ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กับอนาคตของการเมืองระดับชาติ และการปกครองท้องถิ่น (1)/บทความพิเศษ ธเนศวร์ เจริญเมือง

บทความพิเศษ

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ

กับอนาคตของการเมืองระดับชาติ

และการปกครองท้องถิ่น (1)

 

ปีนี้ พ.ศ.2565 เป็นปีครบรอบ 125 ปีของการปกครองท้องถิ่นในประเทศเรา

ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปในปี 2440 ได้ทรงเห็นการบริหารจัดการท้องถิ่นที่เข้มแข็งที่อังกฤษ จึงทรงนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้ในสยามในปีเดียวกัน

ด้วยการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯขึ้นในปีนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่างเช่นขยะ หวังให้เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลระดับชาติ

แต่น่าเสียดายที่สยามในขณะนั้น ยังไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของการปกครองท้องถิ่นหรือการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างชัดเจน

นั่นคือ 1. การปกครองท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยระดับพื้นฐานของสังคมที่ระดับชาติก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

2. ฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยคนในท้องถิ่นและมีวาระการทำงานที่ชัดเจน เช่น ทุกๆ 4 ปี

3. รัฐไม่แทรกแซงหรือควบคุมบงการท้องถิ่น (Control) เพียงแต่กำกับดูแล (Monitoring)

4. ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาชนเข้าร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการมีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น” (Local Self Government)

และ 5. การปกครองท้องถิ่นจะไม่ทำ 3 เรื่องอันเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลระดับชาติ คือ กองทัพ การคลัง-ระบบเงินตรา และการต่างประเทศ

รัฐอำนาจนิยมอาจมองการปกครองท้องถิ่นเป็นการแบ่งเบาภาระของตนเอง

แต่ในรัฐประชาธิปไตย การบริหารจัดการท้องถิ่นต้องเป็นไปตามเจตจำนงของคนท้องถิ่น ไม่ควรมีรัฐบาลส่วนกลางใดที่ตัดสินใจกิจการของท้องถิ่นแทนคนท้องถิ่น

เพราะการแทรกแซงหรือครอบงำดังกล่าวเกิดจากการดูถูกสิทธิของคนในท้องถิ่น คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าและมีฐานะเหนือกว่าคนในท้องถิ่น

แต่ที่แน่นอนที่สุด ก็คือการปกครองครอบงำท้องถิ่นเช่นนั้นก็เพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองและกลุ่มเป็นสำคัญ เหตุผลอื่นๆ ล้วนเป็นข้ออ้าง

100 กว่าปีก่อน รัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีนโยบายและไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าระดับไหน การปกครองท้องถิ่นในตอนนั้นจึงเป็นการแต่งตั้งข้าราชการของกระทรวงและจังหวัดไปเป็นผู้บริหารสุขาภิบาลทั้งหมด และไม่มีคนท้องถิ่นเข้าร่วมเลย

หลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 รัฐบาลคณะราษฎรจัดตั้งระบบเทศบาล และให้มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นตามแบบตะวันตก

แต่เนื่องจากระบบรวมศูนย์แข็งแกร่งมาตั้งแต่ก่อนปี 2475 และการขาดประสบการณ์ของฝ่ายปฏิวัติและของภาคประชาสังคมในท้องถิ่นต่างๆ ในที่สุด ท้องถิ่นก็ถูกควบคุมด้วยระบบบริหารส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นทีละขั้นๆ

ประกอบกับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในระดับชาติเป็นลำดับนับแต่ พ.ศ.2490 บวกกับการยึดอำนาจ ที่ได้ทำลายระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่กำลังสร้างตัว ถึง 10 กว่าครั้งในห้วง 60 ปีต่อจากนั้น การปกครองท้องถิ่นที่กำลังสร้างตัวเช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยระดับชาติจึงถูกจำกัดบทบาทด้วยสารพัดรูปแบบ

ที่แจ่มชัดที่สุดก็คือ การให้นายอำเภอเป็นประธานสุขาภิบาลตั้งแต่ปี 2495 และให้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งเป็นนายก อบจ.อีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2498

และล่าสุด การปกครองท้องถิ่นได้ถูกทำให้เป็นระบบราชการอีกแบบหนึ่งในช่วงปี 2557-2564 โดยรัฐบาล คสช.ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเลยติดต่อกัน 7 ปี (มีการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563; เทศบาล 1 กุมภาพันธ์ 2564 และ อบต. 28 พฤศจิกายน 2564)

ซึ่งส่งผลให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นอ่อนแอลงไปอีก

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ-กทม.

กับผลกระทบทางการเมือง

ชัยชนะแบบถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา บวกกับวิธีการทำงานอย่างแข็งขันและข่าวเรื่องงานแต่ละด้านและการรายงานกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 1 เดือน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่เกี่ยวกับผู้นำระดับท้องถิ่นและปัญหาตลอดจนการบริหารงานของ อปท. อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศนี้

ปรากฏการณ์ใหม่ที่ว่าประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถระบุได้แบบย่อๆ ดังนี้

1. การออกมาทำงานทุกๆ วันโดยไม่มีวันหยุด ครั้นมีคนถามว่าทำไมทำงานหนักมาก ผู้ว่าฯ ก็ตอบว่า ต้องเร่งทำงานเพราะมีงานจำนวนมากที่ต้องสะสาง และเวลาทำงานตามวาระเพียง 4 ปีถือว่าไม่นานนัก และยังกล่าวอีกว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากที่หาเช้ากินค่ำทำงานหนักกว่านี้

2. การวิ่งออกกำลังกายตั้งแต่เช้ามืดทุกวันไม่เพียงแต่สร้างประเด็นการออกกำลังกายและการดูแลรักษาสุขภาพให้มีความสำคัญและให้สังคมได้ตระหนัก แต่การออกวิ่งไปตามที่ต่างๆ ไม่ซ้ำกัน เปิดโอกาสให้เห็นและเรียนรู้ปัญหาใหม่ๆ ทุกวัน กลายเป็นว่าได้ทั้งการออกกำลังและการทำงาน

3. การแสดงให้เห็นคุณภาพของความเป็นผู้นำ ที่สำคัญผู้นำของสังคมประชาธิปไตย คือมีการรายงานกิจกรรม อธิบายปัญหาและแนวทางแก้ไขให้สื่อมวลชนและคนฟังได้ทราบอย่างชัดเจน

การพูดถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขต่างๆ สะท้อนให้เห็นการผ่านการศึกษาค้นคว้า การสอบถามเรียนรู้จากผู้คน การไปดูจุดเกิดเหตุ การประชุมกับทีมงาน

บุคลิกที่เป็นกันเอง เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง ไม่โอ้อวด วางตัวเป็นนาย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ชอบพบปะผู้คนและสอบถามขอความรู้ การให้เกียรติผู้ร่วมงานและคนทั่วไป การรับฟังคำวิจารณ์ การแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล เป็นคนสุภาพ ไม่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ต่อว่าหรือดูถูกคนอื่น ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น ฯลฯ

การมีทัศนะในเชิงบวก สร้างความหวังในการแก้ไขปัญหา ชักชวนให้คนอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกันทำงานเพื่อส่วนรวม ให้เห็นว่างานจะบรรลุ ถ้าทุกๆ คนมาช่วยกัน การเปิดเผยโครงการและงบฯ ทั้งหมดของ กทม. การให้ความรักต่อเด็กๆ ต่อคนทำงานทุกระดับ การเดินทางไปดูสถานที่เกิดเหตุไฟไหม้ น้ำท่วม การให้เวลาถ่ายรูปกับทุกๆ คน ฯลฯ

การแต่งตั้งทีมทำงานที่มีคุณภาพ การพูดถึงความสำคัญของการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ การเปิดเผยโครงการทำงานและรายงานส่วนที่ทำไปแล้วเท่าใด การสำรวจปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในแต่ละหน่วยงาน การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การเปิดพื้นที่สำหรับการชุมนุมทางการเมือง การปลูกต้นไม้ การจัดรายการดนตรีในสวน และการจัดฉายหนังกลางแปลง ฯลฯ

คุณภาพของความเป็นคน และความเป็นผู้นำในสังคมประชาธิปไตยของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่หลอมรวมกันส่งบุคลิกนั้นให้โดดเด่น และได้รับความนิยม ความศรัทธาจากประชาชน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

บวกกับการมีทีมงานด้านประชาสัมพันธ์ที่เสนอข่าวกิจกรรมต่างๆ และบทบาทของผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างฉับไว รวมทั้งผู้ว่าฯ ออกโรงบรรยายงานต่างๆ และปัญหาที่ได้ประสบ ก็ยิ่งเพิ่มการรับรู้และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชนได้มากขึ้น ปูทางไปสู่การสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้กว้างขวางออกไป

และช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงบ้านเมือง