ไทยสร้างไทยดันร่าง พรบ.อากาศสะอาด ชี้รบ.ต้องคุ้มครองสิทธิในการหายใจของปชช.

ไทยสร้างไทยดันร่าง พรบ. อากาศสะอาด ชี้รัฐบาลควรคุ้มครองสิทธิในการหายใจของประชาชน หากปัดตก เท่ากับไม่สนใจคุณภาพชีวิต

 

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 พรรคไทยสร้างไทย นำโดยนางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย นายวรวุฒิ โตวิรัตน์ อดีตผู้สมัคร สก. เขตสาทร นายเอกพล พงษ์พิกุล และนายภวฤทธิ์ กาญจนเกตุ ว่าที่ผู้สมัคร สส. จ. เชียงใหม่ เข้าร่วมผลักดันร่าง พรบ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดฯ ร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thailand Clean Air Nerwork: CAN) เพื่อเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่จะหายใจอากาศสะอาด ไม่ให้รัฐบาลปัดตกจากการพิจารณาโดยรัฐสภา

ประเทศไทยเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นระยะเวลานาน ทั้งปัญหาฝุ่นพิษในเขตภาคกลางและกรุงเทพฯ ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ และปัญหาควันไฟป่าในภาคใต้ ซึ่งงานวิจัยในปี พ.ศ. 2559 พบว่าร้อยละ 87 ของประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงกว่าค่ามาตรฐานปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้เข้มงวดกว่ามาตรฐานปลอดภัยของประเทศไทย

มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ นำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการคำนวนต้นทุนทางสังคมว่าความเสียหายจากมลพิษทางอากาศของประเทศไทยสูงถึง 2.06 ล้านล้านบาท โดยกรุงเทพฯ รับผลกระทบถึง 556,327 ล้านบาท นครราชสีมา 98,649 ล้านบาท และเชียงใหม่ 49,184 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือที่มลพิษทางอากาศของไทยมักมีความรุนแรงในช่วง High season ซึ่งกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ แต่รัฐบาลไทยยังคงไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุที่กฎหมายในปัจจุบันกระจัดกระจายและขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษ การกำหนดมาตรฐานของมลพิษทางอากาศที่ไม่เข้มงวด และการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากมลพิษ อีกส่วนหนึ่งคือการทำงานที่ซ้ำซ้อนและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในการจัดการกับมลพิษฯ ที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในที่นี้ การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่บูรณาการกระบวนการจัดการปัญหาเข้าด้วยกัน ในรูปของ ร่าง พรบ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดฯ (Clean Air Act) ที่รับรองสิทธิในการหายใจ “อากาศสะอาด” แก่คนทุกคนโดยสมบูรณ์ และกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการ

ร่าง พรบ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดฯ นอกจากจะเป็นกรอบการทำงานเชิงบูรณาการและกำหนดหน้าที่ให้รัฐปฎิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังสร้างกลไกให้ประชาชนและภาคประชาสังคมรับรู้และเข้าไปมีส่วนรวมในกลไกการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ในรูปแบบของการบังคับให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและจัดกลไกให้ประชาชนมีบทบาทในการตัดสินใจและเรียกร้องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางหลักธรรมาภิบาลและหลักการพัฒนาที่ยังยืน

“หากรัฐบาลปัดตกร่าง พรบ. ฉบับดังกล่าว ก็จะเป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เห็นถึงความสำคัญของสิทธิในการหายใจ “อากาศสะอาด” ทั้งยังไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง และเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจคุณภาพชีวิตของคนไทยแต่อย่างใด” นางสาวธิดารัตน์กล่าว