2475-2565 90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง… ไปเป็นอะไร? (2)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

2475-2565

90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง…

ไปเป็นอะไร? (2)

 

ถึงตอนนี้เราได้รู้แล้วว่าความเจริญ หรือความยากลำบากของประชาชนวันนี้และอนาคต มีสาเหตุมาจากการปกครองหลังรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 เพราะกลุ่มที่ทำรัฐประหารไม่ได้คิดพัฒนาประเทศ มัวแต่จะลงหลักปักฐานสร้างระบอบอํามาตยาธิปไตย และสืบทอดอำนาจ

สิบกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มอำนาจเก่าได้จัดสรรปันส่วนผสมอย่างลงตัวระหว่างนายทุน ขุนศึก ศักดินา แล้วขยายอิทธิพลเข้าไปทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในขณะที่อำนาจทางการทหารเป็นของพวกเขาอยู่แล้ว

การเลือกตั้งจากประชาชนจึงไม่มีผลอะไร ชนะเลือกตั้ง ก็ยังถูกล้ม

ถ้ายังสงสัยอยู่ว่าขณะนี้เราปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ต้องตอบคำถามว่า

ขณะนี้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ดังที่ประกาศเมื่อ 2475 จริงหรือไม่?

อํานาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มาจากประชาชนหรือไม่?

มีใครใช้อำนาจเหล่านี้ทำงานเพื่อประชาชนบ้าง?

หลายคนสรุปว่า 15 ปีหลังนี้ นอกจากอำนาจ คสช.แล้ว อำนาจตุลาการ ใหญ่ที่สุด

 

หลังรัฐประหาร 2549

อำนาจตุลาการ ใหญ่ที่สุด

2475 ยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จึงกำหนดให้มีองค์กรพิเศษทำหน้าที่วินิจฉัยว่ากฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จากนั้นก็มีในรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ เช่น พ.ศ.2511 พ.ศ.2517 พ.ศ.2521 พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2549 (ฉบับชั่วคราว)

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 จัดตั้งองค์กรโดยใช้ชื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นครั้งแรก และยกเลิกเมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และให้มีอีกครั้งหนึ่ง ตาม รัฐธรรมนูญ 2550

ก่อนรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 2549 ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี หลังจากรัฐประหารกันยายน 2549 เขาบอกว่า เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น” และก็ได้เพิ่มพื้นที่จนล้นท่วมอำนาจอื่น จนถึงปัจจุบัน

อำนาจตุลาการสามารถชี้ถูกชี้ผิด แต่ในยุคหลังนี้ นอกจากศาลทุกชนิดรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ยังมาจากอัยการ มาจากองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. หรือ กกต. จะฟ้องหรือไม่ ฟ้องทันหรือไม่

ลองมาย้อนดูผลงานอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่ถูกลากเข้าสู่การเมือง…

8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ (ครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอยคอตไม่ส่งสมัคร) เป็นโมฆะ เหตุผลคือการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ โดยมีมติ 8 ต่อ 6 และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

15 กันยายน 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. ไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก

19 กันยายน 2549 กลุ่มอำนาจเก่าไม่ปล่อยให้มีเลือกตั้งใหม่ กลัวจะพ่ายแพ้ จึงใช้กำลังรัฐประหาร

30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี 111 คน

24 สิงหาคม 2550 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

23 ธันวาคม 2550 ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ตุลาการภิวัฒน์ ปลด 2 นายกฯ

แล้วเปลี่ยนรัฐบาล

25 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง เริ่มต้นชุมนุม โดยอ้างว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

26 สิงหาคม 2551 ยึดทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุม รัฐบาลไม่สามารถใช้ประชุม ครม.ได้ ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนน แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป

9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร สุนทรเวช’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’

17 กันยายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช

7 ตุลาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้มีเหตุปะทะและเกิดการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 2 คน

21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดาไม่รอลงอาญา ทำให้อดีตนายกฯ ไม่กล้ากลับเข้าประเทศไทย

24-25 พฤศจิกายน 2551 พันธมิตรฯ ชุมนุมภายในพื้นที่ของสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย

ตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการทั้ง 3 พรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

9 ธันวาคม 2551 ปชป.จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2552 จึงเกิดรัฐบาลผสม 3 อำนาจ…ตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร และงูเห่า

 

ถึงชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ก็ถูกล้ม

26 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป นี่เป็นการตัดเสบียงฝ่ายตรงข้าม

มีนาคม-พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดง (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ มีการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต เกือบ 100 คน บาดเจ็บ 2,000 คน

29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป

3 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ประชาชนชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม เพื่อไทยชนะ ได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

29 พฤศจิกายน 2556 กปปส.ชุมนุมล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

12 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน

21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โมฆะ

ต่อมามีคำสั่งศาล 9 ข้อ ห้ามรัฐบาลขัดขวางการชุมนุม กปปส.

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง เพราะการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี แต่รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

เมื่อใช้ทั้งม็อบ ปิดกรุงเทพฯ ตุลาการภิวัฒน์หลายครั้งก็ยังเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ ถ้ารอต่อไปก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคาดได้ว่าอำนาจเก่าจะพ่ายแพ้อีก

 

…สุดท้ายต้องรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออก

แต่เป็นอำนาจนิติบัญญัติ หรือตุลาการ

นักรัฐศาสตร์ชี้ว่าอำนาจที่เปลี่ยนการเมืองคือ อำนาจตุลาการและอำนาจทางทหาร ซึ่งไม่ผูกพันกับเสียงของประชาชน ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้งสองระบบดำรงความยุติธรรมและเป็นกลาง ก็จะไม่มีความยุ่งยากเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการกระทำที่เอนเอียงหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามแรงผลักดันของอำนาจนอกระบบ ปัญหาจะเกิดซ้ำแบบเก่า บ้านเมืองจะวุ่นวาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยุติธรรมน่าจะเป็นทางออก

การที่พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.เกินครึ่งสภา ประชาชนหวังให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสรรหากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ผลก็คือ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น แม้ทำผ่านกระบวนการทางรัฐสภาก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ

20 พฤศจิกายน 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิก เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (จะแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถือว่าผิด)

ในช่วงเวลานั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้โต้แย้งว่า…ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจแต่อย่างใดเลย บอกว่าการแก้มาตรา 291 ขัดเจตนาของมาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้ตรรกะที่พิสดารที่สุด แนะนำว่าสมควรลงประชามติเสียก่อนทั้งๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ พร้อมทั้งบอกให้ไปแก้เป็นรายมาตรา

พอเขาจะแก้รายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็รับคำร้องคัดค้านอีกทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ เพราะการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจ หน้าที่ของรัฐสภา และไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บอกว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

สุดท้าย คสช.ก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้ง แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานต่อแล้วร่างฉบับ 2560 ที่พ่วง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมาแทน

90 ปีผ่านไป ไม่ว่าใครจะรัฐประหาร ตุลาการก็ยังมีอำนาจ แต่ผู้ที่มีอำนาจหลังรัฐประหารทุกครั้งคือ ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งต้องบรรยายอำนาจของท่านในตอนต่อไป