คำ ผกา | อะไรเอ่ยทั้งตื้นทั้งไร้รสนิยม

คำ ผกา

มันเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากที่กรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานอะไรสักอย่างที่ทำงานอยู่บนเงินภาษีประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนหันมาใช้เตาอั้งโล่มหาเศรษฐีอะไรนั่น พร้อมทั้งสรรพคุณที่บอกว่า เตานี้ประหยัดพลังงาน ให้ความร้อนสูง ทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 500-600 บาท

เพราะสิ่งที่เราคาดหวังจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องพลังงานทดแทนคือ การพัฒนาพลังงาน น้ำ ลม แสงอาทิตย์ เพื่อเป็นพลังงาน “ทดแทน” หรือพลังงานสำรอง ทำให้ประชาชนไทยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มอำนาจต่อรองของเราในตลาดพลังงานที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ดังเช่นที่นายกฯ และ รมต.พลังงานพูดอยู่บ่อยๆ ว่า น้ำมันเราต้องนำเข้า ดังนั้น มันจึงเรื่องปัจจัยภานนอกที่เราควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เราคาดหวังจะเห็นในวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เช่น รัฐบาลที่โครงการ “บ้านเอื้ออาทร” หรือ public housing หรือที่เรียกว่า บ้านการเคหะ ที่มีทั้งในรูปของอพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ แฟลต บ้านจัดสรร ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ทุกโครงการ มีทั้งบ้าน/ห้องให้เช่าในราคากึ่งรัฐสวัสดิการ หรือให้ประชาชนซื้อโดยปราศจากดอกเบี้ย หรือมีดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำมา

จากนั้น บ้านทุกหลัง ทุกโครงการของการเคหะ เป็นบ้านที่ถูกออกแบบมาเป็นบ้าน “ประหยัดพลังงาน” หรือบ้านที่ใช้พลังงานทดแทนอย่างหลากหลาย

นวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานของการเคหะ เป็นบ้านต้นแบบที่ให้ภาคเอกชนนำไปใช้ ประชาชนลอกเลียนแบบนำไปใช้ได้

เมื่อมีการใช้นวัตกรรมการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานอย่างกว้างขวาง ต้นทุนของการสร้างบ้านประหยัดพลังงานก็จะถูกลง ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

สุดท้าย วิถี หรือ orientation ของการสร้างบ้าน การใช้ชีวิตของคนไทยจะ “สมาร์ต” มากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ไม่เพียงแต่ดีต่อโลก แต่ยังลดรายจ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน

และเมื่อเกิดวิกฤตราคาพลังงานไปทั้งโลก วิกฤตนี้ก็จะกระทบต่อประชาชนไม่มากนัก

เช่น การที่เราสามารถประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟได้เยอะมาก ก็ทำให้เราสามารถแบกรับราคาน้ำมันที่สูงตามกลไกลตลาดได้ แบกรับราคาค่าขนส่งที่แพงขึ้นได้ แบกรับราคาอาหารที่แพงขึ้นได้

เพราะบ้านเรือนที่เราอยู่อาศัยนั้น ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่เราจนเกิดกว่าเหตุ

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องที่พูดไปแล้วห้าร้อยล้านครั้งว่า ถ้าเพียงเรามีระบบขนส่งมวลชน และมีทางเลือกในการเดินทาง ที่พึ่งพาพลังงานน้ำมันน้อยลง เช่น การเดิน หรือการปั่นจักรยาน วิกฤตราคาพลังงานก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเรารุนแรงเกินไป

การอำนวยให้คนเดิน หรือปั่นจักรยานเพื่อการเดินทางได้ ไม่ใช่การทำเลนจักรยานที่ไม่เคยใช้งานได้จริง แต่หมายถึงการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการเดิน การปั่นจักรยาน

เช่น เมืองต้องมีต้นไม้มากพอที่จะลดความร้อนจากอากาศ

บ้านเรือนประชาชนที่ได้รับการออกแบบมาอย่างสมาร์ต ประหยัดพลังงานย่อมนำมาสู่การใช้เครื่องปรับอากาศที่น้อยลง ใช้แอร์น้อยลง ความร้อนจากคอมเพรสเซอร์แอร์ที่พ่นออกมาก็น้อยลง

คนขับรถน้อยลง ความร้อนจากรถยนต์ถูกปล่อยออกมาน้อยลง อุณหภูมิโดยรวมของเมืองก็ลด อากาศสะอาดขึ้น เมืองก็น่าเดิน น่าปั่นจักรยานไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราก่นด่า เรียกร้องกดดัน “การทำงาน” ของรัฐบาล มันไม่ใช่แค่น้ำมันขึ้นราคาแล้วเราจะตรึงราคาน้ำมันอย่างไร เพราะการตรึงราคาน้ำมันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

การดันทุรังตรึงราคาไปเรื่อยๆ ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปเรื่อยๆ รังแต่จะนำมาซึ่งปัญหาหนี้สิน การกู้เงินเพิ่ม เสี่ยงต่อภาวะล้มละลายในภายหลัง และรัฐบาลเองก็จะออกมาโอดครวญกับประชาชนว่า

“ไม่มีเงินมาอุ้มราคาน้ำมันแล้ว ประชาชนต้องเข้าใจสิ นี่มันเป็นเรื่องตลาดโลก และกลไกราคาที่ตลาดภายนอกอันเราควบคุมไม่ได้”

ประชาชนอย่างฉันก็อยากจะร้องกรี๊ดแล้วบอกว่า บริหารประเทศมาก็หลายปีแล้วทำไมจึงไม่มีผลงานของการบริหารจัดการพลังงานที่จะไม่ต้องมาจบลงที่การแก้ไขปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด

สิ่งที่เรียกว่านโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบมหภาคมีบ้างไหม

หรือตลอดเวลาที่เข้ามาเป็นรัฐบาลไม่เคยสะกดคำว่า “ทำงาน” เป็นกันเลยแม้แต่คนเดียว ราวกับว่า การทำงานคือการตื่นเช้าขึ้นมาแล้วใส่สูทออกไปประชุมกันเป็นวันๆ จากนั้นก็เซ็นหนังสือตามที่ข้าราชการส่งมาให้เซ็น

ไม่เคยเก็ตว่า การบริหารหมายถึงการวางแผน การสร้างนโยบาย การวางเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศชาติ

และความเปลี่ยนแปลงนั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกทัศน์ มโนทัศน์ เปลี่ยนในระดับกระบวนทัศน์ เปลี่ยนเหมือนสมาร์ตโฟนมาเปลี่ยนชีวิตมนุษย์จากมนุษย์อะนาล็อก มาเป็นมนุษย์ดิจิตอล

มันต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้ ถึงเรียกว่าการบริหารประเทศ และการบริหารประเทศไม่ใช่แค่การต่อลมหายใจคนวันต่อวันผ่านการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตกผ่านบัตรคนจน หรือการตรึงราคา ลดราคา ไปขอบริษัทมาม่าห้ามขึ้นราคามาม่า ยี่สิบห้าสตางค์หรือหนึ่งบาท

อันนี้ไม่เรียกว่า ทำงาน อันนี้เรียกว่า ปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวไปวันๆ

นอกจากจะทำงานแบบไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นว่ามีวิสัยทัศน์ระยะยาวแล้วยังแสดงความตื้นเขินผ่านการเสนอไอเดียสุดบรรเจิดเรื่องเตาอั้งโล่ อันแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ขาดความสามารถ แต่ยังขาดความรู้ ขาดสติปัญญา ปราศจากทักษะในการใช้ชีวิต เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เตาอั้งโล่หรือเตาถ่านนั้นมีสองสถานะในสังคมไทยคือ

หนึ่ง มันถูกใช้ในฐานะเป็น “ความฟุ่มเฟือย” ราดหน้า หรือไข่เจียวเจ๊ไฝ จะขายไม่ได้แพงขนาดนั้นหรือจะไม่ได้ดาวมิชลิน หากเจ๊ไฝใช้เตาแก๊สทำอาหาร

การใช้เตาถ่านทำอาหารสามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาลในยุคที่การใช้เตาแก๊ส เตาไฟฟ้า หมายถึง “ความเร็ว” และเราก็รู้ว่า สิ่งที่แพงที่สุดคือ เวลา ดังนั้น คนที่มีเวลาพอที่จะสโลว์ไลฟ์ ใช้เตาถ่าน ต้องเป็นคนเหลือเฟือในชีวิตจริงๆ

อาหารที่ปรุงด้วยเตาถ่าน ถูกอธิบายว่า มันมีกลิ่น มันหอม มันสุกอย่างเนิบช้า หรือร้อนแรงได้หากเราเชี่ยวชาญในการควบคุมไฟมากพอ และความเชี่ยวชาญนั้นก็มีราคาของมัน

บ้านคนมีเงิน มีสวน จึงมีเตาถ่าน เตาปิ้งย่าง ที่ใช้ถ่าน ร้านพิซซ่าราคาแพงก็ต้องอบด้วยเตาที่ใช้ฟืน

การใช้เตาแก๊สคือสิ่งที่ดาษดื่น หาราคาค่างวดอะไรไม่ได้ คนที่จนที่สุดคือคนที่อยู่หอพักราคาถูกแล้วใช้กระทะไฟฟ้า ไม่มีความฟุ่มเฟือยจะกินอาหารสโลว์ไลฟ์เตาถ่านแน่นอน

สอง เตาถ่านในชนบท ชาวบ้านถูกใช้ควบคู่กับเตาแก๊ส เพราะชาวบ้านฉลาดพอจะรู้ว่าหากต้องการเคี่ยวตุ๋นอะไรนานๆ เขาก็ใช้เตาถ่าน

แต่ถ้าทำอาหารที่สุกอย่างรวดเร็วเขาก็ใช้เตาแก๊ส เพราะผัดผัก ไข่เจียว ไข่ดาว ข้าวผัด ไม่ได้ทำให้เปลืองแก๊สขนาดนั้น

ดังนั้น ในวิถีชีวิตของชาวบ้านเขาไฮบริดการใช้เตาจากพลังงาน “ทางเลือก” มาตั้งนานแล้ว และมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้สมอง ความรู้ ความเชี่ยวชาญอะไรจากกรมพลังงานเลยแม้แต่นิดเดียว

เสนอไอเดียแบบนี้ออกมา คนเลยรู้ว่านอกจากจะไม่เก่งแล้วยังไม่มีรสนิยม และเริ่มไม่แน่ใจว่าแม้แต่ common sense นั้นมีหรือไม่?

และถ้าคิดอะไรไม่ออก ก็นั่งอมลิ้นไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลนี้หมดวาระ แล้วภาวนาให้เราได้รัฐบาลใหม่ที่สะกดคำว่า “ทำงาน” เป็น จากนั้นค่อยพยายามทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันออกสู่สายตาประชาชนก็ได้

ประชาชนทนมา 7 ปีกว่าละ ทนอีกไม่กี่เดือนจะเป็นไรไป