Boundaries of Time ศิลปะในรอยต่อระหว่างปริมณฑลของเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Boundaries of Time

ศิลปะในรอยต่อระหว่างปริมณฑล

ของเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

เมื่อเราดูงานศิลปะสักชิ้นหนึ่ง เราอาจมองเห็นเส้นทางชีวิตของศิลปินสะท้อนออกมาในผลงานของเขาได้ ไม่มากก็น้อย

ศิลปินบางคนบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว หรือแม้แต่สะท้อนความเป็นไปในสังคมผ่านฝีไม้ลายมืออันจัดจ้านในการใช้ฝีแปรงสร้างสีสัน เส้นสาย สัญลักษณ์ หรือองค์ประกอบทางศิลปะ เพื่อส่งผ่านความรู้สึกนึกคิดภายในไปสู่ผู้ชมได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

ดังเช่นผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของ วนะ วรรลยางกูร ศิลปินภาพวาดเหมือนจริงผู้มีแนวคิดทางการเมืองอันเข้มข้น อย่าง Boundaries of Time

วนะ ศิลปินเจ้าของผลงานเปิดเผยถึงความเป็นมาเป็นไปเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้

ภาพวาดการตรวจโควิด-19 และการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในป่าแถบชายแดน

“นิทรรศการ Boundaries of Time เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง แต่เล่าในกรอบคิดที่ว่าด้วยพรมแดน โดยปกติ คำว่า ‘พรมแดน’ ที่คนเข้าใจทั่วๆ ไป ก็คือเส้นแบ่งพื้นที่หรือรอยต่อ อย่างพรมแดนระหว่างประเทศ แต่พรมแดนในที่นี้ ถูกใช้ในเรื่องเล่าทางการเมือง หมายถึงสิ่งที่เราจะไม่ข้ามไป อย่างเช่นเรื่องราวที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางการเมือง หรือการถูกลงทัณฑ์ทางสังคม ในวัฒนธรรมไทยเราเลือกที่เราจะไม่พูดถึงเรื่องบางเรื่อง เราไม่กล้าข้ามเส้น ไม่กล้าข้ามพรมแดนเหล่านี้ไป ผมมองว่ามิติเหล่านี้ก็เป็นพรมแดนแบบหนึ่ง เช่นเดียวกันกับพรมแดนของประเทศ เพราะสุดท้ายก็เป็นการสร้างเส้นสมมุติขึ้นมา ไม่ว่าจะจากกฎหมาย หรือความกลัว”

“ผลงานในนิทรรศการนี้ถูกเล่าเป็นสามส่วน ส่วนแรกเป็นภาพการตรวจโควิด-19 และการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในป่าแถบชายแดน ซึ่งมีที่มาจากภาพข่าวในสื่อต่างๆ ตอนเห็นภาพนี้ครั้งแรกผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดูเหนือจริง แต่นี่ดันเป็นเหตุการณ์จริงที่ทำโดยภาครัฐ โดยในช่วงที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มีเหตุการณ์ซ้อนทับกันสองเรื่อง หนึ่งคือการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคโควิด-19 สองคือรัฐประหารในประเทศพม่า คนพม่าที่เดินข้ามชายแดนไทย-พม่าเข้ามา เขาไม่ได้เข้ามาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเข้ามาทำมาหากินอย่างเดียว แต่เขาหนีภัยทางการเมืองเข้ามา ซึ่งโดยปกติ ถ้าประเทศไหนเกิดภัยจากสงครามกลางเมืองหรือความขัดแย้งภายในประเทศ ประเทศรอบข้างหรือประเทศเพื่อนบ้านก็ควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ หรือเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัย แต่รัฐบาลไทยที่มีผู้นำมาจากทหาร กลับผลักดันผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับพม่าไปหมด โดยอ้างว่าเป็นเหตุผลทางสาธารณสุข เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ความจริงถ้าใครตามข่าวช่วงนั้นจะทราบดีว่ารัฐบาลไทยไม่เคยมีท่าทีต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลพม่าเลยแม้แต่น้อย (นัยว่าเข้าอกเข้าใจกันเหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องเผด็จการ ยังไงยังงั้น!)”

ภาพวาดการตรวจโควิด-19 และการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในป่าแถบชายแดน

“พอเอาภาพเหล่านี้มาวาด มีหลายคนถามผมว่าจัดฉากขึ้นมาหรือเปล่า เพราะเรื่องราวในภาพดูแปลกประหลาดเหนือจริงมาก ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่เราเคยชินกับการที่ภาครัฐชอบทำอะไรพิลึกๆ แบบนี้ จนอาจทำให้เราไม่ได้สังเกตว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดก็เป็นได้ สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าในขณะที่ศิลปินไทยบางคนพยายามทำงานที่มีเนื้อหาเหนือจริงหรือแฟนตาซี แต่ผมกลับรู้สึกว่าประเทศเรานี่โคตรจะแฟนตาซีสุดๆ แล้ว”

“มีเหตุการณ์หลายอย่างที่แปลกประหลาดไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นจนผมงงว่าคนในประเทศเรารับกันได้ยังไง อย่างการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในป่าชายแดนที่คนปกติไม่มีใครไปเดินอยู่แล้ว พวกเขาจะทำไปทำไม ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุผลทางการเมือง แล้วเหตุผลทางการเมืองแบบนี้นี่แหละที่นำพาโศกนาฏกรรมมาสู่ประชาชน จากความงี่เง่าของผู้นำเผด็จการเหล่านี้”

ผู้ลี้ภัยการเมืองคดีมาตรา 112 ที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ

“สิ่งนี้เชื่อมโยงมาสู่ผลงานส่วนที่สอง ที่เป็นภาพวาดของคนใกล้ตัวผมที่ประสบภัยทางการเมือง หลายคนอาจจะทราบว่าพ่อของผม (วัฒน์ วรรลยางกูร) เองก็เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ผมเองก็เคยเจอลุงสนามหลวง (ชูชีพ ชีวะสุทธิ์) กับสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยการเมืองคดีมาตรา 112 ที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ, กรณีของสองคนนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าไม่ใช่ลุงสนามหลวงกับสยาม ก็คงเป็นพ่อผม เพราะว่าเขาอยู่ไม่ไกลกัน, หรือข่าวการอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยทิ้งศพลงในแม่น้ำโขงในช่วงก่อนหน้า ก็ทำให้คนที่ลี้ภัยอยู่เหมือนผึ้งแตกรังหนีกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จนนำไปสู่เหตุการณ์การหายไปของลุงสนามหลวงกับสยามในเวลาต่อมา”

88 ปี ภาพวาดที่หยิบเอาตัวละครในภาพวาด David with the Head

“หรือพี่ไผ่ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิต ถึงแม้เขาจะไม่ได้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ความพยายามที่จะข้ามเส้นข้ามพรมแดนบางอย่างก็ทำให้เขาถูกฆาตกรรม (จะว่าไปการถูกยิงตายกลางเมืองกลางวันแสกๆ แบบนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังมากกว่าเรื่องจริงด้วยซ้ำไป) ภาพของลุงสนามหลวงกับสยามที่ผมวาด คือคนคนหนึ่งที่มีสติสัมปชัญญะ มีการศึกษาที่ดี แต่อยู่ดีๆ พวกเขากลับหายสาบสูญไปจากโลกนี้ในขณะที่กำลังลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอาเซียน”

“ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ปัญหาแค่ในประเทศของเราแล้ว แต่เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมาตรฐานโลก (ไม่ต่างอะไรกับที่เขาสัพยอกกันว่า “โสมมประชาคมอาเซียน” อะไรเทือกนั้นแหละนะ!)”

ภาพวาดที่หยิบเอาองค์ประกอบจากผลงานศิลปะในประวัติศาสตร์ศิลป์บอกใบ้ถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย

“ส่วนที่สามเป็นผลงานที่ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ Momentos/Monuments & reMinders ที่แผนสำเร็จ Gallery ที่ใช้ผลงานที่อยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวบอกใบ้ในการดูงานแต่ละชิ้น อย่างภาพวาดที่หยิบเอาตัวละครในภาพวาด David with the Head of Goliath (1610) ของ คาราวัจโจ (Caravaggio) มาใส่ ผมมองว่าการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยกับอำนาจรัฐก็คล้ายกับการที่เดวิดต่อสู้กับยักษ์ ในฉากการเมืองไทย การที่คนตัวเล็กตัวน้อยต่อสู้กับยักษ์นั้นมีอยู่ตลอด ในขณะที่นับวันยักษ์ยิ่งตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมตั้งชื่อภาพนี้ว่า “88 ปี” ซึ่งนับจากเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ.2475 จนถึงปี พ.ศ.2563 ที่เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเปิดเสรีภาพทางการวิพากษ์วิจารณ์ที่ข้ามเส้น (ทะลุเพดาน) อย่างมาก ผมเคยอ่านมาว่า บรรยากาศก่อนเหตุการณ์ปี 2475 ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน”

“ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นตรงที่ทำให้คนตื่นรู้ หรือมีสำนึกที่ตระหนักในคุณค่าของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญหลังจากเหตุการณ์ 2475 เป็นต้นมา ในฐานะศิลปิน ตัวผมเองก็คงจะทำงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

ภาพวาดที่หยิบเอาองค์ประกอบจากผลงานศิลปะในประวัติศาสตร์ศิลป์บอกใบ้ถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นักวิชาการด้านการเมืองและภัณฑารักษ์ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะไทยและสากล ผู้สวมบทบาทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการครั้งนี้กล่าวเสริมท้ายว่า

“ผมกับวนะวางแผนเกี่ยวกับนิทรรศการนี้มานานพอสมควร หลังจากจบนิทรรศการชุดแรก Momentos/Monument ผมว่าชีวิตวนะมีความน่าสนใจหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัวของเขาเอง เรื่องของคุณพ่อของเขา เรื่องของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยที่ศิลปินได้เผชิญกับตัวเอง ที่เป็นทั้งประวัติศาสตร์ส่วนตัว และประวัติศาตร์ของประเทศชาติ ทั้งส่วนที่พูดได้และพูดไม่ได้, เมื่อศิลปินนำสิ่งเหล่านี้แปลความออกมาเป็นงานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบเอาผลงานในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก มาผสมผสานในภาพวาดที่เล่าถึงบริบททางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นการอุปมาอุปไมยที่น่าสนใจอย่างมาก”

ภาพวาดที่หยิบเอาองค์ประกอบจากผลงานศิลปะในประวัติศาสตร์ศิลป์บอกใบ้ถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย

“ตัวผมเองทำงานเกี่ยวกับศิลปะกับการเมืองมาอย่างยาวนาน ผมคิดว่าเรื่องที่วนะเล่ามาทั้งหมดเป็นสิ่งที่สังคมปกติเขาถกเถียงกันได้ แต่ในบ้านเรากลับเงียบจนน่าประหลาดใจ และนี่คือโจทย์ชั้นดีของศิลปิน และเป็นหน้าที่ที่จะต้องออกมาพูดผ่านผลงานของพวกเขา”

“เมื่อมองผลงานในนิทรรศการนี้รวมกัน เราจะเห็นว่าภาพวาดทั้งสามชุดของวนะเป็นผลงานที่สลายปริมณฑลของเวลา สถานที่ และอารยธรรมอันหลากหลาย จนกลายเป็นเรื่องของมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน สังคมใด ก็ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ ความพิเศษในผลงานของเขาคือการสร้างการสวนทางกันสองกระแส ระหว่างการทำให้เรื่องจริงกลายเป็นเรื่องเล่า และการทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นเรื่องจริงนั่นเอง”

นิทรรศการ Boundaries of Time โดย วนะ วรรลยางกูร และภัณฑารักษ์ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จัดแสดงที่ Manycuts Artspace อารี ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน – 28 สิงหาคม 2565 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB: @manycuts.ari หรือโทร. 06-3192-3921

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ •