‘ปัง-ปัง’ : การลอบสังหารจอมพล ป. จากปฏิปักษ์ทางการเมือง | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

‘ปัง-ปัง’ : การลอบสังหารจอมพล ป. จากปฏิปักษ์ทางการเมือง (2)

 

หากพิจารณานายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกลอบสังหารมากครั้งที่สุด คงหนีไม่พ้นไปจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีช่วงต้นระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ได้รับสมญาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก”

เพราะเขารอดตายจากเหตุการณ์ลอบสังหารถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีจนถึงนายกรัฐมนตรี ในช่วง 2476-2481 คือ มีการลอบยิง 5 ครั้ง และวางยาพิษ 1 ครั้ง

ภายหลังจากที่คณะราษฎรสามารถกลุ่มอำนาจเก่าที่ต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ด้วยการล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ลง (2476) ลงแล้วนั้น มิได้ทำให้กลุ่มอำนาจเก่ายอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด

แต่พวกเขากลับเลือกใช้กำลังทางการทหารในการก่อกบฏบวรเดช (2476) ขึ้น แต่ในที่สุด รัฐบาลและประชาชนก็มีชัยเหนือกบฏครั้งนั้นได้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม รักษาการบาดเจ็บจากการลอบสังหาร (2477) ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
“ศัตรู” คนสำคัญ

ภายหลังปราบกบฏบวรเดชของกลุ่มอนุรักษนิยมทำให้สถานการณ์การเมืองสงบนิ่งลงแล้วส่งผลให้จอมพล ป.กลายเป็นดาวทางการเมืองที่เจิดจรัสขึ้นในฐานะผู้นำกลุ่มทหารหนุ่มในคณะราษฎร เขาเปรียบเสมือนทายาททางการเมืองต่อจากพระยาพหลฯ เขาจึงเป็นที่จับจ้องจากปฏิปักษ์หลายกลุ่ม

ในช่วงเวลานั้น เกิดความพยายามลอบสังหารเขาหลายครั้งด้วยเช่นกัน แต่ครั้งสำคัญๆ ที่นำมาเล่าต่อจากความพยายามลอบยิงครั้งแรกช่วงกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) คือ การลอบยิงที่สนามหลวง (กุมภาพันธ์ 2477) การลอบยิงที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ (พฤศจิกายน 2481) และการลอบวางยาพิษที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ (ธันวาคม 2481)

การลอบสังหารเหล่านี้เป็นเหตุที่รัฐบาลปราบปรามกลุ่มปฏิปักษ์อย่างรุนแรง (กรมโฆษณาการ, 2482, 5-8; เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557, 197)

การลอบสังหาร
เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2477
ที่สนามหลวง

เรื่องการลอบสังหารจอมพล ป.ปรากฏเรื่องราวในหนังสือจอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 1 (2540) โดย พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของเขา มีเนื้อหาสังเขปดังนี้

เมื่อครั้งที่กรุงเทพฯ มีสนามสาธารณะเพียง 2 แห่งเท่านั้น คนไทยทุกเพศทุกวัยใช้สวนลุมพินี และท้องสนามหลวงเป็นที่พักผ่อน แต่สวนลุมพินีอยู่ห่างไกลมากสำหรับคนกรุงเทพฯ ในครั้งนั้น คนส่วนมากจึงชอบมาพักผ่อนกันที่ท้องสนามหลวงมากกว่าเพราะตั้งอยู่ใจกลางพระนคร…

ที่ท้องสนามหลวงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2477 มีรายการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทหารเหล่าต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีการสร้างสนามฟุตบอลชั่วคราวขึ้น… การแข่งขันฟุตบอลทหารแข่งกันมาหลายเดือนจนถึงคู่ชิงชนะเลิศในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยของจอมพล ป.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น ไว้เป็นเกียรติยศ

นายทหารปืนใหญ่ที่ปราบปรามกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างเข็มแข็ง และดาวรุ่งทางการเมือง

ในวันนั้น จอมพล ป.พร้อมด้วยบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปชมการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้น และเขาจะเป็นผู้มอบถ้วยเกียรติยศให้แก่ทีมชนะเลิศด้วย วันนั้น ประชาชนได้มาชมการแข่งขันฟุตบอลทหารคู่สุดท้ายอย่างล้นหลาม… เมื่อการแข่งขันได้ยุติลงแล้ว จอมพล ป.ได้คล้องพวงมาลัยให้แก่ผู้เล่นทุกคน แล้วมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะเลิศ ให้โอวาทแสดงความพอใจและยินดีที่การแข่งขันฟุตบอลทหารได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนจบสมความมุ่งหมายของทางราชการทหาร

เสร็จพิธีแล้ว จอมพล ป.กล่าวอำลาผู้รับเชิญและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมชมการแข่งขันโดยทั่วถึง จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามด้วย พ.ต.หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เลขานุการ และ ร.อ.ทวน วิชัยขัทคะ นายทหารคนสนิท ก็เดินมุ่งไปยังรถยนต์ที่จอดคอยรับอยู่ใกล้กระโจมพิธี

เมื่อเขาขึ้นนั่งบนรถยนต์เรียบร้อยแล้ว เขาก้มลงหยิบกระบี่ที่วางขวางอยู่ข้างตัวเพื่อส่งให้หลวงสุนาวินวิวัฒน์ ผู้ซึ่งกำลังยืนส่งอยู่ข้างรถ ทันใดนั้นเอง เสียงปืนดัง “ปัง-ปัง” ดังระเบิดขึ้น 2 นัด

หลวงสุนาวินวิวัฒน์เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่งกำลังถือปืนพกจ้องปากกระบอกปืนตรงไปที่ร่างของจอมพล ป. ปากกระบอกปืนยังปรากฏมีควันกรุ่นอยู่

ด้วยความรวดเร็ว หลวงสุนาวินวิวัฒน์กระโดดปัดมือชายผู้นั้นจนปืนตกกระเด็นจากมือพร้อมกับกระสุนได้หลุดออกไปจากลำกล้องเป็นนัดที่ 3 ทหารหลายคนกรูกันเข้ารวบตัวชายผู้นั้นไว้ได้ ร.อ.ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคองร่างของรัฐมนตรีไว้ด้วยความตกใจสุดขีด

เลือดสีแดงเข้มไหลรินออกจากรูกระสุนปืนตรงต้นคอของจอมพล ป. ทำให้เสื้อสีกากีที่เขาสวมเกิดรอยเปื้อนเป็นทางด้วยเลือดที่ยังไหลจากลำคอไม่หยุด จากการสอบสวนขั้นต้นปรากฏว่า ผู้ยิงชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง…

พลันเมื่อจอมพล ป.ถูกส่งมายังโรงพยาบาลพญาไทหรือพระมงกุฎเกล้าฯ ทีมแพทย์นำโดย พ.ท.พระศัลยเวทวิศิษฐ์ และพยาบาลเข้ารักษาทันที “ใบหน้าของเขาซีดเพราะเสียเลือดไปมาก แต่ก็ยิ้มเมื่อเขาลืมตาขึ้นมองเห็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบกกำลังปฏิบัติหน้าที่…”

ผลการตรวจบาดแผลพบว่า เขาถูกกระสุนปืน 2 แห่งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ กระสุนนัดหนึ่งเข้าทางแก้มซ้ายด้านหน้าทะลุออกด้านหลังของต้นคอ กระสุนนัดที่ 2 เข้าทางด้านหน้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง กระสุนนัดแรกนั้น วิถีกระสุนได้แล่นหลีกเลี่ยงส่วนสำคัญไปได้เหมือนปาฏิหาริย์ มิฉนั้นแล้ว เขาอาจจะไม่สามารถรอดผ่านชีวิต ผ่านเวลาค่ำของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ไปได้เลย

เขานอนรักษาแผลอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน ภายใต้การรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดของท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารบกและคณะ พร้อมใส่ใจดูแลตลอดวันตลอดคืนของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พอแผลถูกยิงหายจวนสนิทพ้นขีดอันตรายแล้ว ท่านก็ได้รับอนุญาตจากนายแพทย์ใหญ่ให้กลับไปพักผ่อนได้ที่บ้านพักของท่านในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อได้ (อนันต์ พิบูลสงคราม, 2540, 73-77)

แม้นนายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนที่ลั่นไกสังหารจอมพล ป.ที่สนามหลวงครั้งนั้นจะถูกพิพาษาลงโทษจำคุก 16 ปี แต่นายพุ่มไม่ยอมซัดทอดใครเป็นผู้เกี่ยวข้องจ้างวานบงการเขา และไม่มีคำตอบใดจากกรมตำรวจที่มี พล.ต.อ.อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ดูเหมือนว่าความพยายามไขปริศนาของผู้เกี่ยวข้องเบื้องหลังการลอบสังหาร ยังไม่กระจ่าง จนกระทั่งมีการลอบสังหารอีกครั้งในอีก 4 ปีถัดมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2481

ความโดดเด่นของจอมพล ป. ภายหลังปรามปรามกลุ่มอนุรักษนิยมและเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็วของเขาย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มปฏิปักษ์หลายกลุ่มที่อาจเข้ามาร่วมมือกันในการกำจัดศัตรูร่วมกันในครั้งนั้น