เทศมองไทย : เมื่อ “โรฮิงญา” ถึงเวลา “ล่องเรือ”

การก่อการด้วยการโจมตีเป้าหมายที่เป็นฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ในรัฐยะไข่ของกองกำลังติดอาวุธมุสลิมโรฮิงญา เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว ครั้งหลังสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นการก่อเหตุที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่ายังก้ำกึ่งอยู่ระหว่างการ “ก่อการร้าย” กับ “การลุกฮือขึ้นต่อต้าน” วิธีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาของทางการพม่า

พม่ากดโรฮิงญาลงจนแทบไม่เหลือสภาพของ “ประชาชน”

แตกต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดยังมีสถานะเป็นประชาชน แม้จะไม่เชิดหน้าชูตาเหมือนชนชาติพม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ตามที

โรฮิงญาในรัฐยะไข่ไม่มีสิทธิเป็นพลเมือง ไม่มีสิทธิขึ้นทะเบียนขอบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีสิทธิทางการศึกษา สิทธิทางศาสนาและการเมืองใดๆ

หลังเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม ทางการพม่าตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพเข้าไปกวาดล้างครั้งใหญ่ ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เห็นกันในข่าวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีทั้งการเผาหมู่บ้านกว่า 200 หมู่บ้านทิ้ง มีทั้งปฏิบัติการ “กระทำชำเราหมู่” เรื่อยไปจนถึงการเข่นฆ่าสังหารแบบไม่เลือกเด็กเลือกผู้ใหญ่

ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การอพยพของชาวโรฮิงญาเกือบครึ่งล้าน หนีภัยไปตายดาบหน้า หอบลูกจูงหลานข้ามแม่น้ำหนีไปตั้งหลักอยู่ในค่ายอพยพชั่วคราวที่ค็อกซ์บาซาร์ ริมชายแดนบังกลาเทศ

ส่วนหนึ่งหนีเพราะตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างโดยตรง แต่ส่วนใหญ่หลบหนีออกมาเพราะเชื่อกระแสข่าวที่ว่า ทางการพม่ามีแผน “ล้างโรฮิงญา” ให้หมดไปจากประเทศ นั้นน่าจะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อวัดจากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา

เพื่อนพ้องต่างชาติหลายคนบอกกับผมในตอนนั้นว่า ไม่ช้าไม่นาน ปัญหาโรฮิงญาคงกระทบมาถึงไทย

 

ผมเห็นพ้องกับทัศนะของเพื่อนร่วมสัมมาชีพเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ค่ายค็อกซ์บาซาร์เล็กและแร้นแค้นเกินกว่าที่จะรองรับผู้คนจำนวนมากขนาดนั้นได้ และไม่เชื่อว่าทางการพม่าจะยินดีรับคนเหล่านี้กลับไปยังถิ่นฐานเดิมของตน แม้ว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาปัญหาโรฮิงญา ที่นำโดย โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ จะเสนอแนะแนวทางดังกล่าวให้พม่าไว้ก็ตามที

หมดหน้ามรสุมในอันดามันเมื่อไหร่ เทศกาล “ล่องเรือเพื่อชีวิต” ของชาวโรฮิงญา คงเริ่มต้นขึ้นเมื่อนั้น

และไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยยังเป็น “เส้นทางผ่าน” ยอดนิยมสำหรับชาวโรฮิงญาที่ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเองเหล่านี้อยู่ต่อไป

กลายเป็นความท้าทายซ้ำซากเดิมๆ แต่ใหญ่หลวงไม่น้อยสำหรับทางการไทยว่า จะทำอย่างไรกับ “คนเรือ” ที่น่าเห็นใจเหล่านี้ ถ้าเกิดมีระลอกใหม่ขึ้นมาจริงๆ ในอีกไม่ช้าไม่นานข้างหน้า

เมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา มีองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างน้อย 2 ราย เริ่มแสดงท่าทีกดดันไทยในเรื่องนี้ออกมาแล้ว

เอมี สมิธ แห่ง ฟอร์ติฟาย ไรต์ส ร้องขอให้ไทยยกเลิกนโยบายผลักดันกลับเรือผู้อพยพ

ส่วน ออเดรย์ กอห์แรน ผู้อำนวยการว่าด้วย “ประเด็นโลก” ขององค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) เขียนบทความขนาดยาวถึงเรื่องเดียวกันนี้ จุดใหญ่ใจความอยู่ตรงที่การเรียกร้องให้ไทย “แสดงออกด้วยการปฏิบัติ” ในการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาในอดีตที่ผ่านมาได้

ข้อสังเกตของเอไอ ก็คือ สัญญาณที่ส่งออกมาจากทางการไทยยังสับสน ไม่ชัดเจน เพราะในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่า ทางการไทย “เตรียมการรองรับ” อยู่แล้ว แต่ทหารในกองทัพยังคงยืนยันว่า กองทัพเรือพร้อมที่จะ “ผลักดันกลับ” คนเรือโรฮิงญาที่ล่วงล้ำน่านน้ำเข้ามา ออกไป

ที่อยู่ตรงกลางคือกฎหมายของไทย ที่ยังคงไม่มีบทบัญญัติให้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” ต่อผู้อพยพ แต่ถือว่าเป็น “ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” โดยที่ไม่มี “มาตรการที่เป็นทางการ” ในอันที่จะคุ้มครองผู้ที่หลบหนีการลงทัณฑ์อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศ

ทั้งๆ ที่ไทยมีประวัติยาวนานในการรองรับผู้อพยพจากเพื่อนบ้าน แม้ในขณะนี้ก็ยังมีอยู่อีกกลุ่มใหญ่ในบริเวณชายแดนติดต่อกับพม่า

 

ฤดูกาลแห่งการล่องเรือเพื่อชีวิตใกล้เข้ามาทุกที บรรดา “อีแร้ง” ค้ามนุษย์ทั้งหลายเริ่มขยับเนื้อขยับตัว จับจ้องตาเป็นมันกันอีกครั้งแล้ว

ข้อกังขาอย่างเดียวของผมในเวลานี้ก็คือ ทำไมต้องกดดันต่อไทยประเทศเดียว ทำไมไม่กดดันมาเลเซีย ไม่กดดันอินโดนีเซียในเรื่องนี้กันบ้าง

อินโดนีเซียรู้ มาเลเซียก็รู้ เอ็นจีโอทั้งไทยและเทศก็รู้อยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเรือล่องออกสู่ท้องทะเล นั่นคือเวลาที่คนกลุ่มใหญ่เหล่านั้นได้ตกเป็นเหยื่อให้บรรดาพญาแร้งทั้งหลายแล้ว

หรือทั้งหมดไม่มีปัญญาทำอื่นใด นอกเหนือจากการปล่อยให้เหยื่อถูกขย้ำอยู่ร่ำไป ทุกฤดูกาล?