‘บ้าน’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘บ้าน’

 

ช่วงเวลา 3-4 เดือนมานี้ ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งผมเริ่มปักหลัก “ฝังตัว” อย่างจริงจัง หลังพบว่าการใช้เวลาไล่ตามหา “สัตว์หายาก” เดินทางไปทั่วนั้น ไม่ต่างจากวิ่งไล่ตามเงา ไม่มีวันทัน

อยู่กับที่ ทำความรู้จักกับเหล่าสัตว์ป่าที่พบเจอได้ง่าย คล้ายจะเป็นหนทางที่ดีกว่า

และผมก็พบว่า อยู่นิ่งๆ ในที่เดิมๆ นี่เอง ทำให้พบกับสัตว์หายาก

พวกมันไม่ได้อยู่ในที่ไปตามหา

ในป่าแห่งนี้ หากจะพูดว่า ผมใช้เวลามากกว่า 20 ปีแล้ว วนเวียนอยู่ที่นี่ ก็ดูจะไม่ผิดนัก

หลังห่างเหินไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมกลับมาทำงานที่นี่อีก สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือ คล้ายกลับมาบ้าน

บ้าน ในความหมายอันอบอุ่น และคุ้นเคย

 

หน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งเราใช้เป็นที่พัก อยู่กึ่งกลางทางระหว่างสำนักงานเขตกับสถานีวิจัยสัตว์ป่า ที่สถานีวิจัยผมใช้เวลาที่นั่นหลายปี ในฐานะผู้ช่วยของผู้ช่วยนักวิจัย

บริเวณนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีสภาพป่าหลากหลาย รวมทั้งป่าเต็งรัง ที่ในช่วงเวลาต้นไม้เตรียมลดการใช้น้ำในฤดูแล้ง ป่าทั้งป่ากลายเป็นสีเหลือง สีแดง สีส้ม

และเมื่อฤดูแล้งอย่างจริงจังมาถึง ไฟป่ามาเยือน เถ้าดำๆ เป็นที่โปรดของเหล่าวัวแดง ก่อนที่ระบัดเขียวอันเป็นช่วงเวลาอันอุดมสมบูรณ์

เป็นเวลาที่สัตว์กินพืชรื่นเริง วัวแดง กระทิง ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ทุ่งระบัด และเมื่อหญ้าสูงพอที่จะใช้งวงดึงม้วนส่งเข้าปากได้ โขลงช้างก็จะมาเยือน

และเป็นเรื่องปกติ เมื่อสัตว์กินพืชมาชุมนุม สัตว์ผู้ล่าย่อมตามมาทำงานของพวกมัน ซากวัวแดง ซากกระทิงอันเป็นผลงานของผู้ล่า ปรากฏให้เห็น

ท่ามกลางความสมบูรณ์ ความมีชีวิต ความตายอยู่ไม่ไกล

 

หน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้หากเทียบกับหน่วยพิทักษ์ป่าอื่น นับว่า “เจริญ” แล้ว

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งปั๊มน้ำจากบ่อ ในครัว ถ้ายืนนิ่งๆ มีสัญญาณโทรศัพท์อ่อนๆ แต่ไม่ไกลแค่หนึ่งกิโลเมตร บนเนินป่าเต็งรัง สัญญาณ 4G เต็ม

เราพักบนบ้านที่เคยใช้เป็นสำนักงาน อยู่ในตำแหน่งที่หากเดินทางเข้า-ออกสถานีวิจัยสัตว์ป่า จะต้องผ่าน

ที่นี่จึงไม่ขาดแขกมาเยือน ป้าเบ็งแม่ครัว แวะเอาหน่อไม้ไผ่รวกมาให้ ถาวรเก็บผักละว้าที่ผมชอบมาหอบใหญ่

บางวัน ทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายมาร่วมวงกินข้าวเย็น ผมเดินทางกับพวกเขาหลายปีในป่าด้านตะวันตก

เรื่องราวการเดินทางที่ผ่านมา ถูกขุดมาพูดคุยหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะการเดินทางในเส้นทางป่าทุรกันดาร กลายเป็นเรื่องสนุก

วันหนึ่งในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก หลังไปส่งทีมเข้าจุดตั้งกล้อง ผมพารถจมโคลนใช้เวลาทั้งวันก็นำรถขึ้นจากหล่มไม่ได้ ทีมตั้งกล้องทำงานเสร็จ ออกมาช่วย กระทั่งฟ้ามืดเราละความพยายาม ตัดสินใจเดินกลับหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งห่างไป 25 กิโลเมตร

“จำได้เลยครับ มีข้าวเหนียวติดก้นกระติ๊บอยู่สักปั้นหนึ่ง ปลาแห้งอีกตัว แบ่งกันกินเกือบสิบคน” นัทวิทย์ เริ่มและเรื่องอื่นๆ ก็ตามมา

“ตอนเดินทาง 12 กิโล ใช้เวลา18 ชั่วโมงนั่นเปื้อนโคลน มอมเป็นลูกหมา และต้องอาบน้ำในห้วย ตอนตีสามอุณหภูมิ 8-9 องศา จำได้ไม่ลืมเลยครับ”

“ตอนหม่องโจฉายหนังกลางแปลงนั่น ได้ข่าวก็ตกใจแทบแย่” นัทวิทย์เรียกผมว่า หม่องโจ แบบเพื่อนๆ ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ฉายหนังกลางแปลงเป็นศัพท์ที่เสือผอม พนักงานวิทยุแม่ข่ายใช้แจ้งทางวิทยุ หมายถึง ผมพาเจ้านิค หงายท้องสี่ล้อชี้ฟ้า

เนินนั้นถูกเกรด ปรับให้ความลาดชันน้อยลงแล้ว แต่ยังถูกเรียกว่า เนินหม่องโจ

ไม่แปลกหรอกที่ค่ำๆ บ้านที่เราใช้เป็นที่พักจะมีเสียงหัวเราะ

ความสัมพันธ์ที่ผ่านพบ หนทางทุรกันดารร่วมกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่จะลืม

บางครั้ง สัตว์ป่าก็อนุญาตให้อยู่ใกล้ชิด แต่สายตาไม่วางใจเท่าไหร่นัก

บริเวณนี้มีแหล่งอาหารเสริมของสัตว์ป่ามาก มีโป่งขนาดใหญ่ และโป่งเล็กโป่งน้อย

วัวแดงคล้ายเป็นเจ้าถิ่น หลังฝนตก มีโขลงช้างเข้ามาร่วมวง เจ้าตัวเล็กน่าจะไปคลุกเล่นกับโคลนมา หน้ามอมแมม

พวกมันใช้เวลาไม่นาน ป้าผู้นำฝูง รีบไล่ต้อนให้เดินทางต่อ ท่าทางป้าและช้างพี่เลี้ยงจะระวังภัยอย่างสูงเพราะเจ้าตัวเล็กหลายตัวในฝูงนั่น คือเป็นหมายของเสือโคร่ง

เสียงร้องก้องเมื่อพวกมันเดินห่างไป อยู่ในทิศทางที่ผมอยู่เหนือลม

 

ฝนตกเกือบทุกบ่าย บางวันพรำๆ ตลอดคืน

เป็นปีที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง จากช่วงเวลาซึ่งต้นไม้เปลี่ยนสีใบลดการใช้น้ำ ไม่มีฤดูแห่งไฟ ฝนตกต่อเนื่อง ป่าเขียวชอุ่ม ไม่มีทุ่งระบัดสัตว์มาชุมนุมตามแหล่งอาหารเสริม พวกมันปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลง

สภาพป่าซึ่งไม่เป็นไปตามอย่างที่ควรบอกอย่างหนึ่ง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

 

นอกชานบ้านพักฝั่งที่ผมใช้เป็นที่กางเต็นท์นอน ข้างๆ เป็นต้นตะแบก ปลายกิ่งมีรังรูปถ้วยสวยงาม ที่นกปรอดหัวสีเขม่าสร้างไว้วางไข่เลี้ยงลูก

เรามาถึงวันที่ลูกนกเพิ่งออกจากไข่ ผ่านมาหลายวันถึงวันนี้ มันชูคอขึ้นรับอาหารได้แข็งแรง ตั้งแต่เช้ามืดพ่อ-แม่ช่วยกันเลี้ยงบินเข้าออก คาบอาหารมาพร้อมกัน ขณะตัวหนึ่งเอาอาหารให้ลูก อีกตัวจะเกาะใกล้ๆ มองรอบๆ

สร้างรังอยู่ปลายๆ กิ่ง เมื่องูเข้ามา มันจะรู้ตัว แต่ใช่ว่าจะปลอดภัย

เช้าเมื่อวาน บนสะพานหน้าทางเข้าหน่วย รอยตีนเสือโคร่งเดินข้ามไป มันเดินผ่านนอกชานบ้านพักไปเงียบๆ

ช้างโขลงที่พบกัน เคลื่อนย้ายมาอยู่ใกล้ๆ ทิ้งร่อยรอยหักไม้ และขี้หลายกองบนเส้นทางที่จะไปสถานีวิจัยสัตว์ป่า

กลางคืน ชะมดแผงหางปล้อง เดินสวนกับเม่น กวางหลายตัวเดินเล็มหญ้าที่เพิ่งตัด ดวงตาสีเขียวสะท้อนแสงไฟฉาย

 

กลับมาทำงานที่นี่ ผมรู้สึกคล้ายกับการกลับมาบ้าน

“บ้าน” ซึ่งให้ความอบอุ่น คุ้นเคย

แม้จะอบอุ่น คุ้นเคยเช่นไร แต่ไม่ใช่บ้านของผมหรอก

เป็นบ้านของเหล่าสัตว์ป่า ที่พวกมันเป็นเจ้าของ •