อนุช อาภาภิรม : ความมั่นคงทางพลังงาน และยุทธศาสตร์ (19)

AFP PHOTO

การเข้าปักหลักในอิหร่านและตะวันออกกลางของสหรัฐ

สหรัฐมีฐานทัพทั่วโลกในกว่าร้อยประเทศ มีทหารพร้อมปฏิบัติกว่าแสนคน ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีจุดยุทธศาสตร์เชื่อมสามทวีปคือเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา กับทั้งมีแหล่งสำรองน้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิงใหญ่ที่สุดของโลก สหรัฐได้เข้ามาตั้งฐานทัพอย่างหนาแน่น ปิดล้อมอิหร่านไว้ทุกด้าน

การเข้ามาตั้งฐานทัพในตะวันออกกลางนั้นมีสามระลอกด้วยกัน

ระลอกแรก ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (1980) จนถึงสมัยประธานาธิบดีเรแกน ตามแผนใช้มาตรการทุกอย่างเพื่อรักษาทุ่งน้ำมันในภูมิภาคนี้ไว้ มีการตั้งฐานทัพที่อียิปต์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และเกาะดิเอโก การ์เซีย ในมหาสมุทรอินเดีย

ช่วงที่สอง หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว ในสงครามอ่าวปี 1991 สหรัฐได้ส่งทหารจำนวนมากเข้าไปในซาอุดีฯ และกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ

หลังสงครามแล้วก็ยังคงทหารและฐานทัพไว้ที่ซาอุดีฯ กาตาร์ เปิดฐานทัพเรือที่บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งโอมาน

ช่วงที่สาม ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสมัยประธานาธิบดีบุช จนถึงปัจจุบัน รุกรานอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งยังคงทหารและฐานทัพส่วนหนึ่งไว้

นอกจากนี้ ยังมีฐานทัพลับในอิสราเอล ในจอร์แดนมีการตั้งฐานฝึกทหารในการเข้าแทรกแซงซีเรีย สหรัฐยังมีฐานทัพในตุรกีกว่า 10 แห่ง มีฐานปฏิบัติการโดรนสังหารหลายแห่งในปากีสถาน

รวมความว่าในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐมีฐานทัพในทุกประเทศ เว้นแต่อิหร่านและเยเมน แต่ละปีต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อรักษาฐานทัพเหล่านี้ (ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาฐานทัพทั่วโลกตกราวปีละ 150 พันล้านดอลลาร์)

(ดูบทความของ David Vine ชื่อ The U.S. Has an Empire of Bases in the Middle East – and It”s Not Making Anyone Safer ใน fpif.org 20012016)

 

สหรัฐในอิหร่าน
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ไม่ได้เป็นสนามสงครามใหญ่ แต่ก็มีความสำคัญที่มีแหล่งสำรองน้ำมันมาก และกองทัพในช่วงนั้น (รวมทั้งปัจจุบัน) เดินได้ด้วยน้ำมัน มหาอำนาจที่มาเกี่ยวข้องในอิหร่าน (รวมอิรัก) ได้แก่ ฝ่ายพันธมิตรมีอังกฤษ สหรัฐ และสหภาพโซเวียตฝ่ายหนึ่ง กับเยอรมนี อิตาลี และประเทศยุโรปตะวันออกที่ถูกเยอรมนียึดครองอีกฝ่ายหนึ่ง

เมื่อเทียบดุลกำลังทางเศรษฐกิจ-การทหาร และอุตสาหกรรมน้ำมัน ก็เห็นได้ตั้งแต่ต้นว่าเยอรมนีจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ซึ่งฝ่ายพันธมิตรได้แก่ สหรัฐ สหภาพโซเวียต และอังกฤษ ได้มีการปรึกษาหารือในการแบ่งสรรปกครองโลกหลังสงครามตั้งแต่ปลายปี 1943 (ดูเอกสารชื่อ The Tehran Conference, 1943 ใน history.state.gov ของสหรัฐ)

กลับมากล่าวถึงเปอร์เซีย มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในปี 1921-1925 เมื่อ เรซา ข่าน นายทหารอิหร่านได้ก่อรัฐประหารล้มราชวงศ์กอญัร และตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวีขึ้น ครองราชย์ระหว่างปี 1925-1941

ในช่วงที่ เรซา ข่าน ขึ้นมีอำนาจนั้น ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีนโยบายทำประเทศให้ทันสมัยเป็นแบบตะวันตกเพื่อให้พ้นจากอำนาจครอบงำของลัทธิอาณานิคม

เรซา ข่าน มีความคิดที่จะเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐ เช่นที่เคมาลได้กระทำที่ตุรกีมาแล้ว (1923)

แต่บรรดาผู้นำศาสนาที่ยังมีอิทธิพลมากคัดค้าน จึงดำเนินการปฏิรูป แบบไม่แยกรัฐกับศาสนาออกจากกันเสียทีเดียว รักษาระบอบกษัตริย์ไว้

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและนายกรัฐมนตรี เขาได้เดินนโยบายถ่วงดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจ เช่น ใช้ความสัมพันธ์กับโซเวียตกดดันอังกฤษเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนจากสัมปทานขุดเจาะและกลั่นน้ำมันมากขึ้น ทำสัญญาเป็นไมตรีกับตุรกี อิรัก และอัฟกานิสถาน เพื่อสร้างความสงบในภูมิภาค ป้องกันไม่ให้อังกฤษและโซเวียตเข้ามาแทรกแซง

เมื่อเยอรมนีเรืองอำนาจขึ้น เรซา ชาห์ ได้ต้อนรับอย่างดีเพื่อถ่วงดุลอังกฤษ-โซเวียต ที่เข้ามาแบ่งเขตอิทธิพลในอิหร่านมานานแล้ว โดยใช้วิธีประกาศตัวเป็นกลาง

 

แต่เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีรัสเซียในปี 1941 (พร้อมกับญี่ปุ่นบุกอเมริกา) อังกฤษ-โซเวียตได้ตอบโต้อย่างรวดเร็วในการบุกยึดครอง ปฏิบัติการของอังกฤษในอิรัก-ซีเรีย-อิหร่าน ในช่วงเวลานี้ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับการรักษาอิทธิพลของตนต่อทุ่งน้ำมันในประเทศเหล่านี้ สรุปได้ดังนี้คือ

ก) ปฏิบัติการอิรัก (18 เมษายน – 1 มิถุนายน 1941) อิรักเป็นดินแดนในอาณัติของอังกฤษตั้งแต่ปี 1932 ที่อังกฤษหวงแหนเนื่องจากมีน้ำมันมาก นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อดินแดนสำคัญของอังกฤษ คือ อินเดียและอียิปต์ ในต้นเดือนเมษายน เกิดการรัฐประหารเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการ ผู้สำเร็จราชการคนใหม่ออกคำสั่งห้ามอังกฤษเคลื่อนกำลังมาหรือมาใกล้ทุ่งน้ำมันฮับบานิยาใกล้กรุงแบกแดด อังกฤษได้ตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังมายึดเมืองบาสรา ส่งกองบินมาทิ้งระเบิด ความเหนือกว่าของกำลังทางอากาศ ทำให้ในไม่ช้าอังกฤษสามารถยึดเมืองฟัลลูจาห์ และแบกแดดได้ เครื่องบินรบจากเยอรมนีและอิตาลีบินมาช่วยอยู่บ้างแต่ทำอะไรไม่ได้ อังกฤษคงทหารจำนวนมากไว้ที่อิรักจนถึงปี 1947

ข) ปฏิบัติการซีเรีย-เลบานอน (8 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 1941) ในช่วงทำสงครามกับอิรัก อังกฤษได้รับรายงานข่าวกรองว่า รัฐบาลฝรั่งเศสระบอบวีชี (ภายใต้การควบคุมของเยอรมนี) ที่ปกครองซีเรีย ได้อนุญาตให้เครื่องบินรบเยอรมนีมาเติมน้ำมัน และยังลักลอบส่งอาวุธให้แก่อิรัก คาดว่าจะเตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรจึงได้ส่งกำลังของตน ร่วมด้วยกำลังจากอินเดียและออสเตรเลียเข้ายึดกรุงเบรุตและดามัสกัสได้ (ดูบทความของ C. Peter Chen ชื่อ Campaign in the Middle East ใน ww2db.com)

ค) การบุกยึดครองเปอร์เซีย (25-30 สิงหาคม 1941) เกิดขึ้นหลังจากเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียต (22 มิถุนายน 1941) การบุกของเยอรมนีครั้งนี้เป็นไปอย่างสายฟ้าแลบ ไม่คาดฝัน แต่เมื่อมองย้อนกลับแล้วก็พบว่า สงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก นั่นคือ แม้ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาไม่รุกรานกันในปี 1939 แต่ต่างก็เตรียมทำสงคราม

โซเวียตได้เพิ่มการติดอาวุธให้แก่ตนเองอย่างรวดเร็ว

ขณะที่เยอรมนีเตรียมบุกยึดครองทั่วทั้งยุโรป

เมื่อเยอรมนีบุกไปที่ใด โซเวียตก็ตามติดไปที่นั่น

เช่น เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ทางด้านตะวันตก โซเวียตเข้ายึดโปแลนด์ทางตะวันออก เกิดการตรึงกำลังระหว่างทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ทะเลอาร์กติกจนถึงทะเลดำ และช่องแคบดาร์ดะแนลส์ เยอรมนีไม่สามารถเปิดฉากรบกับอังกฤษได้อย่างเด็ดขาด ตราบเท่าที่มีกองทัพโซเวียตตั้งทะมึนอยู่ด้านหลัง

ในที่สุดก็ตัดสินใจประกาศสงครามกับโซเวียต ยกกองทัพที่ใหญ่ที่สุดของสงครามเข้าสหภาพโซเวียตสู่อนาคตที่ไม่แน่นอน

เหตุผลหลักที่ฮิตเลอร์ตัดสินใจเช่นนั้น เนื่องจากเกรงว่าโซเวียตอาจบุกยึดโรมาเนียซึ่งเป็นแหล่งสนองน้ำมันสำคัญแก่เยอรมนี ทำให้เศรษฐกิจล่มสลายได้ ซึ่งเยอรมนีได้พยายามปกป้องโรมาเนียอย่างเต็มที่ ส่งกำลังรบมาประจำถึงกว่า 22,000 คน และโรมาเนียก็เข้าร่วมกลุ่มอักษะ (ดูบทความของ Maris Goldmanis นักประวัติศาสตร์อิสระชาวลัตเวีย ชื่อ Why Hitler Invaded the Soviet Union? ใน latviahistory.com)

 

การบุกอิหร่านของอังกฤษ เป็นปฏิบัติการร่วมกับสหภาพโซเวียต หลังการกดดันอิหร่านให้เข้าเป็นฝ่ายพันธมิตรไม่สำเร็จ โดยที่อังกฤษได้ปรึกษาหารือกับสหรัฐตั้งแต่ต้น อังกฤษบุกเข้าทางด้านใต้ ส่วนโซเวียตเข้าทางด้านเหนือ ใช้เวลาไม่นานก็สามารถยึดได้ทั้งประเทศ เส้นทางรถไฟข้ามประเทศอิหร่านอันมีค่าก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายพันธมิตร เรซา ชาห์ (พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี) ถูกบีบให้สละราชสมบัติ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ขึ้นครองอำนาจแทน ขณะที่อายุเพียง 22 ปี และอ่อนประสบการณ์ เข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรในเดือนมกราคม 1942 และประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนกันยายน 1943

ปฏิบัติการรุกรานอิหร่านนี้มีจุดประสงค์สำคัญสองประการได้แก่

ก) อังกฤษต้องการรักษาทุ่งน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่เมืองอะบาดานในอิหร่าน

ข) โซเวียตต้องการเส้นทางบำรุงทางทหารในการต่อต้านการบุกโจมตีของเยอรมนีจากอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐต้องการช่วยเหลือโซเวียตในการต่อต้านลัทธินาซี และปักหลักในอิหร่าน ส่งกองกำลังเข้ามาภายหลังในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเข้าไปพัวพันในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐมาจนถึงปัจจุบัน

หลังสงครามโลกสงบ อังกฤษถอนทหารออกแต่สหภาพโซเวียตยังคงกองทัพไว้ สนับสนุนชาวอาเซอร์ไบจานในอิหร่านตั้งรัฐอิสระ ก่อความตึงเครียดขึ้นมาก โซเวียตยอมถอนทหารออกในเดือนพฤษภาคม 1946 หลังจากที่อิหร่านให้สัญญาที่ไม่ได้ปฏิบัติว่าจะให้สัมปทานน้ำมัน (ดูหัวข้อ World War II : Anglo-Soviet Invasion of Iran ใน iranreview.org 23082015)

ประธานาธิบดีโรสเวลต์อาศัยอำนาจตามกฎหมายส่งเสริมการป้องกันของสหรัฐ ที่เรียกกันทั่วไปว่า นโยบายให้ยืม-ให้เช่า ที่อนุญาตให้สหรัฐช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศต่างๆ ในการต่อต้านเยอรมนี (บังคับใช้ มีนาคม 1941) ส่งกองกำลังจำนวนมากมาที่อิหร่านตั้งกองบัญชาการอ่าวเปอร์เซียขึ้น สร้างระเบียงเปอร์เซีย หรือที่อิหร่านเรียกว่า “สะพานสู่ชัยชนะ”

การเข้ามาของสหรัฐเป็นที่ต้อนรับของอิหร่านที่ดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจเชิงบวก ได้แก่ การใช้มหาอำนาจที่สามคือสหรัฐเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษและโซเวียต และใช้สัมปทานน้ำมันเป็นเหยื่อล่อ จึงได้ติดต่อกับวอชิงตันเป็นระยะ เพื่อขอความมั่นใจว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสามจะเคารพบูรณภาพเหนือดินแดนของอิหร่านและถอนทหารกลับไปหลังสงครามยุติ กับทั้งขอความช่วยเหลือในด้านการสร้างความมั่นคงภายใน และทางเศรษฐกิจ

จากประสบการณ์ตรงในอิหร่านภายในเวลาไม่นานนักสหรัฐก็สามารถสร้างนโยบายที่เป็นเอกภาพและระยะยาวในอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วยสามประการได้แก่

ก) การเข้าแทนที่อิทธิพลของอังกฤษ ที่อ่อนแอลงมากแล้ว และขัดขวางอิทธิพลของโซเวียตไม่ให้เข้ามาปกครอง ครอบงำ หรือแบ่งแยกประเทศอิหร่าน แต่ในช่วงสงครามก็ยังต้องร่วมมือกันไปพลาง

ข) การสร้างรัฐบาลที่เป็นมิตรและเข้มแข็งเพื่อรักษาความมั่นคงภายในของประเทศ ในการนี้สหรัฐได้ส่ง นายพลแคลแรนซ์ ริดลีย์ มาเป็นที่ปรึกษากองทัพอิหร่าน ในการจัดโครงสร้างกองกำลัง และส่ง พันเอก เอช.นอร์แมน ชวอร์ซคอฟฟ์ เป็นที่ปรึกษาด้านกำลังตำรวจกึ่งทหาร (ผู้นี้เป็นบิดาของนายพลชวอร์ซคอฟฟ์ผู้บัญชาการในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991)

ค) ทางด้านเศรษฐกิจ-การค้า ให้อิหร่านเปิดประตูค้าขายกับทุกประเทศ โดยที่ไม่คุกคามต่อประเทศใด และสหรัฐควรมีส่วนในการพัฒนาประเทศของอิหร่านด้วย

สิ่งสำคัญที่กำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐต่ออิหร่านและตะวันออกกลางได้แก่สัมปทานน้ำมัน ในปลายปี 1943 ถึงต้นปี 1944 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้สร้างนโยบายปิโตรเลียมแห่งชาติ ว่า ควรถนอมแหล่งสำรองปิโตรเลียมในประเทศไว้ ขณะที่รัฐบาลและบริษัทน้ำมันสหรัฐสนับสนุนการขยายการผลิตอย่างจริงจัง และเป็นขั้นตอนในแหล่งสำรองทางตะวันออกที่สำคัญคือในตะวันออกกลาง ที่เกิดนโยบายเช่นนี้ เนื่องจากมีความกังวลมากขึ้นว่าแหล่งสำรองน้ำมันในซีกโลกตะวันตกหมดไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่คาดว่าความต้องการน้ำมันจะสูงขึ้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงคราม รายงานของคณะบริหารปิโตรเลียมยามสงคราม (1944) ได้ระบุว่า อ่าวเปอร์เซียจะเป็นศูนย์กลางความโน้มถ่วงของการพัฒนาน้ำมันในอนาคต

บริษัทน้ำมันสหรัฐหลายแห่ง เช่น สแตนดาร์ด-แวกคิวอัม สแตนดาร์ดออยล์นิวเจอร์ซี่ และซินแคลร์ ได้ติดต่อกระทรวงต่างประเทศว่าสนใจจะขอสัมปทานน้ำมัน ซึ่งกระทรวงต่างประเทศก็สนับสนุนช่วยเจรจาให้ และคืบหน้าไปด้วยดี ขณะเดียวกันโซเวียตก็เจรจาขอสัมปทานน้ำมันจากอิหร่านเช่นกัน แต่ไม่ได้ผลมาก ทำให้ฝ่ายโซเวียตไม่พอใจในการลำเอียงนี้ จึงกดดันว่าถ้าจะให้สัมปทานน้ำมันทางบริเวณตะวันออกเฉียงใต้แก่สหรัฐ ก็ควรให้สัมปทานน้ำมันแก่โซเวียตทางตอนเหนือของประเทศด้วย ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต ทำให้รัฐบาลอิหร่านไม่มีเสถียรภาพ ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง

ในที่สุด ในเดือนธันวาคม มอสซาเด็ก (ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอิหร่าน) ได้เสนอต่อรัฐสภาอิหร่านและได้รับความเห็นชอบว่า ห้ามรัฐบาลให้สัมปทานแก่บริษัทน้ำมันใดโดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่มีการให้สัมปทานน้ำมันในขณะที่อิหร่านยังถูกยึดครอง เมื่อพ้นจากการยึดครองแล้ว รัฐสภาจึงพิจารณาเรื่องนี้ เท่ากับเป็นการยุติศึกสัมปทานน้ำมันของมหาอำนาจในอิหร่านลงชั่วคราว

(ดูวิทยานิพนธ์ของ Naomi R. Rosenblatt ชื่อ Oil and the Eastern Front : U.S. Foreign and Military Policy in Iran, 1941-1945 ใน repository.upenn.edu 2009)