Gymtimidation อาการกลัวยิม/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @PITSANUOFFICIAL

 

Gymtimidation

อาการกลัวยิม

 

วิมเบิลดัน…เทนนิสรายการแกรนด์สแลมที่ 3 ของปี ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

วีนัส วิลเลียมส์ (Venus Williams) อดีตนักเทนนิส หมายเลข 1 ของโลก ลงแข่งขันวิมเบิลดันปีนี้ในประเภทคู่ผสม เป็นการลงแข่งครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2021

ในวัย 42 ปี วีนัสยังดูฟิต หุ่นเพรียว แต่เมื่อต้นปีเธอออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเธอเคยมีความรู้สึกกลัวที่จะออกกำลังกายต่อหน้าคนอื่นในยิมในช่วงที่เธอน้ำหนักตัวขึ้น

วีนัสบอกว่าไม่ว่าจะมีความสามารถทางร่างกายระดับไหน จะมีช่วงจังหวะที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง

เธอต้องการนำเรื่องความอ่อนไหวในรูปร่างของตัวเองมาเล่าให้คนอื่นได้ทราบ

อาการกลัวยิม หรือจิมทิมิเดชั่น (Gymtimidation) เป็นเรื่องจริงที่อยู่ใกล้ตัวคนอเมริกัน คนอเมริกันจำนวนมากมีความรู้สึกกลัวเวลาที่นึกถึงการออกกำลังกายในยิม

Gymtimidation เป็นการผสานคำระหว่าง

Gym + Intimidation = Gymtimidation

ยิม + การทำให้กลัว = อาการกลัวยิม

 

วีนัส ได้ร่วมกับ สติชฟิกซ์ (StitchFix) ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ของอเมริกา ที่มีสไตลิสต์ (Stylist) ออนไลน์ให้คำแนะนำการเลือกเสื้อผ้า รองเท้า ให้เข้าชุดกัน เป็นร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ ได้ร่วมกันตั้งแคมเปญ Goodbye Gymtimidation เพื่อให้ผู้หญิงเลิกกลัวการเข้ายิม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงในอเมริกา

จากการทำโพลสำรวจของสติชฟิกซ์พบว่า 67% ของผู้หญิงมีอาการประหม่า ไม่มั่นใจในตัวเองในการออกกำลังกายในยิมต่อหน้าคนอื่นอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปนาน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิต เช่น หลังโควิด-19 ระบาด ยิมเพิ่งเปิดให้บริการอีกครั้ง หรือหลังคลอดลูก

89% ของผู้หญิงยอมรับว่า หากมีชุดออกกำลังกายที่สวย สวมแล้วมั่นใจ จะทำให้ออกกำลังกายตามที่ตั้งเป้าไว้

68% ของผู้หญิงต้องการพัฒนาสุขภาพใจและอารมณ์ในปี 2022

สติชฟิกซ์เห็นว่า การมีชุดออกกำลังกายที่สวย สวมแล้วมั่นใจ มีส่วนสำคัญในการกำจัดอาการกลัวยิมของผู้หญิง

 

มีงานศึกษาคนอเมริกันจำนวน 2,000 คน เกี่ยวกับกิจวัตรและพฤติกรรมการออกกำลังกายของแต่ละคน จัดทำโดย Isopure (ไอโซเพียว) ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนและอาหารเสริม

พบว่า จำนวน 50% รู้สึกว่าการคิดถึงเรื่องออกกำลังกายท่ามกลางผู้คนมากมายในบรรยากาศของยิม เป็นภาพที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา

จำนวน 31% ยอมรับว่ารู้สึกกังวลเมื่อคิดถึงการพยายามรักษารูปร่างตัวเองให้ดูสมส่วน

คนอเมริกัน 48% รู้สึกกลัวรูปแบบการออกกำลังกายรวมถึงคลาสออกกำลังกายที่มีอยู่เยอะแยะมากมายในยิม

จำนวน 37% ของคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย รู้สึกว่าสุขภาพตัวเองอ่อนแอเกินกว่าที่จะมาเริ่มต้นออกกำลังกาย

 

แม้หลายคนจะชนะความกลัวและพาตัวเองไปออกกำลังกายในยิมได้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้จำนวน 47% ยอมรับว่ายังมีความรู้สึกกลัวสิ่งต่างๆ ตลอดเวลาที่อยู่ในยิม

โดยความรู้สึกกลัวเกิดขึ้นกับคนจำนวน 32% เมื่อพวกเขาไปออกกำลังกายใกล้ๆ กับคนที่มีร่างกายแข็งแรงมาก

17% รู้สึกกลัวเมื่อออกกำลังกายต่อหน้าเพศตรงข้าม

15% รู้สึกกลัวขณะที่ออกกำลังกายตามกิจวัตรของตัวเอง

 

คนอเมริกันไม่เพียงแต่กลัวการออกกำลังกายในยิมเท่านั้น จำนวน 48% กลัวการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ขณะที่ 45% บ่นว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะกินอาหารให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

แม้แต่คนที่ออกกำลังกายจนเป็นกิจวัตรหลายคนก็รู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ในสภาพที่เคยชินจนกลายเป็นความน่าเบื่อ และรู้สึกว่าร่างกายไม่ได้พัฒนาไปมากกว่าเดิม

คน 38% เคลื่อนไหวร่างกายแบบเดิมๆ ทุกครั้ง ไม่เคยเปลี่ยนไปทำสิ่งใหม่ๆ และ 23% รู้สึกไม่มีความสุขหรือพอใจกับกิจวัตรการออกกำลังกายที่ตัวเองทำอยู่

 

ความคงเส้นคงวาในการออกกำลังกายเป็นรากฐานที่จะช่วยนำไปสู่ผลลัพธ์ให้ร่างกายพัฒนา แต่ในท้ายที่สุดเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เราทำซ้ำๆ ได้แล้วก็จะเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาเพียงเล็กน้อยหรือไม่พัฒนาเลยที่เรียกว่า plateau (แพลทโท)

ดังนั้น การหากิจวัตรออกกำลังกายใหม่ๆ มาลองทำ จะเป็นการ “บังคับ” ให้ร่างกายต้องออกมาจากสภาพที่เคยชินและหาทางปรับตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งจะไม่รู้สึกเบื่อ

ถามว่าแล้วเหตุใดหลายคนถึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกิจวัตรการออกกำลังกายเดิมๆ ของตัวเอง

22% บอกว่าเพราะไม่ทราบว่าการออกกำลังกายรูปแบบใดที่เหมาะสมกับรูปร่างของตัวเองที่สุด

18% ไม่ชอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการออกจาก comfort zone

เหตุผลอื่นๆ ที่คนเลือกจะยึดติดกับกฎเกณฑ์การออกกำลังกายแบบเดิมๆ ซึ่งปัจจุบันให้ผลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็เพราะ …

13% รู้สึกว่าการออกกำลังกายรูปแบบนี้ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกแก่พวกเขาในอดีต

11% รู้สึกกลัวเครื่องออกกำลังกายทุกชนิดในยิม จึงยังเล่นแต่เครื่องที่ตัวเองคุ้นชิน ตั้งแต่ในอดีต

6% กลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้น้ำหนักตัวของพวกเขาเพิ่มขึ้น

 

การติดอยู่กับความเคยชินเดิมๆ ในยิมก็ส่งผลหลายๆ อย่าง

เช่น คนจำนวน 48% ไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านรูปร่างของตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว

41% ยอมรับว่าน้ำหนักของลูกเหล็กที่ยกอยู่ในปัจจุบันไม่ได้รู้สึกท้าทายสำหรับพวกเขาแล้ว แต่ก็ยังไม่คิดถึงการเพิ่มน้ำหนักของเหล็กขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น คนอเมริกันหลายคนที่ยังติดอยู่กับกิจวัตรการออกกำลังกายแบบเดิมๆ เริ่มสังเกตว่าร่างกายพวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ โดย 41% สังเกตว่าพวกเขามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานให้แตกต่างไปจากเมื่อก่อน

ความกังวล ความทุกข์ด้วยเรื่องแบบนี้ของคนอเมริกัน คนหลายประเทศที่แต่ละวันได้กินอาหารไม่ครบสามมื้อไม่มีวันเข้าใจ