คุยกับรองผู้ว่าฯ ‘ทวิดา’ เมื่อผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติ ต้องรับมือสถานการณ์ ‘ไฟไหม้’ กทม./เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

คุยกับรองผู้ว่าฯ ‘ทวิดา’

เมื่อผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติ

ต้องรับมือสถานการณ์ ‘ไฟไหม้’ กทม.

 

ก่อนมาเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ทวิดา กมลเวชช” เคยทำงานที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาก่อน

ไม่ใช่เพียงแค่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีเท่านั้น แต่ในทางวิชาการ เธอยังมีความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการภัยพิบัติ

รายการ “เอ็กซ์อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ซึ่งเพิ่งสัมภาษณ์อาจารย์ทวิดาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน จึงไม่รอช้าที่จะไถ่ถามรองผู้ว่าฯ หน้าใหม่ เรื่องเหตุเพลิงไหม้ในชุมชนบ่อนไก่

บางคำตอบ-ความรู้สึกกดดันของรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลงานด้านภัยพิบัติ ยังอาจเชื่อมโยงมาถึงการรับมือสถานการณ์อัคคีภัยที่ย่านสำเพ็งในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้นได้ด้วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

: เห็นอะไรบ้างจากเหตุไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่?

แต่ไหนแต่ไรมา เราก็เป็นนักวิชาการ ถามว่าเรารู้หลักการ มันก็รู้แหละ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แล้วพอมันเกิดขึ้น ทีนี้มันเป็นสนามจริงแล้วว่าหลักการที่เรามีอยู่มันใช้ได้แค่ไหน?

ภัยพิบัติมันมีกลเม็ดเด็ดพรายอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่าให้รู้มาแค่ไหน ทุกครั้งที่มันเกิดเหตุการณ์ มันจะมี “บางอย่าง” เสมอ อันนี้เรารู้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ เรารู้อยู่แล้วว่าจะมีโจทย์บางอย่างที่มันยากสำหรับเรา ที่เราต้องแก้เดี๋ยวนั้น ที่เราจะพลาด

แต่ว่าเคสอันนี้ คือชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง เป็นเคสที่ยากที่สุดในการจัดการเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าความพร้อมเดิมไม่มีอยู่ อันนี้เรารู้ แต่ก็คิดไม่ถึงว่า (ความไม่พร้อม) มันอยู่ในดีกรีที่สูงกว่าที่เราคิด

คือว่าสถานีดับเพลิงใกล้ ไปถึงได้เร็วน่ะเร็วจริง แต่ปัญหาคือ “ถึงที่” กับ “เข้าไปได้” มันคนละเรื่องกัน แล้วเรารู้อยู่แล้วว่าพื้นที่แบบนี้เข้ายาก ก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะเหมือนที่เราเห็นที่คลองเตยมาก่อนหน้านั้น คือมีการเดินท่อเข้าไปข้างใน มีแหล่งน้ำอยู่ตรงกลาง แต่อันนี้ไม่มีเลย

แล้วก็ในช่วงที่มีความปัจจุบันทันด่วนมาก ประชาชนสวนออกมา ซึ่งประชาชนต้องสวนน่ะค่ะ ยังไงประชาชนก็ต้องออก มันไม่มีวิธีดีกว่านั้น แต่ว่าหน่วย (ดับเพลิง) ก็ต้องเข้า เพราะฉะนั้น พูดตรงๆ คือเป็นพื้นที่ที่ยากมากหากเกิดเรื่อง

ดังนั้น วิธีที่จะต้องจัดการมัน ซึ่งพูดตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว คือมันไม่ใช่เน้นที่สถานีดับเพลิงใกล้ วิธีนี้ไม่ใช่ วิธีที่ควรจะเป็นจริงๆ คือการที่ตั้งแต่แรกเลย (ต้องมี) การตรวจสาย (ไฟ) เครื่องไฟฟ้า

เขาเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นอยู่แล้ว เขาเป็นชุมชนที่ไม่สามารถจะมีระบบที่แบบว่าวิลิศมาหรา ตัดไฟตั้งแต่ต้นมันทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่ควรมีภาวะเสี่ยงขนาดนี้อยู่แต่แรก

อันที่สอง มันต้องให้ข้างในเป็นฝ่ายมีน้ำ อันนี้พูดตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถามว่าหนักหนาไหม? หนักหนาค่ะ เพราะรู้ว่าเป็นเคสยาก แล้วก็เป็นเคสที่มันต้องแก้ก่อน ไม่ใช่ไปแก้ ณ เวลาที่มันเกิด แล้วก็ทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันเป็นโจทย์ที่ต้องระวังไม่ให้ครั้งหน้ามันเป็นอย่างนี้มากกว่า

แต่ก็หนักใจต่ออีกคือว่ามันมีพื้นที่แบบนี้เยอะมาก แล้วก็การเข้าไปแก้ตอนนี้ คิดว่าด้วยกำลังของแต่ละเขตพื้นที่ บวกกับงบประมาณที่ไม่ได้จัดวางให้โฟกัสตรงนี้ตั้งแต่แรก ยังไม่แน่ใจว่าจะขยับเร็วได้แค่ไหน แต่จะทำน่ะค่ะ ยังไงก็จะทำ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเจออะไรต่ออีก ว่ามันทำได้แค่ไหน? ช้าไหม? ทำไม่ได้ (ติด) ข้อกำหนดหรือเปล่า?

ยอมรับว่าหนักใจพอสมควร ไม่คิดว่าความไม่พร้อมจะเยอะขนาดนี้

: สอนหนังสือเรื่องบริหารจัดการภัยพิบัติมาตลอด พอรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ก็เจอกรณีแบบนี้ทันที กางตำราทันไหม? หรือต้องใช้ประสบการณ์ล้วนๆ?

สองอย่างวิ่งเข้าหากันมากกว่า พูดง่ายๆ เราถูกลองดี ว่าเรามีดีแค่ไหน? แต่อย่างที่บอก ทุกเรื่องที่รู้มันกลายเป็นการมีประโยชน์กับบทเรียน (เพื่อใช้ในอนาคต) ซึ่งใจเรามันไม่พอไง มันเจ็บจี๊ดมากก็คือว่า พอเราไปถึง เราเห็นเลย เส้นทางที่ถูกบล็อก เห็นว่ากำแพงต้องถูกทุบ เห็นความสูงของพื้นที่ เห็นหลังคาสังกะสี

เพราะฉะนั้น ถามว่าพอเราเห็น แล้วทำไมไม่ทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้? นี่ไง เจ็บไหมล่ะ?

คือ (บทเรียน) มันใช้ได้แต่ไม่ทัน แล้วกำลังต้องไปใช้กับที่อื่น ก็รู้อีกว่าจะไม่ทัน ถามว่าทำไมจะยังไม่ทัน? คือมันไม่ได้เสกได้พรุ่งนี้ ถ้าเสกได้คงเสกแล้วแหละ แต่คือมันทำไม่ได้ อันนี้มันเป็นภาวะอึดอัดมาก

ส่วนอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ทันกว่านั้นก็คือว่า ตอนนี้ สิ่งที่ขัดใจมากที่สุด คือเรื่องจัดการศูนย์พักพิง ก็กำลังตามติดพื้นที่ คือการดูแลพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ยังไงก็ต้องเป็นของเขตพื้นที่

ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ เรา (ทำงาน) อยู่กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยค่อนข้างเยอะ เราจัดวางระบบ (รับมือภัยพิบัติ) ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น เราทราบว่า สำหรับกรุงเทพมหานคร ระบบการบัญชาการในพื้นที่ ระบบการดูแลพื้นที่แบบสนธิกำลังหลายฝ่าย อาจจะไม่ได้อยู่ในโฟกัสของท่านผู้อำนวยการเขตมาก่อน

โดยตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นผู้อำนวยการสาธารณภัยเขต มันอาจจะไม่ได้รับการสถาปนาระบบให้มันฟังก์ชั่นได้โดยอัตโนมัติ

แต่ถ้าเราอยากแก้ จังหวะนี้เราทัน ถามว่าทำไมเราทันแม้ว่าเราจะตามหลัง? เพราะเรามีผู้ประสบภัยไปกองอยู่แล้วที่ศูนย์พักพิง แล้วเราต้องจัดการให้ดี ตอนนี้จะเป็นตัวที่พิสูจน์เราแล้วว่า ตอนนี้เอาให้ทัน

แต่มันก็ติดขัดไปหมดเลย คือว่ากำลัง การแบ่งงาน ของ (บริจาค) ที่เริ่มเทมาเรื่อยๆ จนจะเป็นทะเลของ แล้วก็สภาพความเป็นอยู่

ขณะนี้ตัวศูนย์พักพิงเอง ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเนี่ย จริงๆ มันมีหลายชั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะจัดสรรมันให้ดีกว่านี้นิดหนึ่ง? ในแง่ข้าวของ ในแง่ของการทำให้คนเขาอยู่แล้วมันไม่ใช่แค่ไปซุกหัวนอนน่ะ คนมันก็ทรมานใจอยู่แล้ว บ้านเขาเสียหาย

ตรงนี้ที่อึดอัดสุด ตรงนี้คือที่ที่แบบ เออ ระบบราชการมันหนืดจริง…แต่ทำอยู่นะคะ หลายๆ หน่วยก็พยายามปรับตัว เราก็อาจจะด้วยความเร็วด้วยความแรง บางทีมันก็อาจต้องใจเย็นหน่อย ก็กำลังพยายามอยู่ที่จะทำให้มันทันใจ

: ชัยชนะระดับฉันทามติของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงมากของประชาชน รองผู้ว่าฯ จะจัดการอย่างไรกับความคาดหวังดังกล่าว?

จริงๆ คำพูดของอาจารย์ชัชชาติถูกอยู่แล้ว ก็คือว่า เวลาทุกคนบอกเราว่าเขาคาดหวังกับเรามาก เราก็จะตอบเลยว่า เราไม่ปฏิเสธว่าความคาดหวังมีมาที่เรา แต่ขณะเดียวกัน เราอยากให้ความคาดหวังมันเปลี่ยนเป็นให้ทุกคนช่วยเราหน่อย คำพูดนี้สำคัญมาก คำว่า ‘ช่วยเราหน่อย’ นี่สำคัญจริงๆ

อย่างตอนนี้ที่ว่าเราหนืดอยู่กับระบบราชการ กับวิถีการทำงานบางอย่าง เราหนืดจริง ดังนั้น เราอยากให้ช่วยเราไง คือถ้าเกิดสมมุติทุกคนลุกขึ้นมา เพื่อที่จะปรับ แล้วก็ให้มันไว ทำให้มันเป็นการร่วมมือ

งวดนี้ จะว่าไปมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ยิ้มได้ ก็คือว่าหน่วยงานที่ไปแล้วพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ อย่างพันธมิตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่านอธิบดีก็ส่งคนมาทันทีเลย จะให้ทำอะไรจะให้ช่วยอะไร ก็รอที่จะประสานงานอยู่เต็มที่

ภาคเอกชนเข้ามา มีคนพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนเรื่องทรัพยากร จนตอนนี้เราเริ่มจะจัดการลำบากแล้ว แล้วก็มีกระทรวงต่างๆ หรือใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์อะไร เราถือว่าจะเข้ามาช่วย

แต่ระบบพื้นฐานเรามันไม่พร้อมที่จะจัดการกับการสนธิกำลังในลักษณะนี้ แค่กำลังของตัวเองเดี่ยวๆ ก็จัดการได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น เห็นใจสำนักงานเขตนะคะ ไม่ใช่ไม่เห็นใจ แต่ว่ามันเหลือกำลังของความรู้หรือความชำนาญหรือการฝึกที่มีมา

เดี๋ยวต้องจัดการใหม่ทั้งหมด การทำให้ผู้อำนวยการสาธารณภัยเขต (ปฏิบัติหน้าที่ได้จริง) การทำให้รูปแบบของการสั่งการและการสนธิกำลังดีขึ้น ทันไหม? จะพยายามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่มั่นใจว่าไม่ทันเท่าความคาดหวัง

อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคะแนนของอาจารย์ชัชชาติแต่เพียงคนเดียว ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเข้ามาด้วยความล้นหลามแล้วคนคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่แรงกดดันนี้มันมีมากขึ้น เพราะพอดีว่ามันเป็นเรื่องในความเชี่ยวชาญ (ของตนเอง) ถ้าเราไม่รู้อะไรเลยแล้วไม่มีคำตอบ มันอาจไม่กดดันเท่านี้ อันนี้ เรารู้ว่ามันต้องทะลวง แต่เรายังไปไม่ได้เท่าไหร่ มันก็เลยกดดัน

(จะ) จัดการมันยังไง? ก็สู้ยิบตา มันไม่มีวิธีอื่น