ลุงสีเป็นเหตุ : ความขัดแย้งของยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์ แบบเอาบ้านเป็นฐานที่มั่น (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเป็นเหตุ

: ความขัดแย้งของยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์

แบบเอาบ้านเป็นฐานที่มั่น (จบ)

 

แผนภูมิทั้งสองข้างต้นคือการสรุปสาระสังเขปของข้อเสนอและผลเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังต่อเศรษฐกิจจีนของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ “ทวิหมุนเวียนในกับนอกประเทศ” (国内国际双循环) ซึ่งคณะกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำเสนอเมื่อพฤษภาคม ค.ศ.2020 แล้วเลขาธิการใหญ่ สีจิ้นผิงของพรรคมาทบทวนแก้ไขเน้นย้ำในเดือนกรกฎาคมศกเดียวกันอีกที (แผนภูมิบนเป็นของศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ Henrique Schneider แห่งมหาวิทยาลัย Nordakademie ในเยอรมนีที่ลงใน Geopolitical Intelligence Services https://www.gisreportsonline.com/r/china-dual-circulation/ & ส่วนแผนภูมิล่างมาจาก The Mercator Institute for China Studies – MERICS https://www.merics.org/en)

ศาสตราจารย์เอนริก ชไนเดอร์ รวบยอดความคิดว่าแก่นแท้ของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ “โลกาภิวัตน์แบบเอาบ้านเป็นฐานที่มั่น” (home-based globalization) นั่นเอง เขาขยายความว่า :

“จีนต้องการเข้าแทนที่สหรัฐและสหภาพยุโรปเพื่อกลายเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทระหว่างประเทศทั้งหลายจะถูกบีบบังคับให้ขึ้นต่อทำตามมาตรฐานจีน (โดยเฉพาะในด้านงานบริการและเทคโนโลยีก้าวหน้า) จึงจะได้เข้าถึงตลาดจีน มันวางแผนที่จะสร้างกรอบกติกาเพื่อประกันว่าบรรดาบริษัทต่างชาติซึ่งถูกล่อใจโดยรางวัลทางการเงินจากการได้เข้าถึงหรือรักษาการเข้าถึงตลาดจีนไว้ต่อไป จักต้องส่งเสริมมาตรฐานและเรื่องเร่งด่วนทางการเมืองของจีนในขอบเขตทั่วโลก เมื่อถูกคุกคามโดยการบอยคอตของผู้บริโภคจีนและการบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารอย่างพลการของทางการจีน น้อยบริษัทนักจะกล้าเลือกข้างในเหล่าประเด็นปัญหาที่ทางการปักกิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว

“นี่น่าจะจุดปะทุให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ขึ้นได้ กล่าวคือ ตลาดภายในของจีนถูกชักดึงเอาพลังมาใช้ เบื้องแรกสุดโดยเร่งรัดการสร้างเมืองขึ้น ต่อมาโดยปรับดุลแรงงานเสียใหม่ และหลังจากนั้นโดยชักนำกระแสไหลเวียนของเงินทุนให้ก้าวกระโดดไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีคุณภาพสุดยอด ตามแผนการดังกล่าว นี่น่าจะสร้างแรงโมเมนตัมให้สินค้าออกจีนเข้าครองตลาดได้ เปิดช่องให้จีนขับเคลื่อนทิศทางการค้าโลก”

 

ทว่า ในทางปฏิบัติ ภารกิจพึ่งตนเองพอเพียงในตนเอง & หาหุ้นส่วนต่างชาติใหม่ที่ไว้ใจได้ของจีน ยุคสีจิ้นผิงไม่ง่ายอย่างที่คิด มีทั้งผลสำเร็จและข้อจำกัด กล่าวคือ (“Fortified but not enriched”, The Economist, Briefing : China’s place in the world economy, 28 May 2022, pp. 13-15) :

ผลสำเร็จ :

– นอกจากผูกมิตรรัสเซีย – สหายร่วมชะตากรรมถูกตะวันตกแซงก์ชั่น – อย่างแข็งขัน จีนยังผลักดันความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP – Regional Comprehensive Economic Partnership https://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/ServiceData-Information/dft-service-data-privilege/Detail-dft-service-data-privilege/ArticleId/20770/-Regional-Comprehensive-Economic-Partnership-RCEP) อย่างเอาการเอางาน ในฐานะข้อตกลงทางการค้าที่แม้ค่อนข้างตื้น แต่ก็กว้างขวางครอบคลุมประเทศเอเชีย 15 ชาติซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของจีดีพีโลก

จีนยังได้ขอสมัครเข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP – Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership https://www.bangkokbiznews.com/business/877992) อันเป็นข้อตกลงการค้าที่ทะเยอทะยานซึ่งอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ริเริ่มขึ้นแต่กลับโยนทิ้งกลางคันในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์แล้วญี่ปุ่นมารับลูกต่อ

– ในการสำรวจความเห็นเหล่าผู้วางนโยบาย ผู้นำธุรกิจและชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเผยแพร่ออกมาต้นปีนี้ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสำรวจราว 76.7% ระบุว่าจีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจทรงอิทธิพลสูงสุดในภูมิภาค ส่วนใหญ่หรือ 64.4% กังวลต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน ส่วนน้อย 35.6% ยินดีต้อนรับมัน (The State of Southeast Asia : 2022 Survey Report, ISEAS Yusof Ishak Institute, p. 20) ดังที่รองศาสตราจารย์เฮนรี เกา แห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์สรุปว่า “ผมมองเห็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์กำลังถูกดึงเข้าไปในปริมณฑลแห่งแรงโน้มถ่วงของเศรษฐกิจจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น”

– ในหลายปีหลังนี้ จีนพยายามพัฒนาสายสัมพันธ์ทางการเงินใกช้ชิดขึ้นกับบรรดาประเทศที่จีนเชื่อว่า มีก๋ำเช้ง (น้ำใจไมตรี) ต่อตนซึ่งรวมทั้งส่งเสริมการใช้เงินสกุลเหรินหมินปี้เป็นเงินตราสากลด้วย ความคิดเบื้องหลังคือมุ่งลดการที่จีนต้องพึ่งพาเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐลง ช่วยให้จีนเปราะบางน้อยลงต่อการแซงก์ชั่นทางการเงินของอเมริกา เพื่อการนี้ จีนได้ค่อยๆ เปิดตลาดพันธบัตรของตนแก่นักลงทุนต่างชาติช้าๆ ต้นคริสต์ทศวรรษ 2010 ธนาคารกลางจีนเริ่มทำข้อตกลงสวอปเงินสกุลหยวนกับธนาคารกลางชาติอื่นๆ เพื่อให้สินเชื่อแก่กันได้ในยามฉุกเฉิน ธนาคารกลางจีนยังทำงานหนักในการพัฒนาเงินหยวนดิจิตอลเพื่อทำให้การค้าที่ใช้เงินสกุลหยวนสะดวกรวดเร็วและเฝ้าติดตามสังเกตตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ในปีนี้ บริษัทจีนต่างๆ ก็จ่ายค่าสินค้านำเข้าจากรัสเซียเป็นเงินสกุลหยวนซึ่งนับว่าเป็นการช่วยรัสเซียลดผลกระทบจากแซงก์ชั่นของตะวันตกลงและเสริมฐานะบทบาทเงินหยวนทางสากลด้วย

ข้อจำกัด :

– โลกตะวันตกยังคงทรงแรงถ่วงดึงเศรษฐกิจจีนไว้มาก จากการสำรวจของนิตยสาร The Economist เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (ในรูปการเข้าครอบครองกิจการบริษัทและการสร้างโรงงาน) การลงทุนในหลักทรัพย์ (ซื้อหุ้น หุ้นกู้ ฯลฯ) และการค้าระหว่างประเทศของนานาชาติ 120 ประเทศ แล้วเอามาเป็นฐานข้อมูลจัดอันดับว่าแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนแข็งแรงมากน้อยเพียงใด? พบว่าบรรดาประเทศที่จีนมีสัมพันธ์เศรษฐกิจด้วยใกล้ชิดที่สุดล้วนยังเป็นกลุ่มประเทศตะวันตก/เอียงข้างตะวันตก ได้แก่ อเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนีและญี่ปุ่น ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง เศรษฐกิจของประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ยิ่งผูกพันทับซ้อนกับจีนมากยิ่งขึ้น เช่น การลงทุนโดยตรงของเยอรมนีในจีนเพิ่มกว่าเท่าตัว ขณะที่การลงทุนระยะยาวมวลรวมของจีนในออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกันแม้ในยามที่นักการเมืองสองประเทศกล่าวโจมตีกันอย่างเผ็ดร้อน ในขณะเดียวกันนั้น สายสัมพันธ์ของจีนกับเหล่าประเทศที่น่าจะตกอยู่ในเขตอิทธิพลของจีน อย่างเช่น อินโดนีเซียและรัสเซีย กลับอ่อนด้อยถอยลง

– อุตสาหกรรมส่งออกจีนยังคงพึ่งพาอุปสงค์ของตะวันตกอย่างสูงอยู่ จริงที่ว่าในช่วงทศวรรษก่อน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจ ส่วนแบ่งของสินค้าออกจีนที่มุ่งสู่ตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกานั้น ได้ลดต่ำลงจาก 50% มาเหลือ 39% ทว่า นับแต่นั้นมา ตัวเลขดังกล่าวก็ค่อนข้างคงที่ เหล่าประเทศไม่ตะวันตกซึ่งจีนใคร่จะพัฒนาสัมพันธ์ทางการค้าให้สนิทแน่นแฟ้นขึ้นแทนนั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะเข้าแทนที่ตลาดมหึมาของอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นได้ มันเป็นเรื่องยากที่จะผลิตสินค้าและบริการไฮเทคเพิ่มมากขึ้น และคาดหวังจะขายส่วนแบ่งสินค้าดังกล่าวให้ประเทศลูกค้าเบี้ยน้อยหอยน้อยทั้งหลายมากขึ้นแทนที่จะเป็นบรรดาประเทศร่ำรวยด้วยในเวลาเดียวกัน ดังปรากฏว่าแม้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะจับมือกระชับไมตรีกับประธานาธิบดีปูตินแนบแน่นเพียงใด รัสเซียก็ซื้อสินค้าออกจีนไปแค่ 2% เท่านั้นเอง

– สายสัมพันธ์ทางการเงินของจีนกับมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงยังอ่อนปวกเปียก ยกตัวอย่างกรณีตลาดหุ้นกู้ของจีน งานวิจัยของทีมนักเศรษฐศาสตร์ 4 คนผู้สำรวจตรวจสอบหุ้นกู้ที่อยู่ในรูปเงินสกุลหยวนในครอบครองของนักลงทุนเอกชนทั้งหลายพบว่าในปีหลังๆ นี้ เงินไหลเข้ามาซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวส่วนใหญ่ที่สุดมาจากอเมริกา เขตเงินสกุลยูโรและญี่ปุ่น (Christopher Clayton, et al, “Internationalizing Like China”, 23 March 2022, https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=4055583)

นอกจากนี้ บทความของนักวิจัย IMF ที่ประเมินความสำคัญของเงินหยวนจีนต่อเงินตราสกุลอื่นๆ ว่ามันส่งอิทธิพลต่อกันอย่างไรก็สรุปข้อค้นพบว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเงินหยวนได้กลายเป็นเงินสกุลหลักในเอเชียโดยส่งอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคหรือผ่านสายโซ่อุปทานของเอเชียแต่อย่างใด (Camilo E Tovar Mora & Tania Mohd Nor, “Reserve Currency Blocs: A Changing International Monetary System?”, 24 January 2018, https://www.imf.org/en/Publications/WP/Issues/2018/01/25/Reserve-Currency-Blocs-A-Changing-International-Monetary-System-45586)

อาจสรุปได้ว่าปมเงื่อนความขัดแย้งในยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์ที่เอาบ้านเป็นฐานที่มั่นภายใต้สีจิ้นผิงอยู่ตรงการเข้าพัวพันกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศย่อมอำนวยประโยชน์ต่อกันและกันให้แก่บรรดาประเทศคู่ค้าคู่ลงทุน

แต่ขณะเดียวกันโดยธรรมชาติของมัน ก็ย่อมเปิดช่องทางให้ประเทศเหล่านั้น เปราะบางต่อกันและกันไปด้วยพร้อมกันในตัว

การพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงมีทั้งคุณและโทษอย่างเลี่ยงไม่พ้น เหลือวิสัยที่จะตั้งกำแพงไฟปิดกั้น กีดกันผลเสีย/จุดอ่อนเปราะทุกอย่างแล้วเลือกรับไว้แต่ผลดี/จุดแข็งได้ มิฉะนั้นก็ต้องปิดประเทศและอดอยากปากแห้งต่อไปเท่านั้นเอง