‘กทม.’ อนาคตเมืองใต้น้ำ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘กทม.’ อนาคตเมืองใต้น้ำ

 

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ในเว็บไซต์ว่า เดือนสิงหาคมปีนี้ ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นอีกร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ มีฝนฟ้าคะนองเป็นส่วนใหญ่ จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงเป็นระยะๆ และต่อเนื่องมากขึ้น

คำพยากรณ์ของกรมอุตุฯ ยังมีข้อควรระวังว่า เดือนสิงหาคมมักมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ยังมีข่าวจากกรมชลประทานว่า ขณะนี้ฝนตกหนักทางภาคเหนือทำให้เกิดมวลน้ำไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทย ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ภาคกลางผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประมวลภาพรวมๆ แล้ว แนวโน้มปริมาณน้ำฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจะมีมากขึ้น ยิ่งหากพายุก่อตัวถี่ๆ หลายลูกๆ เคลื่อนตัวผ่านเข้ามาประเทศไทย ความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ มีความเป็นไปได้สูง

 

หลายๆ คนแสดงความเป็นห่วงการบริหารจัดการน้ำ ถ้าเกิดความผิดพลาดอีกอาจเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเหมือนปี 2554

อีกทั้งยังกังวลสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร มีฝนตกหนักเพียงแค่คืนเดียว หลายพื้นที่กลายเป็นทะเล ในรุ่งเช้าอีกวันการจราจรกลายเป็นอัมพาต ธุรกิจการค้าสะดุดกึก

บรรดาแฟนคลับคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พากันเห็นอกเห็นใจคุณชัชชาติเข้ามารับตำแหน่งเพียง 1 เดือนแต่กลับมาลุยน้ำแก้ปัญหาอย่างสาหัสสากรรจ์ ได้นอนงีบแค่ 2 ชั่วโมง

นี่คือสถานการณ์ “กทม.” ในวันที่ฝนตกถล่มและยังไม่มีมวลน้ำเหนือหลากทะลักลงมา

ถ้าเดือนสิงหาคม-กันยายน พายุซัดเข้าไทย ฝนตกหนักติดต่อกัน น้ำทะเลหนุน มวลน้ำเหนือล้นเขื่อน คุณชัชชาติคงต้องใช้พลังมหาศาลในการสู้รบกับศึกน้ำ

 

ที่น่าจับตาอีกประเด็น ก็คือในอนาคต “กทม.” จะกลายเป็นเมืองใต้บาดาล เหมือนอย่างที่องค์กรระดับโลกทำนายเอาไว้หรือไม่

ในปีที่แล้ว คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือไอพีซีซี ใช้ผลวิเคราะห์เรื่องของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มระดับความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศโลก อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและพื้นโลก มาคำนวณแล้วทำนายว่าภายในปี 2643 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน 1.1 เมตร และกลางศตวรรษนี้ผู้คนทั่วโลกราว 1 พันล้านคนที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลจะได้รับผลกระทบ

10 เมืองใหญ่ๆ ริมชายฝั่งทะเลจะเจอวิกฤตน้ำทะเลทะลัก คลื่นยักษ์ซัดและน้ำท่วมใหญ่

กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ในเมืองที่อยู่ใต้บาดาล ชาว กทม.ราวๆ 5 ล้านคนจากจำนวนประชากร 10.7 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง

สาเหตุเป็นเพราะภาวะโลกร้อน พายุกระหน่ำ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ระบบระบายน้ำห่วยแตก

“เอิร์ธ” (earth.org) องค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่แสวงหาผลกำไรมีสำนักงานอยู่ในฮ่องกง ทำโมเดลวิเคราะห์เช่นกัน พบว่าความเสี่ยงของ กทม.จากเหตุระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นและสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเจอพายุกระหน่ำถี่บ่อย จะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้จมอยู่ใต้บาดาลราวๆ ปี 2593 ชาว กทม.กว่า 11 ล้านคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น

ส่วนธนาคารโลกร่วมมือกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี สังเคราะห์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นโยบายของรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติ นำไปจัดทำรายงานเรื่องความเสี่ยงของประเทศไทยในด้านภูมิอากาศ พบว่า ตลอดศตวรรษที่ 20 ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2394-2560 อุณหภูมิใน กทม.ร้อนขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส นครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส และลำปาง 1.2 องศาเซลเซียส

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงยังไม่พอ ปริมาณฝนตกในฤดูฝนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้เมืองต่างๆ เจอวิกฤตน้ำท่วมรุนแรงหนักหน่วงกว่าอดีต

ประเทศไทยเจอความเสี่ยงทางภัยพิบัติธรรมชาติ ในอันดับ 81 จาก 191 ประเทศทั่วโลก แต่ภัยพิบัติที่น่าห่วงที่สุด คือน้ำท่วม มีความเสี่ยงเป็นอันดับ 9 ของโลก

ด้านสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ศึกษาเรื่องผังเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของ กทม. สรุปได้ว่า การเติบโตของกรุงเทพมหานครที่เป็นไปอย่างไร้ระเบียบแบบแผน ประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงทำให้กรุงเทพฯ เจอกับความปั่นป่วนอลหม่านในปลายศตวรรษที่ 21 ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง

 

คําทำนายขององค์กรระดับโลกเหล่านี้ ล้วนบอกภาพอนาคต “กทม.” ในอีกหลายสิบปี

สำหรับผมเชื่อว่า ถ้าหากเร่งแก้ไขโอกาสที่จะป้องกันหรือบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤต มีความเป็นไปได้ แต่ต้องลงมือทำจริงและอาศัยความร่วมมือของคน กทม. และมีผู้นำอย่างเช่น “คุณชัชชาติ” จึงจะนำพา “กทม.” พ้นวิบัติภัยนี้ได้

ที่เชื่ออย่างนี้ เพราะตลอด 1 เดือนได้เห็นคุณชัชชาติทำงาน ทำงาน ทำงาน ทุกวันเว้นวันหยุดราชการที่คุณแม่ “ชัชชาติ” ได้ขอร้องไว้อย่าไปรบกวนข้าราชการ เป็นการทำงานด้วยความมุ่งมั่นจริงใจและซื่อสัตย์โปร่งใส

ในอดีตราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา กทม.ใช้งบประมาณป้องกันน้ำท่วมมโหฬาร เป็นแสนล้านบาท

เงินส่วนใหญ่เอาไปทำอุโมงค์ยักษ์ แต่พบว่า อุโมงค์ยักษ์เป็นเหมือนอุโมงค์ “ทิพย์” ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เลย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กทม.ไม่ได้แก้ต้นเหตุของน้ำท่วม ซึ่งก็คือระบบท่อระบายน้ำที่ไม่สามารถระบายน้ำจากถนน บ้านเรือนลงสู่อุโมงค์ยักษ์ได้

ขณะเดียวกับระบบระบายน้ำในคูคลองของ กทม.ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถดึงน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ แก้มลิงหรือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง

หรือการวางแผนทำอุโมงค์ ไม่ได้สอดคล้องกับหลักวิศวกรรม จึงไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ?

เงินเป็นแสนล้านบาท ถ้าหากใช้อย่างตรงไปตรงมา ระบบระบายน้ำใน กทม.จะต้องดีกว่าที่เห็นกันในวันนี้

เพราะฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าคุณชัชชาติที่ได้รับเลือกด้วยมติมหาชนกว่า 1.3 ล้านเสียง และมีความมุ่งมั่นทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่จะสามารถบริหารจัดการระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร จนพ้นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ลบล้างคำทำนายขององค์กรโลกได้เป็นแน่ •