ดอกเบี้ยขาขึ้นระเบิดหนี้ครัวเรือน ‘เกียรตินาคิน’ ห่วงกลุ่มรายได้น้อย แนะ 2 ทางปฏิรูปโครงสร้างศก.

“เกียรตินาคิน”เตือนดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจุดชนวนระเบิดหนี้ครัวเรือนไทย กังวลกลุ่มรายได้น้อย20% รายได้ 1 หมื่นบ. รายจ่าย 1.2 หมื่นบ. ค่าอาหาร-พลังงานซ้ำเติม แนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน 2 แนวทาง

 

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) เปิดเผยรายงานเมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน 2565) คาดการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจุดชนวนระเบิดหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย โดยกลุ่มที่มีความน่ากังวลมาก คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของจีดีพี และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกิดจากการมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อบริโภค

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและหนักกว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด ครัวเรือนรายได้น้อยมีตระกร้าสินค้ากลุ่มอาหารและพลังงานได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า ส่งผลให้เงินออมลดลง ความสามารถจ่ายคืนหนี้ลดลง ทำให้ทิศทางหนี้เสียของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดวิกฤตระยะสั้นของไทยอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังดี แต่ระยะยาวมีความเสี่ยงต้องติดตาม คือ 1.การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 2.การเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินระยะยาวของประเทศเศรษฐกิจหลัก 3.ภาคการท่องเที่ยวอาจไม่เติบโตได้ดีเหมือนเก่า จีนกลับมาส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

การแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมุ่งไปที่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว ไม่มีประเทศใดปฏิรูปเศรษฐกิจได้สำเร็จในเวลาอันสั้นและนโยบายการเงินมีบทบาทควบคุมลักษณะของวัฏจักรหนี้ โดยนโยบายการเงินต้องไม่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยหนี้ต่อไป จะทำให้เศรษฐกิจซึมยาว เป็นทางออกที่ 1 ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อนำเศรษฐกิจเข้าสู่กระบวนการของการลดภาระหนี้สินในระบบ ต้องระวังไม่ให้เร็วเกินไปและนำไปสู่ภาวะวิกฤตเป็นทางออกที่ 2 มองแง่ดี

หากวัฏจักรหนี้กำลังผ่านจุดสูงสุดในช่วงหลังจากนี้ การมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปได้อย่างไม่บิดเบือน เพราะไม่มีหนี้มาช่วยให้โตอีกต่อไป เป็นสัญญาณเร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว