ชวน เปิดงาน 90ปี รัฐสภา ชี้ กระบวนการปชต.ล้มลุกคลุกคลาน ห่วงธุรกิจการเมืองก่อทุจริต

ชวน เปิดงาน 90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง จัดนิทรรศการไทม์ไลน์ 90 ปีรัฐสภา สานต่อภารกิจคนรุ่นก่อน-ทบทวนเรื่องล้าหลัง เสริมสร้างความเข้าใจระบอบปชต.  ชี้กระบวนการล้มลุกคลุกคลาน หลายวิกฤตเกิดจากพฤติกรรมคนใช้รธน. ห่วง ธุรกิจการเมืองเป็นที่มาการทุจริตโกงกิน

 

วันที่ 27 มิ.ย. 2565 เมื่อเวลา 08.30 น. บริเวณรอบสระน้ำโซนกลาง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ 90 ปี รัฐสภา 90 ความทรงจำ โดยมีนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต้อนรับ และมีคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ รวมทั้งตัวแทน ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ส.ว. และผู้บริหาร บุคลากร ของทั้งสองสภาฯ เข้าร่วมงาน

โดยนายชวน กล่าวว่า ในโอกาสครบ 90 ปี การสถาปนารัฐสภา นอกจากกิจกรรมการทำบุญและมีพิธีทางศาสนาอย่างที่เคยจัดมาทุกปีแล้ว ในครั้งนี้รัฐสภาจะจัดกิจกรรมการเสวนาจากผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง พร้อมนิทรรศการอื่นๆ ด้วย

ตนเห็นว่าเพื่อไม่ให้งานครบรอบ 90 ปี ของวันสถาปนารัฐสภาผ่านไปโดยไม่มีอะไร หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงเสนอให้เลขาธิการสภาฯ รับไปพิจารณาด้วยเวลาที่จํากัดนี้ หากสามารถทําเอกสารด้านข้อมูลของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐสภาได้ จะเป็นประโยชน์มาก ตนขอถือโอกาสนี้ขอบคุณเลขาธิการสาฯ และคณะทำงานที่ได้ระดมกำลังกัน จนหนังสือ 90 ปี รัฐสภา เป็นรูปเล่มขึ้นได้

นายชวน กล่าวต่อว่า รัฐสภาดำเนินการมา 90 ปีแล้ว วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้จัดงานรำลึกภารกิจที่คนรุ่นก่อนทำไว้ เพื่อสานต่อสิ่งที่ดีงาม และทบทวนสิ่งที่เห็นว่าล้าหลัง วันนี้รัฐสภาได้จัดงานนิทรรศการบอกเล่า ผลการดำเนินการตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา หวังว่าจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ในระดับหนึ่ง

ชวนยังได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ราบรื่น พูดได้เต็มปากว่าล้มลุกคลุกคลาน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบางสมัยระบบนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง บางสมัยมาจากการแต่งตั้ง

ในส่วนของระบบการเลือกตั้งมีความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ช่วงแรกเป็นระบบรวมเขต แต่ในภาพความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่ในจังหวัดใหญ่จะมีเขตเดียว ต่อมาในปี 2518 เป็นจุดเริ่มต้นของระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยกำหนดเขตละไม่เกิน 3 คน ถือเป็นความก้าวหน้าชัดเจน ระบบนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ เรื่อยมา และเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2540 ที่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาปี 2562 ก็เปลี่ยนแปลงเรื่องการคิดคะแนน

“ทูตเยอรมนีมาคุยเรื่องระบบเลือกตั้งกับผม บอกว่าที่ไทยใช้อยู่ขณะนี้ เยอรมนีเคยใช้ แล้วมีปัญหา จึงกลับไปใช้แบบที่ไทยได้ยกเลิกไป” ประธานรัฐสภา กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราคิดว่าดีในที่สุดก็มีปัญหา เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้น บางเรื่องจึงไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมาย อย่ามองเรื่องข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่สำคัญคือพฤติกรรมของคนใช้รัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่เกิดวิกฤตมาจากพฤติกรรมของตัวบุคคล กฎหมายที่ดีจึงมีความจำเป็น เพื่อกำหนดโครงสร้างบทบาทแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน แต่ต้องประกอบไปด้วยผู้ใช้ที่ดีด้วย

ตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดวิกฤตจนถึงทุกวันนี้ คือการที่ผู้บริหารใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ที่ยังเกิดปัญหาจนทุกวันนี้ เกิดจากความผิดพลาดของบุคคลที่มาจากระบบการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม นั่นคือนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 เกิดวิกฤตในภาคใต้ เป็นนโยบายเก็บฆ่าทิ้ง สันนิษฐานว่าพื้นที่ภาคใต้มีขจก.ไม่เกิน 40-50 คน บอกว่าเป็นพวกโจรกระจอกแล้วจัดการเสีย

ตนถือว่าเป็นเหตุการณ์วิกฤตใน 90 ปี ที่เราไม่เคยสูญเสียขนาดนี้ เฉลี่ยผู้เสียชีวิตต่อเนื่องจากเหตุการณ์จนถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 5-6 พันคน ทั้งที่ปัญหาในพื้นที่มีการแก้ไขเยียวยาต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัย ร.5-ร.6 แต่พอนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 ออกมาว่าจะแก้ปัญหาหมดใน 3 เดือน ด้วยวิธีเก็บฆ่าทิ้งเดือนละ 20 คน จึงเป็นเงื่อนไขที่มาของทุกวันนี้ ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาซึ่งปัญหายังไม่จบ

วิกฤตรุนแรงที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศมีไม่มาก นอกจากเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องอื่นเราก็สามารถแก้ปัญหากันได้ ความมั่นคงในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความผูกพันกับสถาบัน และรับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบอื่น” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ให้ได้รับโอกาส นี่คือสิ่งที่พูดได้ว่า 90 ปี ของบ้านเมืองเราหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเปิดกว้างมาก แต่การเปิดกว้างก็ไม่ได้มีจุดบวกทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำก็มาจากการเปิดกว้าง คนมือยาวสาวได้สาวเอา คนมือสั้นสาวได้ไม่มาก คนมือยาวรวยติดอันดับ แต่ถ้าอยู่อย่างรู้จักประมาณ รวยก็รวยไป แต่อย่าไปแสดงให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไปก็จะอยู่ได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็ตำตาคนจะรับไม่ได้ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องทบทวน ว่าทำอย่างไรให้เกิดการควบคุมการฉวยโอกาสที่เกินไป

ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน่าเป็นห่วง อดีตความรุนแรงมีอยู่บ้าง แต่ไม่มีการซื้อเสียง อย่างดีคือเลี้ยงเหล้า แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดเรื่องเลี้ยงเหล้าแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจการเมือง คำว่าเสียงสามร้อย ห้าร้อย แปดร้อย สมัยก่อนไม่มี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการเมืองเช่นนี้ ซึ่งต้องเอาทุนคืน เป็นที่มาของการทุจริตโกงกิน สภาจึงไม่นิ่งดูดายเป็นที่มาของโครงการบ้านเมืองสุจริต โดยเน้นย้ำ รณรงค์เรื่องความสุจริตให้เด็กฟัง

นายชวน กล่าวว่า 90 ปี วินัยของเรายังไม่ดีเท่าที่ควร ก่อให้เกิดปัญหาร้อยแปด เราต้องให้ความสำคัญเรื่องวินัย เพราะคุณภาพคนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปในวันข้างหน้า ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดวิกฤตต่อตำแหน่งรัฐมนตรี นักการเมือง มากที่สุดคือช่วงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ไม่มียุคใดที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากเท่าช่วงนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อเรื่องการหาผลประโยชน์ และความไม่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรม การปกครองด้วยหลักคุณธรรม ถือเป็นบทเรียนสำคัญมาก เราต้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้มาทำลายสถิติ 100 ปีข้างหน้าอย่ามาทำลายสถิติคนติดคุก นี่คือวิกฤตของบ้านเมืองอันเกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

ทั้งนี้ ในส่วนของนิทรรศการประกอบด้วย การจัดแสดงบทนำของนิทรรศการ ไทม์ไลน์ 90 ปีรัฐสภา ตลอดจนสารแสดงความยินดีจากบุคคลสำคัญ การจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์และเอกสารจดหมายเหตุประเภทลายลักษณ์ อาทิ ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2475

ภาพรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 ภาพรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ภาพรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ของที่ระลึกวันรัฐธรรมนูญ โล่รางวัลต่างๆ ซองบัตรเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาและหีบเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา พ.ศ.2489 เบี้ยสีและหีบลงคะแนน เก้าอี้สมาชิกรัฐสภาในอดีต และค้อนประธานสภาผู้แทนราษฎรจำลอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมแข่งขันตอบคำถามการเสวนาทางวิชาการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก สินค้าจากเกษตรกร และวิสาหกิจชุมนุมด้วย โดยจะจัดงานตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. – 8 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา

จากนั้นในเวลา 10.30-12.30 น. เป็นการเสวนา เรื่อง “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยได้รับเกียรติจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสวนา ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา

สำหรับในภาคบ่ายเป็นการเสวนาเรื่องสถาปัตยกรรมในสัปปายะสภาสถาน โดยนายชาตรี ลดาลลิตสกุล หัวหน้าทีมออกแบบ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปี 2562 และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ หัวหน้าภูมิสถาปนิกโครงการกิจการร่วมค้าสงบ 1051 ในโอกาสที่รัฐสภาครบรอบ 90 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำหนังสือ 90 ปี รัฐสภา โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับเกียรติจากนายชวน