ดาวพระศุกร์กลายเป็นผีเสื้อ ว่าด้วยเรื่องเล่าและการเปรียบเปรยผีเสื้อฝูงยักษ์/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

ดาวพระศุกร์กลายเป็นผีเสื้อ

ว่าด้วยเรื่องเล่าและการเปรียบเปรยผีเสื้อฝูงยักษ์

 

หากวางเทียบเคียงกวีนิพนธ์ ‘ดาวพระศุกร์’ ของภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ กับเรื่องสั้น ‘กลายเป็นผีเสื้อ’ ของนฤพนธ์ สุดสวาท ที่ผ่านเข้ารอบการประกวดมติชนอวอร์ดรอบสัปดาห์นี้

วรรณกรรมทั้งสองประเภทมีลักษณะการเปรียบเทียบในเชิงอุปลักษณ์ (Methaphor) ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งในรูปแบบเทียบเคียงเข้ากับละครและเรื่องราวที่ดูลึกลับเหนือจริง

แต่ทั้งสองเหตุการณ์ก็ดูสมจริงและสั่นสะเทือนในความรู้สึกเมื่ออ่านจบลง

ผู้เขียนบทความอาจไม่ลงลึกในรายละเอียด แต่จะนำเอากวีนิพนธ์ ‘ดาวพระศุกร์’ กับเรื่องสั้น ‘กลายเป็นผีเสื้อ’ มาทำการเปรียบเทียบให้เห็น ‘โลกความจริงกับโลกในละคร’ คู่ขนานไปกับ ‘นักล่ากับผู้ถูกล่า’ โดยจะนำทั้งสองเหตุการณ์มานำเสนอคู่เคียงร้อยเรียงกันในบทความชิ้นนี้

ดังจะขอเริ่มจากบทกวี ‘ดาวพระศุกร์’ ของภู่มณี ซึ่งนำเสนอในรูปของกวีไร้ฉันทลักษณ์

 

เนื้อหลักใจความว่าด้วยเรื่องสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ลูกสาวทำงานในฟู้ดคอร์ตทอดขนมกุยช่าย วันนั้นช่วงบ่ายไฟดับ ‘แม่ลูกเลยได้คุยไลน์กัน’ แม่เล่าว่า ‘เมื่อปี 37 ไฟก็ดับทั้งหมู่บ้าน’ ไปนอนค้างบ้านญาติป้าแต้วอีกหมู่บ้านหนึ่ง ดูละครดาวพระศุกร์เสนอเป็นตอนอวสาน แม่ตั้งชื่อเธอว่า ‘ดาวพระศุกร์’ หวังว่าลูกสาวจะเป็นดาวพระศุกร์ของคุณภาคย์เหมือนในละคร แต่ในชีวิตจริงลูกเป็นมือทอดขนมกุยช่ายเบอร์หนึ่งของร้านอยู่หน้าห้องน้ำ

“มีคุณภาคย์ที่ไหนมาจีบแกบ้างหรือยัง”

“จะภาคไหนก็ไม่มีหรอกแม่ แทบไม่ได้เจอใครเลย”

บทกวีชิ้นนี้สะท้อนความน้ำเน่าของชีวิตคนหาเช้ากินค่ำในช่วงโควิดระบาดที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้ทำงานต่อไปอีกนานแค่ไหน มีแต่พนักงาน ไม่มีลูกค้าเดิน แต่ในเมื่อยังไม่ถูกเลิกจ้าง ก็ยังคงต้องมาทำหน้าที่หาเลี้ยงตัวและครอบครัวต่อไป

ภาพดาวพระศุกร์ในโลกความจริงที่ ‘หน้าไม่สวยเท่ากบ สุวนันท์’ กำลังยืนทอดกุยช่ายอยู่หน้าห้องน้ำ จึงต่างกันลิบลับจากภาพในละครเมื่อปี 37 ที่แม่ดู ตอนนั้นโทรทัศน์ยังเป็นจุดศูนย์กลางให้ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อดูละครเรื่องโปรดในช่วงเวลาเดียวกัน (Prime time) ช่วงเวลาที่การสื่อสารระหว่างคนด้วยกันได้พูดคุยใกล้ชิดกันมากกว่าในปัจจุบันแม่ลูกต้องอยู่ห่างกันและสนทนากันผ่านข้อความทางไลน์

แต่ถึงแม้เธอจะไม่ได้เป็นดาวพระศุกร์ของคุณภาคย์ที่ไหนมาขอแต่งงานและให้สัญญาว่า ‘ต่อจากนี้ จะไม่มีอะไรทำให้เราพรากจากกัน’ เหมือนอย่างในละคร

แต่ชื่อดาวพระศุกร์ที่แม่ตั้งให้ก็ยังคงเป็นดาวที่อยู่บนที่สูง เธอยังคงกตัญญูรู้คุณต่อแม่ผู้ให้กำเนิด (“แม่อย่าออกบ้านบ่อยล่ะ เงินหมดเมื่อไรก็บอก จะโอนไปให้”) ต่อให้ตัวเธอจะทำงานอยู่ในระดับล่างตรงจุดที่คนเดินผ่านเข้าออกอยู่หน้าห้องน้ำก็ตาม

ดังจะเห็นว่า บทกวีชิ้นนี้นอกจากสะท้อนความน้ำเน่าของชีวิต ดาวพระศุกร์ของคุณภาคย์ที่มีแต่ในละครโทรทัศน์แล้ว จุดสัมผัสเชื่อมร้อยถึงใจคงอยู่ตรงนี้ ในวันที่โควิดระบาด สายใยความผูกพันแม่ลูกยังถักทอถึงกัน แม้จะเป็นข้อความทางไลน์เพียงไม่กี่ประโยค ในเหตุการณ์ไฟดับที่นำเราย้อนโยงสู่อดีต ผู้เขียนได้ส่งสารบางอย่างที่เราอาจหลงลืม

หนึ่งในนั้นก็คือ การสื่อสารระหว่างคนกับคนด้วยกันที่กำลังขาดหายไปจากสังคม และสองในระดับชนชั้นแรงงานที่มิได้ Work From Home แต่ยังต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนทำงานวันต่อวัน ท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงเอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อใดนั้นเรียกได้ว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าในละคร

ดาวพระศุกร์อาจกลายเป็นผีเสื้อ

 

‘นฤพนธ์ สุดสวาท’ ชื่อนี้ผ่านเกิดในช่อการะเกด 56 (ฉบับเฉพาะกิจ) “รัฐประหารในสังคมไทย” จากเรื่องสั้น ‘ไปเก็บปลาดาว’ สมัยที่ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ กลับมาเป็นบรรณาธิการอีกครั้ง แต่ทว่า ในบทความชิ้นนี้มิใช่ ‘ปกหลังนักเขียน’ เราเพียงจะมากล่าวถึงเรื่องสั้น ‘กลายเป็นผีเสื้อ’ ที่เข้ารอบการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

ว่าด้วยตัวละครที่มิใช่คนแต่เป็นจำพวกแมลงและสัตว์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงในเรื่องสั้นกลายเป็นผีเสื้อนั้น แน่นอนว่ามีทั้ง ‘ผีเสื้อ’ ‘นกกลางคืน’ และก็มี ‘แมว’ ซึ่งภาพแทนในเชิงอุปลักษณ์เหล่านี้ ถูกนักเขียนปรุงปรนประกอบสร้างและมิใช่เพียงแค่ในระดับเดียว แต่นัยระดับที่ลึกไปกว่านั้น นักอ่านก็ถูกท้าทายให้ตีความในบริบทและขอบข่ายที่เหมาะสมด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องสั้นเรื่องนี้เริ่มต้นด้วย ‘มีคนตามหาเธอ เขาบอกว่าเป็นนักจับแมลง’

เนื้อเรื่องโดยสังเขป เริ่มจากมีคนมาตามหาผีเสื้อพันธุ์หายาก และมีอีกคนหนึ่งมาตามหานกกลางคืนแล้วอีกคนหนึ่งมาตามล่าหาแมว ซึ่งสรุปสุดท้ายแล้วก็เป็นคนคนเดียวกันคือ เป็นทหารมาตามล่าตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองที่หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ และ ‘ผม’ ตัวละครผู้เล่าเรื่องเป็นคนเจอเธอเมื่อสามเดือนก่อนหน้านี้ เธอผู้วันหนึ่งกลายร่างเป็นผีเสื้อราตรี บินออกไปทางหน้าต่างแล้วไม่หวนกลับมา

ผู้เขียนใช้การเล่าย้อนความ (flashback) แต่เป็นการย้อนกลับไปกลับมาอย่างมีชั้นเชิง เราจะเริ่มทำความรู้จักตัวตนของเธอจากคนแรกที่มาตามหาผีเสื้อ คนที่สองมาตามหานกกลางคืน คนที่สามมาตามล่าหาแมว ตัวละครผมเปรียบเสมือนผู้ให้ปากคำ ‘บอกเท่าที่รู้’ ท่ามกลางความสับสนในสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ชัดในฐานะของ ‘คนนอก’ พื้นที่ที่อยู่ติดป่าเขา มิใช่คนที่หนีมาจากในเมืองหลวง

ซึ่งเราจะพบว่าผู้เขียนมักเล่าเหตุการณ์จากปัจจุบันแล้วถอยกลับไป ‘หลังจากนั้น’ อยู่เสมอๆ

ตั้งแต่ ‘หลังราตรีโพสต์ลง’ ‘หลังจากนั้นนักจับแมลงก็ตามมาถึงบ้าน’ ‘ผมเล่าแค่ตอนราตรีหายตัวรวมถึงหลังจากนั้นอีกนิดหน่อย’ ‘เราพบกันครั้งแรกหลังป่าช้า’ ‘บ้านผมอยู่ด้านหลังอำเภอ’ (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียนบทความ)

“เธอบอกว่าหลังจากโบยบินออกไป จะไปเกาะตามต้นไม้แถวหลังป่าช้า ก็สถานที่ที่เธอเดินออกมาในคืนนั้น นี่เธอเล่าวันก่อนจะจากไปนะ นกกลางคืนจะกลืนเธอลงสู่ท้องก่อนพาไปนอนปลอดภัยที่ชายคาบ้านใครสักคน บอกจะมีแมวมากลืนนกลงท้องต่ออีกทียิ่งเหลวไหล…”

 

การทบซ้อนความคลุมเครือนี้ แทบไม่ต่างไปจากตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซียที่เรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน จากใหญ่ไปหาเล็กจะซ้อนกันกี่ตัวก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ซุกซ่อนความนัยเชิงสัญลักษณ์เอาไว้สามชั้นด้วยกัน ว่าด้วยเรื่องผีเสื้อถูกนกกลางคืนกลืนลงท้องแล้วต่อมาแมวก็กลืนนกกลางคืนต่ออีกทอด กล่าวคือ อีกนัยหนึ่งการตามล่าหาตัวเธอที่มีกลุ่มคนคอยช่วยเป็นหูเป็นตาปกปิดอำพราง จึงซับซ้อนซ่อนเงื่อนยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทร

รวมไปถึงการค่อยๆ ตะล่อม ‘บอกไม่หมด’ โดยให้ผู้อ่านล่องไหลพัวพันไปกับเรื่องราวลึกลับเหนือจริงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ซึ่งนี่ถือเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งของผู้เขียนโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลายร่างเป็นผีเสื้อแล้วหายตัวไปในวันพระ การเล่าเรื่องสัตว์ตัวที่ใหญ่กว่ากลืนกินเพื่อการหลบซ่อนตัว คนตามล่าผีเสื้อ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก นักล่ารางวัลตามหาแมว เรื่องราวลึกลับในป่าเขา ผู้อ่านจึงคล้ายนักสืบใช้แว่นขยายอ่าน ‘ความระหว่างบรรทัด’ ตามติดร่องรอยผ่านแต่ละเรื่องเล่าไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะหาตัวเธอผู้กลายเป็นผีเสื้อได้จากที่ใด

‘ผีเสื้อที่ไหนก็เหมือนกัน มีปีกเพื่อขยับบินไปกอดหยดน้ำ ไปกอดกลีบดอกไม้ กอดสายลมใต้ปีก หรือกอดอะไรผมไม่รู้เลย รู้เพียงว่าเธอบินจากไป’

ก่อนที่ในช่วงท้าย ผู้เขียนจะมาขมวดภาพที่กระจัดกระจายให้รวมเป็นกลุ่มก้อนความฝัน ‘ฝันถึงเธอ’ และกลายเป็นไคลแมกซ์ที่น่าจดจำของเรื่อง ไม่ต่างไปจากการชมภาพยนตร์ที่กำลังคลี่คลายเผยตอนจบ

ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกถูกนำมาใช้ได้ผลก็ในตอนนี้

ผีเสื้อตัวเดียวอาจจะทำอะไรไม่ได้มากหรือไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่ผีเสื้ออีกหลายล้านตัวหากขยับปีกพร้อมกันอาจสะเทือนไหวถึงดวงดาว! เช่นเดียวกับกลุ่มก้อนความคิดเห็นต่างทางการเมืองที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในท้ายที่สุดคนนอกเมืองอย่างผมก็กรีฑาทัพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเมืองกลายเป็นผีเสื้ออีกตัวหนึ่งท่ามกลางผีเสื้อนับหมื่นนับแสนล้านตัวที่อยู่ร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน

“หากกระสุนหนึ่งนัดล้มหนึ่งคน พวกเขาควรคิดล่วงหน้าว่าต้องใช้จำนวนมากมายแค่ไหน”

วลีที่ว่า ‘อย่าให้ผีเสื้อขยับปีกพร้อมกัน’ อาจใช้ได้ผลในวันหนึ่ง และเมื่อวันนั้นมาถึง ดาวพระศุกร์อาจกลายเป็นผีเสื้อ ชนชั้นระดับล่าง กลาง กลุ่มปัญญาชน นักเรียนนักศึกษาจะรวมตัวครั้งใหญ่สมัครสมานสามัคคีพร้อมใจกลายเป็นผีเสื้อฝูงยักษ์ขยับปีกพร้อมกัน

และในวันนั้นผู้ถูกล่าจะกลับตาลปัตรกลายมาเป็นผู้ล่าอย่างมืดฟ้ามัวดิน!

 

นี่อาจเป็นอีกครั้งถัดจากเรื่องสั้นการเมือง ‘ไปเก็บปลาดาว’ ที่การใช้อุปลักษณ์เปรียบเปรยของนฤพนธ์สื่อสารได้อย่างตรงจุดและหวังผลสะเทือนอารมณ์ได้ดีไม่แพ้กัน (ไปเก็บปลาดาวอาจหวือหวากว่าด้วยลีลาและสำบัดสำนวน ส่วนกลายเป็นผีเสื้ออาจสงบเสงี่ยมเจียมตัวกว่า แต่ก็โรแมนติกกว่าอย่างเห็นได้ชัด)

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ตาชั่งไม่โอนเอียงไปทางหนึ่งทางใดว่า

‘กลายเป็นผีเสื้อ’ ของนฤพนธ์ สุดสวาท เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตาในเวทีประกวดมติชนอวอร์ดครั้งนี้!