ตร.สภา ตบเท้ายื่นค้านเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่ เผยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

ตร.สภา ตบเท้า ยื่น “ชวน-สุทิน-ขจิตร” ค้านเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่ ชี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่กลับรายงาน “ปธ.สภา” ตรงข้าม ด้าน “ขจิตร” ซัด คนสั่งไม่ได้ใส่ คนใส่ไม่เต็มใจ

 

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภาผู้แทนราษฎรและตำรวจวุฒิสภาประมาณ 60 นาย รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานผู้แทนราษฎร, นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน), นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรค พท. และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส. พะเยา พรรค พท. และอดีตรองประธานสภา เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบตำรวจรัฐสภา

ทั้งนี้ นายขจิตรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประกาศการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบตำรวจรัฐสภา ว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจรัฐสภาจำนวนมากที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเครื่องแบบเดิมที่ใส่อยู่มีความเหมาะสมแล้ว ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายกับตำรวจทั้งประเทศ แต่ก็มองว่าถ้าเหมือนแล้วมีข้อดีจะแตกต่างไปทำไม จึงไม่จำเป็นต้องไปเปลืองงบประมาณกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งตนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ที่ต้องปฏิบัติงานด้วย ในเมื่อเขาไม่ต้องการเครื่องแบบใหม่ บรรดาผู้บริหาร เช่น ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้บังคับบัญชาจะไปบังคับเขาเพื่ออะไร หรือมีประโยชน์อื่นใดในการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบครั้งนี้

“คนที่ต้องใส่ชุดคือเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาในเมื่อเขามีความสุข คนที่ไม่ได้ใส่อย่างผู้บริหารจะไปเดือดร้อนอะไรกับเขา ไม่ว่าคำสั่งใดก็ตามที่ออกมา ต้องคิดถึงใจคนปฏิบัติด้วย ไม่ใช่คิดว่าเขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะสั่งอะไรก็ได้ การบริหารงานมีเป้าหมายเพื่อคุณภาพและมาตรฐานของงานที่สูงขึ้น ไม่ใช่มายุ่งเรื่องเครื่องแบบ” นายขจิตรกล่าว

เมื่อถามว่า มีการระบุว่าตำรวจสภาส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปลี่ยนเครื่องแบบ นายขจิตรกล่าวว่า เท่าที่มาร้องเรียนกับตนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ถ้าผู้บริหารอ้างว่า มีคนเห็นด้วยกับท่านก็ขอให้เปิดแบบสอบถามที่ได้สอบถามความเห็นของตำรวจสภาออกมา เพราะตนรู้มาว่า มีคนไปขอแบบสอบถามดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยใดๆ

“ผมเสนอทางออกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายวิชาการที่เพิ่งรับเข้ามาให้ใส่ชุดเครื่องแบบใหม่ ส่วนคนเก่าถ้าเขาไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนก็อย่าไปบังคับเขา หรือใครเขาใส่ทั้งสองแบบไม่ต้องยกเลิกของเก่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำให้อยากเลยเรื่องนี้ และจริงแล้วผมเห็นว่าตำรวจรัฐสภา ควรเป็นเอกเทศ หรือเป็นหมวด เป็นสายบังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งควรจะได้รับการสนับสนุนแบบนั้น” นายขจิตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการสอบถามตัวแทนตำรวจรัฐสภาถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายแบบใหม่ โดยพบข้อห่วงใยในเรื่องของการออกแบบชุดที่ไม่อิงกลุ่มหรือเกณฑ์ เช่น ตำรวจศาล หรือองค์กรอิสระอื่น อีกทั้งชุดตำรวจรัฐสภาก็เป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ซึ่งมีการมาศึกษาดูงานตลอดที่ผ่านมา และแบบสอบถามที่ให้ถามตำรวจรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ผลออกมาว่า ส่วนใหญ่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบใหม่ แต่สิ่งที่รายงานต่อนายชวนกลับส่วนทางกัน ทำให้ตำรวจรัฐสภาต้องออกมาคัดค้าน