต์ใช้งาน!!

 

ความน่าสนใจในการปรับระบบครั้งนี้ คือในการทดสอบ TGAT และ TPAT จะมีทั้งการสอบด้วย “กระดาษ” และ “คอมพิวเตอร์” เป็นครั้งแรกด้วย!!

ผู้สอบสามารถเลือกการสอบได้ตามความสมัครใจ ว่าจะสอบด้วยกระดาษ ที่จะใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ หรือจะสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะใช้มหาวิทยาลัยของ ทปอ.เป็นสนามสอบ

โดยการสอบทั้ง 2 รูปแบบ จะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน จัดสอบตามวันและเวลาเดียวกัน ส่วนการสอบ A-Level เป็นการสอบด้วยกระดาษเท่านั้น

สำหรับการสอบวิชา TGAT และ TPAT จะเปิดรับสมัครในวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2565 โดยให้ผู้สอบเลือกได้ว่า ต้องการสอบด้วยกระดาษ หรือคอมพิวเตอร์ และรับสมัครสอบเพิ่มเติมกรณีสนามสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีที่ว่าง วันที่ 11-20 พฤศจิกายน 2565, พิมพ์บัตรที่นั่งสอบ วันที่ 24 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2565, สอบ TGAT และ TPAT วันที่ 10-12 ธันวาคม 2565

และการสอบ A-Level จะจัดสอบด้วยกระดาษเท่านั้น รับสมัครวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2566, พิมพ์บัตรที่นั่งสอบ วันที่ 24 กุมภาพันธ์-20 มีนาคม 2566, สอบ A-Level วันที่ 18-20 มีนาคม 2566 และประกาศผลสอบ วันที่ 17 เมษายน 2566

ส่วนการคัดเลือกทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 ยังคงไว้ 4 รอบเช่นเดิม คือ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ

ผู้สมัครต้องลงทะเบียนใช้งานระบบทีแคส ปีการศึกษา 2566 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

สำหรับรอบที่ 1 และรอบที่ 2 มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดวันรับสมัคร

รอบที่ 3 เปิดรับสมัคร วันที่ 1-10 พฤษภาคม 2566

และรอบที่ 4 รับสมัคร วันที่ 24 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2566

 

หลัง ทปอ.ประกาศปรับรูปแบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 ได้ไม่นาน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะสอบคัดเลือกผ่านระบบทีแคส ปีการศึกษา 2566 มองว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะเป็นเรื่องดี หรือสร้างภาระให้กับเด็กๆ เพราะระบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอด จนสร้างความสับสนให้กับนักเรียน และผู้ปกครอง

อีกทั้งการนำร่องสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จะมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างไร??

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบทีแคส ได้อธิบาย “ข้อดี” ของการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ว่า การสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีข้อดีคือ สามารถประมวลผลได้เร็ว หลังการสอบวิชาสุดท้าย 3 วัน สามารถประกาศผลสอบได้ทันที เพราะลดระยะเวลาการจัดส่งข้อสอบ และการจัดเก็บกระดาษคำตอบออกไปทั้งหมด

แต่มีคำถามตามมาว่า เมื่อ ทปอ.จัดสอบทั้งกระดาษ และคอมพิวเตอร์พร้อมกัน จะมีมาตรการ “ป้องกัน” การ “ทุจริต” อย่างไร เพราะอย่าลืมว่า ในปีที่ผ่านมา ทปอ.พบการทุจริตการจัดสอบ GAT และ PAT โดยพบว่าข้อสอบทั้ง 2 วิชาถูกถ่ายภาพไปเผยแพร่ในแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ซึ่งเป็นแอพพ์สำหรับเฉลยข้อสอบ ในช่วงวันเวลาเดียวกับการสอบ และขณะนี้ ทปอ.ยังหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้!!

ประเด็นนี้ รศ.ดร.ชาลีให้ความมั่นใจว่า ทปอ.มีวิธีป้องกันการทุจริตอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแฮ็กข้อสอบไว้อย่างแน่นหนา มีรหัสล็อกทั้งหมด 3 ชั้น ดังนั้น การทุจริตจะไม่มีแน่นอน!!

 

ฝากฝั่งมหาวิทยาลัยก็ออกมาให้ความเห็นในการปรับระบบของ ทปอ.เช่นกัน เริ่มจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับข้อสอบ และวิธีการจัดสอบ เชื่อว่าจะคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย

ส่วนการสอบด้วยคอมพิวเตอร์นั้น มองว่า ทปอ.จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันในเรื่องของการแฮ็กข้อมูล หรือข้อสอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย

ขณะที่ ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ทราบเพียงแต่ว่า ทปอ.จะปรับระบบทีแคส ดังนั้น ขอศึกษารายละเอียดให้รอบด้านก่อน แต่เบื้องต้น ยังมีข้อสงสัยว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะช่วยลด หรือจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เรียนกันแน่

“หากปรับระบบโดยมีจุดประสงค์ เพื่อต้องการวัดความถนัดของผู้เรียน โดยจะลดเนื้อหาวิชาการ เพราะต้องการให้เด็กอยู่ในห้องเรียน ก็ต้องปรับข้อสอบให้สามารถวัดสมรรถนะเด็กได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ รวมถึงจะต้องช่วยให้เด็กสามารถเลือกเข้าเรียนคณะ/สาขา ที่ต้องการได้มากขึ้นด้วย” ดร.ลินดาระบุ

ต้องติดตามว่า การปรับรูปแบบการสอบของระบบทีแคส ในปีการศึกษา 2566 จะช่วยให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกนิตสิตนักศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่!! •