‘ผู้เกิดในนรก’ : ความหลากหลายทางเพศ ในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนา/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

‘ผู้เกิดในนรก’

: ความหลากหลายทางเพศ

ในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนา

โครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์ ถูกจำแนกผ่านเพศสภาพ (gender) เพียงชายและหญิง ตามสรีระที่ปรากฏตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสังคมเรียกบุคคลที่มีลักษณะ “ชายจริง-หญิงแท้” ว่าปกติ

ในขณะที่ปัจจุบัน โลกมีความเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหลและพัฒนาในเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แม้บุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับสรีระจะถูกมองเป็นคนอื่น ผิดปกติ แปลกแยก น่ารังเกียจ

แต่เมื่อคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ทางเลือก ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว บุคคลที่ถูกมองว่าเป็นเพศที่สาม หรือ “กลุ่มหลากหลายทางเพศ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุม ทั้งรักร่วมเพศ ไม่ว่าชายรักชาย หญิงรักหญิง คนที่แปลงเพศแล้ว กะเทย และกลุ่มรักสองเพศที่ตอบสนองได้ทั้งชายและหญิง เป็นต้น ซึ่งมีมานานและอยู่ร่วมในสังคม หากแต่จะถูกยอมรับ เปิดเผย หรือขัดต่อคำสอนทางศาสนามากน้อยเพียงใด หรือไม่เท่านั้น

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “ผู้เกิดในนรก” ของ iMuGi ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 กรกฎาคม 2565 ปีที่ 42 ฉบับที่ 2186 หน้า 54-55 (https://www.matichonweekly.com/column/article_574286) ซึ่งให้ “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่อง หลังจากเห็นข้อความในแผ่นพับกับข้อความในป้ายที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งมีความย้อนแย้งกัน จนเขาได้มาพบรักกับยุนซอก ชายหนุ่มไร้ศาสนา ต่อมาฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจอยู่ร่วมในสังคมที่ผู้คนไม่ยอมรับรักร่วมเพศ สุดท้ายแม่ก็ขอให้ผมบวชตามหลักศาสนาพุทธ เพราะอยากขึ้นสวรรค์ จึงเป็นความขัดแย้งเรื่องเพศที่สะท้อนความคิด ความเชื่อระหว่างคนต่างศาสนา และไร้ศาสนาในสังคม

โดยจะวิเคราะห์ผ่านมุมมองจริยศาสตร์ศาสนาคริสต์และพุทธ ตามทัศนะที่ปรากฏในบทความวิชาการของ ‘หริณวิทย์ กนกศิลปธรรม’ เป็นหลัก ดังนี้

 

ความหลากหลายทางเพศ

ในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนาคริสต์

“จริยศาสตร์ (ethics) เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา (philosophy) ที่มุ่งใช้เหตุผลไตร่ตรองเกี่ยวกับคุณค่าและการกระทำของมนุษย์ โดยทั่วไปมุ่งพิจารณาพฤติกรรมมนุษย์ในสภาวการณ์ทางจริยธรรม (moral situation) อันเป็นสภาวการณ์ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าพฤติกรรมหนึ่งๆ ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว จริยศาสตร์มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ ประเมินค่า และพัฒนาหลักเกณฑ์ศีลธรรมในเชิงบรรทัดฐาน (normative moral criteria) เพื่อนำมาใช้จัดการปัญหาทางจริยธรรม (moral problem) (Britannica 1980 : 976 อ้างถึงใน หริณวิทย์ กนกศิลปธรรม 2556 : 107)

“รักร่วมเพศต้องตกนรก?”

เป็นข้อความเปิดเรื่องเรื่องสั้นได้น่าสนใจ ซึ่งข้อความนี้อยู่ในแผ่นพับที่หญิงวัยเกษียณยื่นให้ ต่อมาผมได้ขยายความในอีกย่อหน้าว่า “คนบ้านเมืองนี้เขายังไม่เปิดกว้างเรื่องแบบนี้กัน แต่ไม่นึกว่าจะแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์กันโต้งๆ ในที่สาธารณะแบบนี้”

แสดงว่าข้อความเปิดเรื่อง เป็นทัศนะที่ศาสนาปฏิเสธพฤติกรรมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ชายกับหญิงเท่านั้นใช่หรือไม่

คำว่า “ควรตกนรก” จึงหมายถึงรักร่วมเพศที่ตกเป็นเหยื่อความรังเกียจเดียดฉันท์ จากคำสอนหรืออคติของผู้นับถือศาสนากันแน่ เพราะรักร่วมเพศอาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ธรรมชาติ กรรมพันธุ์ สภาวะแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว

ในศาสนาคริสต์จะมองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีจิตใจไม่ตรงกับสรีระเฉยๆ ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่สนับสนุนกิจกรรมทางเพศแบบคู่สามีภรรยา (หมายถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมร่วมด้วย) มันไม่ใช่เรื่องผิดก็จริง เพียงศาสนิกไม่ยอมรับ เท่ากับว่าลักษณะและพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องสั้นนี้ ถูกสังคมป้ายสีให้คร่ำเขลอะ และสมควรตกนรก

ทั้งๆ ที่ “พระองค์ทรงรักทุกท่าน” ซึ่งเป็นข้อความจากป้ายติดผนังโบสถ์ สะท้อนคำสอนศาสนาคริสต์จากหลัก “ความรักสากล” โดยการรักคนอื่นและมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง รวมถึง “การรักเพื่อนบ้านเหมือนกับรักตนเอง” หมายความว่าศาสนิกไม่ควรนำปัจจัยเรื่องเพศมาชี้วัดตัดสิน แบ่งแยก กดขี่ และควรก้าวข้ามความแตกต่างนี้ จึงทำให้สองข้อความย้อนแย้งกันนั่นเอง

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมโต้ตอบไปว่า “งั้น ถ้าคุณป้าเจอผมที่นี่ ก็หมายความว่าคุณป้าตกนรกแล้วน่ะสิครับ” แสดงถึงการไม่ยอมรับของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่บนโลกเดียวกัน แต่แบ่งสวรรค์ นรก จนหลงลืมหรือขาดการคำนึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรืออาจจะตีความว่าเป็นคำเสียดสีก็ได้ เมื่อหญิงวัยเกษียณบิดเบือนคำสอน ก็เท่ากับต้องตกนรกเช่นกัน นรกจึงเป็นข้ออ้างของความกลัวที่ไร้เหตุผล

ดังนั้น เมื่อผมควรตกนรก คุณป้าก็อยู่ในนรก เพราะผมอยู่ร่วมสังคมด้วยตอนนี้ เท่ากับว่าข้อความในแผ่นพับขาดความเข้าใจในคำสอนของพระเจ้า ที่มุ่งเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะ “พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน” ไม่ใช่กีดกัน หรือหาข้ออ้างทางศาสนามาชี้วัดตัดสิน

การตกนรกหรือเกิดในนรกจึงเป็นอุปมา (simile) ว่า เรื่องรักร่วมเพศยังไม่ถูกยอมรับ ทั้งในระดับความคิด ความเชื่อจากครอบครัว สังคม ศาสนา สิ่งนี้จึงเป็นความขัดแย้งภายในใจของผม มันรุนแรงมากขึ้นเมื่อคนรักหรือยุนซอก คนไร้ศาสนาฆ่าตัวตาย เขาหลุดพ้นโลกนี้ที่ไม่ต่างจากนรก

ตกลงเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นเพราะพระเจ้ารังเกียจรักร่วมเพศ หรือคนที่นับถือพระเจ้าเกลียดพวกเขากันแน่ (ดังอธิบายแล้ว) จึงเป็นคำถามที่ต้องใช้มุมมองทางจริยศาสตร์ตอบ

พระเจ้าไม่ได้เกลียดรักร่วมเพศ แม้จะทรง “สร้างมนุษย์ให้เป็นชายกับหญิง” (ปฐมกาล 5 : 1) แต่ความหลากหลายทางเพศอาจมองในมุมหรือตีความจาก “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามฉายาของพระองค์” (ปฐมกาล 1 : 27) มากกว่า เพราะมนุษย์แต่ละคนแตกต่าง มีลักษณะพิเศษและเสรีภาพ จึงไม่ควรแบ่งแยกจากเรื่องเพศ เชื้อชาติ ผิวสีว่าคนนั้นปกติ คนนี้ผิดปกติ คนนั้นเลวควรตกนรก คนโน้นดีควรขึ้นสวรรค์

 

ความหลากหลายทางเพศ

ในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนาพุทธ

ในทางศาสนาพุทธ คนที่แปลงเพศแล้วบวชไม่ได้ แต่กรณีของตั้มลูกป้าแต๋ว แต่งหญิง บวชได้ ส่วนผม แม้เป็นชายรักชายหรือบัณเฑาะก์ก็บวชได้ หมายความว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายบางระดับอุปสมบทได้ (ตามพระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาคหนึ่ง และอรรถกถา) แม่จึงคะยั้นคะยอให้ผมบวช เพราะหวังจะเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์

แม้คำสอนศาสนาพุทธจะไม่ต่อต้านบุคคลที่มีพฤติกรรมหลากหลายทางเพศ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศบวช น่าจะเกิดจากบริบทและเงื่อนไขทางสังคมมากกว่า เพราะเกรงจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาต้องมัวหมอง ถูกติฉินจากชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านนินทาพระตั้มลูกป้าแต๋วว่า หลวงเจ๊

ทุกศาสนามีหลักคำสอนมุ่งให้ศาสนิกเป็นคนดี คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะศาสนาคริสต์ พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ดังนั้น ทุกคนย่อมเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยความรักของพระองค์ ส่วนศาสนาพุทธเห็นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีจิตใจเป็นอิสระและสามารถบรรลุธรรมได้ การมีจิตใจไม่ตรงเพศสรีระจึงไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม ผิดปกติ หรือเป็นบาป เพราะศาสนาพุทธยึดหลักกฎแห่งกรรมหรือการกระทำ

ดังนั้น หากพิจารณาในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนา จึงไม่ควรปล่อยให้อวิชชาหรือความไม่รู้ (พุทธ) หรือความผิดบาป (คริสต์) มาแบ่งแยกหรือกักขังจิตใจมนุษย์ด้วยเรื่องเพศ จนลืมเคารพคุณค่าตนและคนอื่น

“ผู้เกิดในนรก” ของ iMuGi จึงเป็นเรื่องสั้นที่กล้าตั้งคำถาม โต้แย้งเรื่องเพศกับศาสนา ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือ ‘มะนุสโสสิ’ ได้อย่างน่าสนใจ เพื่อให้สังคมได้ร่วมหาทางออก ยอมรับ ลดละอคติในทุกความแตกต่างหลากหลาย

บรรณานุกรม

หริณวิทย์ กนกศิลปธรรม. (2556). ความหลากหลายทางเพศในมุมมองจริยศาสตร์ศาสนาคริสต์และพุทธศาสนา. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 35 : 2, 101-122.