ล้านนา-คำเมือง : พะลาดชายาเจ้าดาลาลัดสะหมี

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะลาดชายาเจ้าดาลาลัดสะหมี”

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ 11 เป็นองค์สุดท้องของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ประสูติจากแม่เจ้าทิพเกสร เมื่อปีระกา พ.ศ.2416 ที่คุ้มหลวงกลางเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ในปี พ.ศ.2429 เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม ได้ถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5

ตลอดเวลาที่ประทับรับราชการฝ่ายในอยู่ที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯ ได้ทรงนำขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมล้านนาไปปฏิบัติด้วย

ทรงโปรดให้ผู้ที่ติดตามพระองค์ไปจากเชียงใหม่แต่งกายตามแบบชาวเหนือ

คือโปรดให้นุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงและไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งต่างจากการนุ่งโจงกระเบน ไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่มของชาววังภาคกลาง

ไม่เฉพาะแต่การแต่งกายเท่านั้น ภายในพระตำหนักของพระองค์จะเต็มไปด้วยบรรยากาศล้านนา

โปรดให้อู้ “คำเมือง” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นล้านนา มีอาหารพื้นเมืองกิน แม้กระทั่งการ “อมเหมี้ยง” ก็ไม่ขาด

ในขณะเดียวกันกับที่พระราชชายาฯ ทรงโปรดที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเหนือไว้อย่างเคร่งครัด พระองค์ก็ทรงเปิดพระทัยรับวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย

เช่น โปรดให้มีการเล่นดนตรีไทยและสากล

ทรงดำริให้มีการเรียนดนตรีไทยในพระตำหนัก ตั้งเป็นวงเครื่องสายขึ้น พระองค์เองก็มีพระปรีชาสามารถทรงดนตรีได้หลายประเภท ทั้งซออู้ ซอด้วง และจะเข้

ต่อมาในปี พ.ศ.2432 พระองค์ได้มีพระประสูติกาลพระราชธิดา ทรงพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี)

ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง “เจ้าจอมดารารัศมี” ขึ้นเป็น “เจ้าจอมมารดาดารารัศมี”

พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือ “เสด็จเจ้าน้อย” เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา

เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์ลง

การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก

ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น “เจ้าฟ้า” ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช จึงเป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์

แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ของพระราชธิดาเสียจนเกือบหมด ทำให้มีภาพให้ประชาชนได้เห็นภายหลังไม่มาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์จากพระบิดาที่ส่งมาประทานถึงทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้น

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว กาลต่อมาเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้กราบถวายบังคมทูลลาเพื่อเสด็จคืนมาประทับอยู่ที่นครเชียงใหม่โดยทรงโปรดที่จะประทับอยู่ ณ ตำหนักดาราภิรมย์ ด้วยว่ามีบริเวณที่กว้างขวาง โปรดให้เรียกชื่อว่า “สวนเจ้าสบาย”

เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่ในครั้งนั้น ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณอเนกอนันต์ และดำรงพระองค์เป็นที่สักการะเทิดทูนในหมู่พสกนิกรชาวล้านนา

เช่น ทรงโปรดให้รวบรวมพระอัฐิและอัฐิพระประยูรญาติ อัญเชิญมาสร้างรวมกันไว้ ณ ที่แห่งเดียวกันที่บริเวณวัดบุปผาราม (ปัจจุบันคือวัดสวนดอก)

ทรงฟื้นฟูศิลปะการขับร้องพื้นเมืองค่าวซอ ซึ่งเป็นของล้านนาจนเป็นที่นิยมอย่างสูง ทรงริเริ่มประเพณีการต้อนรับแบบล้านนาซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการต้อนรับบุคคลสำคัญผู้มาเยือนเชียงใหม่

ในกาลต่อมาทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมล้านนา การทอผ้าตีนจก ผ้ายกดอกการฝีมือ ประดิษฐ์ไม้ใบตอง ให้สวยสดงดงามยิ่ง

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประชวรด้วยโรคพระปับผาสะ (ปอด) และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2476รวมพระชนมายุได้ 60 พรรษา