พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ หลวงพ่อนารถ นาคเสโน วัดศรีโลหะฯ กาญจนบุรี

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ

หลวงพ่อนารถ นาคเสโน

วัดศรีโลหะฯ กาญจนบุรี

 

“พระครูโสภณประชานารถ” หรือ “หลวงพ่อนารถ นาคเสโน” วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง หมู่ 1 ต.ท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปของเมืองกาญจน์

วิทยาคมไม่เป็นสองรองใครในยุคนั้น วัตถุมงคลได้รับความนิยมแทบทุกชนิด แต่บางอย่างหาชมของแท้ได้ยากยิ่ง

โดยเฉพาะ “พระสมเด็จขาโต๊ะ”

พระสมเด็จขาโต๊ะ หลวงพ่อนารถ

สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 จนถึงปี พ.ศ.2508 โดยผสมเนื้อและกดพิมพ์เองที่วัด ซึ่งจะทยอยสร้างเรื่อยๆ ดังนั้น เนื้อพระจะมีสีอ่อนหรือเข้มแตกต่างกันไป ตามแต่ส่วนผสมของมวลสารในครกนั้นๆ

เท่าที่พบเห็นสามารถแยกเนื้อพระออกเป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อสีขาวอมชมพู (แก่ผง) และเนื้อสีน้ำตาลเข้ม (แก่ว่าน) โดยองค์พระมีทั้งที่ทาทอง และไม่ทาทอง

สันนิษฐานว่าฝังตะกรุดไว้ทุกองค์ ด้วยบางองค์จะเห็นตะกรุดโผล่ออกมาให้เห็น

ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จ ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธพิมพ์พระสมเด็จประทับนั่งปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น ภายในซุ้มระฆังแบบพระสมเด็จทั่วไป ที่ยอดขององค์พระมีการติดชันโรงเสกของหลวงพ่อ ในบางองค์จะมีการทาบรอนซ์ทอง

ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

พุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี ปืนผาหน้าไม้ มีดหอกของแหลมไม่ระคายผิว ซึ่งผู้ที่มีวัตถุมงคลต่างมีประสบการณ์มากมาย

ได้รับความนิยมสูงและนับวันจะหายาก

หลวงพ่อนารถ นาคเสโน

เดิมท่านมีชื่อว่า นารถ เพิ่มบุญ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม 2444 ที่ที่บ้านหมู่ 1 ต.หุน้ำส้ม อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายพิมพ์ และนางสมบุญ เพิ่มบุญ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แต่ด้วยที่ฐานะทางบ้านยากจน พอเรียนจนมีความรู้พออ่านออกเขียนได้จึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนาปลูกข้าว เลี้ยงครอบครัว

พ.ศ.2473 อายุครบ 29 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2473 มีพระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูยติวัตรวิบูล (พรต) วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “นาคเสโน”

จำพรรษาอยู่ศึกษาวิชากับหลวงพ่อพรต และเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง พ.ศ.2488 สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังเดินทางไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และไปศึกษาเพิ่มเติมจากหลวงพ่อนาก วัดท่าน้ำตื้น

ด้วยความศรัทธาในการศึกษาหาความรู้ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปศึกษากับหลวงพ่อสด จันทสโร วัดปากน้ำ เกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาธรรมกาย โดยไปเรียนวิชาด้วยถึง 2 ครั้ง 2 ครา

ในส่วนของอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ไปศึกษาวิชาในทางแก้คุณไสยจากคุณแม่มูล และจากนายคำ สุขอุดม ศึกษาวิชาคงกระพัน และแก้คุณไสย จากนายขัน ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากนายหมุน ศึกษาตำรายาเกี่ยวกับโรคไตจากนางเลียบ

พ.ศ.2494 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโลหะฯ ว่างลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส และพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ

เป็นพระเถระที่มีบุคลิกเรียบร้อย พูดจาฟังง่าย เมตตาสูง และสิ่งหนึ่งที่ทำเป็นประจำไม่เคยขาด คือ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน

 

ครั้งที่ยังมีพรรษาน้อย ชอบธุดงค์ไปทั่ว ศึกษาวิทยาคมต่างๆ ได้รู้จักและเป็นศิษย์กับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน

เชื่อกันว่า เป็นพระที่เก่งกล้าวิชาอาคมด้วยกันหลายแขนง โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน วิชาคงกระพัน และวิชาแก้คุณไสย

ปี พ.ศ.2519 หลวงพ่อนารถ พร้อมลูกศิษย์ขุดพบตะกั่วเก่า (ตะกั่วพันปี) จาก อ.ศรีสวัสดิ์ จำนวนหลายตัน หลอมเทเป็นก้อนขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายกับฝาขนมครก มีสนิมแดงเกาะอยู่ทั่วก้อนตะกั่ว เป็นตะกั่วชนิดเดียวกันกับพระท่ากระดาน กรุเก่า

เข้าใจว่า น่าจะเป็นตะกั่วที่หลอมเทไว้ทำพระท่ากระดานในสมัยโบราณยุคอู่ทอง ด้วยสถานที่ขุดพบ เป็นบริเวณเดียวกับที่พบกรุพระท่ากระดาน และภายในกรุที่ขุดพบพระท่ากระดาน ยังพบก้อนตะกั่วซึ่งมีลักษณะเดียวกัน ลงอักขระขอมโบราณ กำกับไว้บนก้อนตะกั่วบรรจุไว้ด้วยกันอีกจำนวนหนึ่ง

พ.ศ.2519-2520 นำตะกั่วเก่าที่ขุดได้ มาจัดสร้างพระเครื่องออกจำหน่าย เพื่อเป็นทุนในการสร้างโบสถ์ และอีกส่วนหนึ่งจัดเป็นทุนให้ชาวบ้านนำไปบูรณะวัดในเขต อ.ศรีสวัสดิ์

ทั้งนี้ การสร้างพระเครื่องนั้น จะใช้ตะกั่วเก่ามารีด แล้วกดเป็นพิมพ์พระ (ไม่มีการหลอมตะกั่ว) ส่วนใหญ่เป็นรูปพิมพ์เลียนแบบพระท่ากระดาน ยุคเก่า พิมพ์รูปแบบอื่นมีบ้าง แต่ไม่มากนัก

 

ลําดับงานปกครอง พ.ศ.2498 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูโสภณประชานารถ

พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

มรณภาพโดยอาการสงบจากโรคชรา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2530

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 57 •