หาร 500 หรือจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

หาร 500

หรือจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

 

ประเด็นทางการเมืองที่ร้อนสูงสุดในช่วงเดือนนี้เห็นทีจะเป็นประเด็นสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า หาร 100 หรือหาร 500

หาร 100 คือ การนับคะแนนจากบัตรสองใบแบบคู่ขนาน บัตรใครบัตรมัน

หาร 500 คือ ระบบการนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี ก่อนไปหักลบจากจำนวน ส.ส.เขต เพื่อคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

ที่ถกเถียงกันไม่ใช่ระบบไหนจะดีกว่ากัน แต่กลายเป็นการคิดเพียงแค่ว่าระบบไหน พรรคไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน

การเปลี่ยนกลับแบบ 360 องศาที่แทบตั้งตัวกันไม่ทันทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา ในการลงมติรายมาตราวาระที่สอง ของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ด้วยคะแนนพลิกกลับมาชนะถึง 392 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 23 ทั้งๆ ที่ไม่ถึงสองเดือนก่อน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2565 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายลูก เพิ่งมีมติด้วยเสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 งดออกเสียง 2 เห็นชอบกับแนวทางหาร 100

เหตุผลสำคัญที่รู้กันทั่ว คือ กลัวหาร 100 แล้วจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย กลัวเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายม้วนเดียวจบ ไม่ต้องรอให้ไปถึงมือสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

เพียงแค่พยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่าจะมีแลนด์สไลด์ แผ่นดินไหวก็สะเทือนไปถึงรัฐสภา

แม้การพิจารณารายมาตราในวาระที่สองยังไม่จบและยังไม่มีการลงมติสุดท้ายในวาระที่สาม ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในวันที่ 26-27 กรกฎาคม พ.ศ.2565 นี้ แต่หลายคนมองไกลไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

การไปศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้หรือไม่ และผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาได้กี่ทาง ลองอ่านบทความนี้ดู

 

ช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญ

พิจารณาจากช่องทางที่เป็นไปได้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีช่องทางที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสามารถไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ 2 ช่องทางคือ

ช่องทางแรก เป็นไปตามมาตรา 132(2) ที่กำหนดว่า ภายใน 15 วันนับแต่รัฐสภาเห็นชอบร่างกฎหมายลูก ให้รัฐสภาส่งร่างดังกล่าวไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้

อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ความเห็นว่า ช่องทางนี้น่าจะเป็นการเลือกส่งเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น หากเป็นเรื่องการเลือกตั้ง ก็ส่งให้ กกต. หรือหากเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ก็ส่ง ป.ป.ช. เป็นต้น ดังนั้น หากจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ช่องทางที่สอง เป็นการอาศัยช่องทางตามมาตรา 148(1) ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ร่างพระราชบัญญัติ หากมี ส.ส. ส.ว. หรือ ส.ส.รวมกับ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสองสภา หรือประมาณ 75 คน เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเข้าชื่อกันเสนอต่อประธานรัฐสภา ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้

เช่นเดียวกัน ช่องทางนี้ก็มีผู้ให้ความเห็นแย้งว่า เป็นการระบุถึงพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และด้วยกฎหมายเลือกตั้งมีฐานะที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงไม่เข้าข่ายมาตรานี้

ยื่นได้หรือยื่นไม่ได้ ก็ต้องยื่นก่อน ถึงจะรู้ว่าได้หรือไม่ได้

 

ผลจากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ในกรณีที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นไปได้ของเส้นทางร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับหาร 500 อาจมีได้หลายชะตากรรม

ทางที่หนึ่ง ศาลไม่รับคำร้องเนื่องจากช่องทางตามมาตรา 148(1) นั้นเขามีไว้ให้กับร่างพระราชบัญญัติทั่วไป แต่ที่ท่านยื่นมานั้นศักดิ์สูงกว่า ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. แต่เป็น ร่าง พ.ร.ป. หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มือของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเอื้อมไปถึง

ทางที่สอง ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาและมีความเห็นว่าประเด็นเนื้อหาที่ร้องนั้นไม่ขัด จึงยกคำร้อง วินิจฉัยว่าไม่มีอะไรขัด

ทางที่สาม ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาและมีความเห็นว่ามีบางส่วนของร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ก็ให้ข้อความส่วนดังกล่าวตกไปและให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

ทางที่สี่ ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาและมีความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้น “ถือเป็นสาระสำคัญ” ของกฎหมาย ในกรณีนี้ ร่างพระราชบัญญัติก็จะตกไปทั้งฉบับ ต้องไปนับหนึ่งในกระบวนการในการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งหากประเมินจากช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน น่าจะไม่ทันกับการแก้ไข

 

ทางออกหาก กฎหมายลูกถูกตีตก

ผลที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวนี้คือ หากมีการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในช่วงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้ว ในเรื่องระบบการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 350 : 150 เป็น 400 : 100 แล้ว เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องหาทางออกในการให้มีกฎหมายเพื่อใช้เป็นหลักในการจัดการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว

คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจเป็นผู้ออก ประกาศ คำสั่ง เกี่ยวกับกติการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเอง แต่ในกรณีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้รับผิดโดยตรงหากมีการร้องภายหลังว่า ประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นการออกโดยมีสาระที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งคงไม่เลือกใช้วิธีนี้

วิธีการที่สองคือ ให้คณะรัฐมนตรีใช้มติ ครม.ในการออก พระราชกำหนด ที่มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติแต่เกิดขึ้นในกรณีจำเป็นฉุกเฉินเนื่องจากจะเลือกตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายลูก โดยพระราชกำหนดดังกล่าวอาจจะมาจากการเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้งและเป็นไปตามความต้องการของคณะรัฐมนตรี

เรียกได้ว่า ออกได้ตามใจคณะรัฐมนตรี จะเอาอะไรหารก็ตามใจท่าน

การเปิดหน้าไพ่ในลักษณะนี้อาจทำให้พรรคการเมืองที่ไม่ชอบระบบหาร 500 อาจเกิดการสะดุดคิดว่าสมควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยื่นแล้วได้อะไร ไม่ได้อะไร และท้ายสุดหากกฎหมายตกไปทั้งฉบับ หน้าตาของพระราชกำหนดที่สามารถออกตามใจคณะรัฐมนตรีอาจเลวร้ายกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ก็ได้

มิสู้การชูธงรบได้ทุกกติกา และตีแผ่ให้ประชาชนรู้ถึงความพยายามของฝ่ายผู้มีอำนาจในการสรรหาวิธีการแก้กติกาให้ฝ่ายตนได้เปรียบอยู่ร่ำไปโดยไม่สนใจว่าจะต้องกลืนน้ำลายตัวเองอีกกี่รอบก็ตาม

เพราะท้ายสุดไม่ว่าจะบิดเบือนกติกาสักเท่าไร เมื่อถึงวันเลือกตั้ง อำนาจของการกำหนดอนาคตของประเทศกลับมาอยู่ในมือของประชาชน

ถึงแก้ไขร้อยกติกา แต่ประชาชนรู้ทัน อย่าหวังว่าจะได้สืบทอดอำนาจต่อเลย

สงสารแต่พรรคร่วมรัฐบาลที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้โดยไม่มีจุดยืน เดี๋ยวหาร 100 เดี๋ยวหาร 500 ตามแต่ท่านผู้นำสั่งการ

ท่านจะยืนอยู่ตรงไหนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปครับ