ทางรอดอยู่ในครัว : จานคู่เติมพลัง / ครัวอยู่ที่ใจ : อุรุดา โควินท์

ครัวอยู่ที่ใจ

อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: จานคู่เติมพลัง

เพื่อนโทร.มาถามอาการของแม่ เราคุยกันนาน ทั้งเรื่องแม่ เรื่องโรงพยาบาล เรื่องสิทธิการรักษา เรื่องโครงสร้างสาธารณสุขไทย ลากยาวไปจนถึงเรื่องการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การรักษาสุขภาพ และก็นั่นล่ะ เพราะเป็นเรา จึงมีบทสนทนาว่าด้วยวงกินดื่มตบท้าย

ฉันวางหูด้วยรอยยิ้ม ประโยคของเพื่อนยังก้องในหู

“ช่วงชีวิตจากนี้ไป พวกเราน่ะ ต้องเจอการเจ็บและการตาย”

เราอยู่ในวัยที่พ่อแม่เริ่มมีปัญหาสุขภาพ ปัญหามากน้อยต่างกัน แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนเจอ เราต่างแก้ไขตามครรลองและข้อจำกัดของตัวเอง

ความเจ็บป่วยของผู้สูงวัยซึ่งนำมาสู่การจากไป เป็นความจริงแท้ที่เกิดขึ้นในทุกครอบครัว แต่ที่เหนื่อยยากที่สุดคือ “ระหว่างนั้น”

เราต้องทำงาน และดูแลคนป่วยไปด้วย อีกทั้งยังต้องระวัง ไม่ให้ป่วยไปอีกคน

ฉันเตรียมใจไว้เป็นปี เมื่อรู้ว่าแม่มีโรคอะไรบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาเผชิญหน้า ความยุ่งยากมาถึงเร็วกว่าที่คิด และหนักหนากว่าการประเมิน

เป็นสองวันอันยาวนาน สองวันในห้องผู้ป่วยอายุรกรรมรวม ที่ทั้งร้อน ทั้งแออัด มีคนตายทุกวัน แล้วก็มีผู้ป่วยใหม่มานอนแทน ญาติไม่มีที่นอน แต่ผู้ป่วยต้องมีคนเฝ้า

บางนาทีฉันรู้สึกราวกับว่าจะป่วยไปอีกคน

 

นี่คือชีวิตสามัญชนที่จำต้องยอมรับ หรือมีอีกหนทางเลือก นั่นก็คือไม่รับการรักษา อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด มีชีวิตเท่าที่ชีวิตอนุญาต

ดูเหมือนพ่อของฉันจะเลือกเส้นทางนั้น พ่อไม่ตรวจสุขภาพ ไม่หาหมอ พ่อพยายามออกกำลังกาย และกินอาหารอย่างระมัดระวัง

ใช่ พ่อของฉันยังแข็งแรงดี ยังปลูกต้นไม้ได้ ยังไปขายต้นไม้ทุกวัน

ขณะที่แม่กินทุกอย่างที่อยากกิน ไม่เคยออกกำลังกาย ชอบของหวาน ของมัน แต่แม่ขยันหาหมอ ทุกครั้งที่พบหมอ แม่เจอโรคและได้ยา แม่ขยันกินยา และยังกินทุกอย่างที่อยากกิน แม่คือคนที่พูดกับฉันว่า แม่มีหน้าที่กิน ส่วนหมอมีหน้าที่รักษา

ไม่อยากตัดสินว่าทางไหนถูก อย่างไหนดีกว่ากัน ฉันแค่คิด ทุกคนมีสิทธิ์เลือก และการเลือกย่อมพาไปสู่ปลายทางต่างกัน

 

ผ่านวันที่สองมาได้ ฉันแน่ใจว่าแม่ต้องได้ออกจากโรงพยาบาล แต่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน เพราะทุกอย่างในขั้นตอนการรักษา ต้องรอ รอ และรอ

นี่ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น แต่คือการวิ่งมาราธอน ฉันคิดแบบนั้น บอกตัวเองว่า ฉันต้องกลับบ้าน หาสมดุลระหว่างบ้านและโรงพยาบาล ระหว่างการทำงานและการดูแลคนป่วย ระหว่างห่วงสุขภาพคนอื่นกับสุขภาพตัวเอง

ฉันหาคนมาเฝ้าแม่ที่โรงพยาบาล เพื่อให้ฉันได้กลับมาทำงาน และได้พักผ่อนบ้าง

การเข้าครัวตอนเช้า เปิดเพลงระหว่างทำอาหารคือการเยียวยาที่ดีที่สุด

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน หรือเกิดเรื่องอะไร ครัวคือดินแดนแห่งความปลอดภัย หน้าที่หนึ่งของฉัน คือรักษาสุขภาพ เพื่อได้ยืนในครัวนานๆ

ฉันหุงข้าวไว้แล้ว ตั้งใจจะทำผัดคะน้าปลาเค็มราดข้าว

เลือกจานที่เหมือนกัน ล้าง และเช็ดให้แห้ง

คะน้าสำคัญนัก ต้องสด และไม่แก่ ใบแก่ฉันไม่ใช้เด็ดขาด จะผัดคะน้าทั้งที คะน้าต้องดีเป็นอย่างแรก

ปลาอินทรีเค็มกำลังดี ฉันแช่น้ำอุ่นให้เค็มน้อยลงอีก ซับน้ำจนแห้ง ทอดไฟอ่อนให้สุกทั้งชิ้น แล้วเอาขึ้นมาพัก ก่อนยีเป็นชิ้นเล็กๆ

บางคนใช้ตะหลิวยีในกระทะเลย แต่ฉันชอบแบบนี้มากกว่า ได้มั่นใจว่าเนื้อปลาละเอียดจริง

ทุบกระเทียมกับพริกขี้หนูไว้รอ

แล้วฉันก็ตั้งกระทะ

ที่ต้องระวังคือน้ำมัน ไม่ควรมากไป ฉันใช้น้ำมันที่เหลือจากการทอดปลา แต่เทออกไปบ้าง รอน้ำมันร้อนจัด แล้วใส่ทุกอย่างลงไปพร้อมน้ำตาลปลายช้อน

คะน้าที่หั่นและคัดอย่างดี ปลาอินทรีทอด พริกกับกระเทียมทุบ

คนให้คะน้าสุก แล้วฉันก็ปิดเตา

คะน้าปลาเค็มของฉันปราศจากน้ำมันหอย มันไม่จำเป็นเลย ถ้าเราได้ปลาเค็มมาดี

สำหรับฉัน อาหารจานนี้อร่อยเพราะปลาเค็มกับคะน้า ฉันไม่ต้องการอย่างอื่น

กระทั่งไข่ดาว มื้อนี้ก็ไม่ต้อง

 

“กินโปรตีนน้อยๆ บ้างนะ” ฉันบอกเขา

“กาแฟล่ะ” เขาวางเอสเพรสโซร้อนข้างจานฉัน

“ต้องสิ” ฉันตอบทันที

ในฤดูร้อน ฉันชอบดื่มกาแฟที่ไม่ค่อยร้อน เขาจึงชงวางไว้ให้ก่อน พอกินข้าวเสร็จ กาแฟก็อยู่ในอุณหภูมิที่ฉันต้องการพอดี

มันตลกดี ฉันชอบดื่มกาแฟร้อนที่ไม่ร้อน และดื่มช้ามาก ฉันใช้เวลาในการดื่มกาแฟหนึ่งแก้วพอๆ กับการกินข้าวหนึ่งจาน

ฉันมักคิด ลงรายละเอียดในงาน ขณะที่ดื่มกาแฟ

“มื้อเช้าที่บ้านโดยไม่รีบเร่งนี่มันดีจริงๆ” ฉันว่า “ไม่ได้กินแบบนี้สองวันแล้ว”

“เหนื่อยมั้ย”

“เหนื่อยสิ แต่โอเค และยังมีแรงทำอาหารจานคู่ของเรา” ฉันตอบอย่างหนักแน่น •