หลากมิติที่พิษณุโลก / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบ : พระพุทธชินราช โดย Supanut Arunoprayote. /commons.wikimedia.org/wiki/File:Phra_Phuttha_Chinnarat_(II).jpg

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

หลากมิติที่พิษณุโลก

 

เสาร์-อาทิตย์ 9-10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา พร้อมองค์กรที่ร่วมงาน มีมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สสส. และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้จัดประชุมเสวนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ดังได้จัดมาแล้ว มี

ภาคใต้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา จ.สงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ ม.ขอนแก่น ภาคเหนือตอนบนที่ ม.ราชภัฏเชียงราย ครั้งนี้ภาคเหนือตอนล่างที่ ม.นเรศวร

ยังเหลือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะจัดที่ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ระหว่างเสาร์-อาทิตย์ 16-17 กรกฎาคม ต่อไป

 

มีผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาที่พิษณุโลกครั้งนี้อย่างเข้มข้นเช่นเคย โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม มี

กลุ่ม ภูมิภาษาและวรรณศิลป์

กลุ่ม ภูมิบ้านภูมิเมือง

กลุ่ม ภูมิปัญญาแผ่นดิน

เข้มข้นคือ แต่ละกลุ่มล้วนเป็นตัวแทนจากภาคส่วนของสาขาต่างๆ ตามเนื้อหากลุ่มนั้นๆ มีทั้งศิลปิน นักวิชาการ หน่วยงานราชการ และปราชญ์พื้นบ้าน ซึ่งต่างให้ข้อมูลและความคิดเห็นเป็นประโยชน์ยิ่ง

คณะกรรมการจะได้กรองเนื้อหาที่ได้จากแต่ละภาคมาประมวลครั้งสุดท้ายที่ กทม. (ตัวแทนภาคกลาง) เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านเวทีวุฒิสภาต่อไป

รุ่งขึ้นชาวคณะได้ไปไหว้พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มิ่งขวัญของทั้งเมืองพิษณุโลกและเมืองไทย ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั้งมวล เป็นทั้งมงคลชีวิตและพุทธศิลป์ที่ทุกคนควรได้ชื่นชมแม้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ความงามของพระพุทธชินราชนั้น มิใช่แค่ภาพปรากฏ หากคือทรงเป็นสัญลักษณ์อุดมคติของความเป็นมนุษย์นั่นเลย

 

จากนั้นชาวคณะได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของจ่าทวี บูรณเขต ซึ่งทางการได้ยกย่องให้ท่านเป็น “ศิลปาจารย์” คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกอย่างสำคัญยิ่ง

จ่าทวีเองปัจจุบันอายุเก้าสิบปีแล้ว ผู้ดูแลในปัจจุบันคือคุณธรรมสถิต บูรณเขต ลูกชายของท่านจ่าทวี

คุณธรรมสถิตเองได้เข้าร่วมประชุมสัมมนากับโครงการครั้งนี้ด้วย ข้อเสนอของท่านในที่ประชุมนั้นน่าสนใจยิ่ง คือขอให้มีหลักสูตรเรื่องภูมิบ้านภูมิเมืองและภูมิปัญญาแผ่นดินในสถาบันการศึกษา

เมื่อได้มาชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีแล้วก็เห็นว่านี่แหละคือห้องเรียนใหญ่ของวิชาว่าด้วยเรื่องภูมิบ้านภูมิเมืองโดยตรงเลยทีเดียว

ควรต้องให้เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถมและมัธยมได้เข้ามาดูเป็นพื้นฐานไว้ให้สมกับวาทะที่ว่า

ลึกซึ้งรากเหง้า

เข้าใจปัจจุบัน

เท่าทันอนาคต

อีกแห่งที่ชาวคณะได้ไปเยี่ยมชมคือกลุ่มชาวบ้าน “วังส้มซ่า” สำคัญคือการร่วมตัวของชาวบ้านสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลายจากส้มซ่า มีทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพร อย่างเป็นขบวนการ ครบวงจร โดยเริ่มจากมองเห็นความสำคัญของชื่อหมู่บ้านคือ วังส้มซ่าเป็นประเดิมกับส้มซ่าต้นเดียวที่เหลืออยู่ กระทั่งเติบโตเป็นกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

สำคัญคือความสามัคคีของกลุ่มชาวบ้านที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างมีพลังยิ่ง

วังส้มซ่าสืบสินแผ่นดินแม่

รากฐานแท้เป็นพื้นฐานสู่ภูมิฐาน

เสน่ห์ทรัพยากรจากก่อนกาล

หอมส้มซ่านซ่าพร้อมหอมหัวใจ

ครบสามฐานวัฒนธรรมคือ รากฐาน พื้นฐาน ภูมิฐาน ดูได้ที่บ้านวังส้มซ่านี่เอง

 

เรื่องภูมิภาษาโดยรวมก็มีทั้งสามฐานเช่นกัน ดังรากฐาน คือการสื่อสารทั่วไป พื้นฐาน คือประโยชน์ที่ได้จากภาษาและหนังสือเป็นสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจงานสื่อสารทั้งปวง เช่น อิทธิพลของจอแผ่นที่กำหนดโลกยุคใหม่อยู่นี้

ภูมิฐานของภูมิภาษาจำเพาะหนังสือก็คืองานวรรณกรรมทั้งหลาย เพราะวรรณกรรมดีๆ นั้นเป็นอลังการทางภูมิปัญญาของสังคมอันทรงค่าอวดโลกได้เต็มที่

โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกนี้มีนักเขียนหญิงคนสำคัญคือ “สุวรรณี สุคนธา” บ้านเกิดของท่านอยู่ที่นี่ นวนิยายสองเล่มสำคัญคือ สวนสัตว์ และเขาชื่อกานต์ ถือเป็นหมุดหมายของโลกวรรณกรรมไทย ที่อวดโลกได้อย่างน่าภูมิใจไม่น้อยหน้าเล่มใดเลย

สมควรมีประติมากรรมหรือรูปปั้นหล่อไว้ในสนามริมน้ำน่านตรงไหนสักที่กับประโยคเด็ดๆ ของ “สุวรรณี สุคนธา” จารึกไว้ด้วย ดีไหม

ถามใจชาวพิษณุโลกหน่อยนะ •