MODERN CHARADE ปอกเปลือกมายาคติแห่งศรัทธาในสังคมไทย ด้วยศิลปะเชิงสัญลักษณ์สุดแสบสัน / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

MODERN CHARADE

ปอกเปลือกมายาคติแห่งศรัทธาในสังคมไทย

ด้วยศิลปะเชิงสัญลักษณ์สุดแสบสัน

 

“เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ”

เป็นประโยคที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านานจนหล่อหลอมเป็นมายาคติที่ฝังรากลึกและครอบงำสังคมไทยเอาไว้อย่างแน่นหนา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบปีก็ตาม

แต่ในทางกลับกัน ความเป็นเมืองพุทธในสังคมไทยก็เต็มไปด้วยความย้อนแย้งลักลั่นของความเชื่อความศรัทธาในการนิยมกราบไหว้บูชาสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ที่น่าจะเรียกว่าเป็น “ศาสนาผี” เสียมากกว่า

หนำซ้ำความเชื่อความศรัทธาที่ว่านี้ เมื่อหลอมรวมกับมายาคติของความเป็นพุทธปนพราหมณ์แบบไทยๆ ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือที่อำนาจรัฐและชนชั้นปกครองใช้ในการกำหนดกรอบศีลธรรมอันดีงาม, นิยามจารีตประเพณี และประดิษฐ์พิธีกรรมกล่อมเกลาแกมบังคับให้ประชาชนเคารพสักการะ จนหลงลืมสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียม ลืมแม้แต่ความเป็นจริงว่าตนเองกำลังถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในครานี้ เปลือกแห่งความเชื่อและความศรัทธาที่ว่านี้กำลังถูกลอกปอกอย่างถึงแก่นในนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า MODERN CHARADE โดย จิตรการ แก้วถิ่นคอย ศิลปินชาวไทยผู้สร้างสรรค์ภาพวาดเหมือนจริงแนวสัญลักษณ์นิยม ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมการเมืองและเสียดสีตีแผ่ระบอบเผด็จการที่กักขังเสรีภาพและความคิดของผู้คน

ในนิทรรศการครั้งนี้ จิตรการใช้ผลงานศิลปะของเขาเป็นดั่งเครื่องอุปมาอุปไมยเพื่อเปิดโปงความตอแหลหน้าไหว้หลังหลอกของศาสนากับการเมืองไทยภายใต้เงื้อมเงาอำนาจนิยม ผ่านภาพวาดเหมือนจริงเชิงสัญลักษณ์ฝีมือจัดจ้าน สีสันละมุนตา

แต่แฝงความหมายแสบสันไปถึงทรวงใน

“นิทรรศการชุดนี้ ผมหยิบความสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องศาสนากับการเมืองมาทำงาน จากการศึกษาหาข้อมูลมา ผมพบว่าศาสนาแยกออกจากอำนาจรัฐไม่ได้ เพราะสังคมไทยเป็นเหมือนรัฐอุปถัมถ์”

“ถ้าย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ ตำแหน่ง หรือสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ นั้นมีมาตั้งแต่ตอนที่ประเทศเราอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ทั้งนั้น ทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ เบี้ยหวัด ที่ดิน แลกกับการที่ชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือควบคุมให้ผู้คนอยู่ภายใต้ปกครองโดยไม่มีปากเสียง ไม่ตั้งคำถาม ไม่เรียกร้องสิทธิเสรีเสรีภาพ, ความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม บาป บุญ วาสนา ซึ่งเป็นมาจนถึงทุกวันนี้”

“ถ้าดูงานของผมแต่ละชิ้นจะเห็นว่าเป็นการเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เพราะตอนที่ผมศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ ผมได้อ่านบทความของ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ทางเว็บไซต์ ที่พูดเรื่องความเป็นผี, พราหมณ์, พุทธ ที่รวมเป็นศาสนาไทย ตรงนั้นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจรายละเอียดว่าก่อนหน้าที่จะมีศาสนาพุทธ แผ่นดินสยามนั้นนับถือภูตผีและวิญญาณมาก่อน, แต่ชนชั้นนำต้องการปกครองผู้คน เขาก็เอาศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์มาครอบศาสนาผีอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ดูทันสมัยและน่าเลื่อมใสขึ้น ถ้าเราดูพิธีกรรมต่างๆ ที่รัฐจัดขึ้น ก็จะเห็นเค้าลางว่ามีรากเหง้ามาจากศาสนาผีทั้งนั้น”

“ในผลงานชิ้นหนึ่งของผมที่เป็นภาพก้อนหินในกรอบทอง ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนศาสนาผีดั้งเดิมที่กราบไหว้บูชาหิน ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ อย่างภูตผี, เทวดา แต่เอาจริงๆ งานของผมไม่ได้เจาะจงว่าแต่ละชิ้นจะต้องสื่อถึงอะไร แต่มักจะปล่อยให้ผู้ชมตีความและสื่อสารกับสัญลักษณ์ในงานแต่ละชิ้นและตีความไปตามแต่ประสบการณ์ของตัวเองมากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องตีความหมายออกมาตรงกันกับผมก็ได้ หรือแม้เวลาผ่านไปความหมายที่สื่ออาจจะเปลี่ยนไปก็ได้”

“โดยส่วนตัวผมทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองอยู่แล้ว แต่ในนิทรรศการครั้งนี้ ผมอยากนำเสนอมุมมองว่าศาสนากับการเมืองนั้นมีจุดร่วมบางอย่างยึดโยงกันอยู่”

“ในมุมมองส่วนตัว ผมมองว่าศาสนาทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องเยียวยาปลอบประโลม หรือเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน หลายศาสนาน่าจะมีเป้าหมายร่วมกันอยู่ประมาณนี้ แต่บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็ถูกกลบด้วยพิธีกรรม และความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมว่าเป็นเหมือนการอุปโลกน์ขึ้นมากกว่า”

“หรือแม้แต่เรื่องชนชั้นในศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระที่มีสมณศักดิ์ ซึ่งมีเงินประจำตำแหน่งที่ได้จากรัฐ (ซึ่งมาจากภาษีประชาชนอีกที) ก็ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการที่ทำงานให้รัฐ ในการกล่อมเกลาผู้คนให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของชนชั้นนำ ตีกรอบด้วยวาทกรรมของศีลธรรม จริยธรรม ในแบบที่ชนชั้นปกครองต้องการ (เหมือนเป็นตำรวจศีลธรรม) ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกสมัยใหม่ที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอันที่จริงก็สอดคล้องกับหลักการของความเสมอภาคในศาสนาพุทธด้วยซ้ำไป นับเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งเอามากๆ”

“ด้วยเหตุนี้ ศาสนาของเราจึงกลายเป็นขบวนการที่รัฐใช้บริหารจัดการอำนาจโดยอาศัยความเชื่อและความศรัทธา เพราะพอสังคมในโลกของความเป็นจริงมันโหดร้ายจากการถูกปกครองด้วยอำนาจรัฐและระบบทุนนิยมผูกขาด (ที่อุปถัมภ์อำนาจรัฐอีกที) ที่คอยกดขี่ผู้คนในระดับรากหญ้า คนเหล่านี้ก็ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจากความเชื่อและความศรัทธาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

นอกจากผลงานภาพวาดเหมือนจริงเชิงสัญลักษณ์น้อยใหญ่หลากหลายชิ้นแล้ว ใจกลางของพื้นที่แสดงงานในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานประติมากรรมจัดวางรูปศาลเพียงตาหลังเล็กที่ประดับด้วยกระจกเงาลายพร้อยสะท้อนแสงระยิบระยับจับตาน่าสนเท่ห์

“ผลงานประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้ ผมใช้กระจกเงาชิ้นเล็กๆ มาประดับรวมกันที่ตัวศาล พอผู้ชมเข้าไปส่องใกล้ๆ ก็จะเห็นหน้าตัวเองสะท้อนออกมาเป็นหลายๆ หน้านับไม่ถ้วน ซึ่งสื่อถึงความเป็นมายาคติของศรัทธาและความเชื่อในศาสนา บางคนอาจจะตีความเป็นศาลเพียงตา ศาลพระภูมิ ซึ่งมีที่มาจากศาสนาผี หรือบางคนอาจจะตีความหมายไปถึงอำนาจรัฐ อย่างศาลตัดสินคดีความ หรือศาล (ไม่) ยุติธรรม หรือบางคนอาจนึกถึงวิมานแก้ว (ที่อยู่อาศัยของเทวดา ซึ่งเป็นภาพแทนของชนชั้นสูง) ก็เป็นได้”

“ที่ผลงานของผมใช้สัญลักษณ์ให้คนต้องตีความก็เพราะเราอยู่ในสังคมที่พูดตรงๆ ไม่ได้ เราถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ถูกตีกรอบจากชนชั้นนำที่ควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ผมเชื่อว่าศิลปะมีพลังในการสื่อสารถึงประเด็นเหล่านี้ไปถึงผู้คนได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายเรื่องที่ผมพยายามพูดผ่านงานศิลปะตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถพูดออกมาได้ แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา เด็กๆ และคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเขาพูดมากกว่าผมไปหลายเท่าตัวแล้วด้วยซ้ำไป”

นิทรรศการ MODERN CHARADE โดยจิตรการ แก้วถิ่นคอย จัดแสดงที่หอศิลป์ 333Anywhere ห้องที่ 5 โครงการ Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30, ตั้งแต่วันที่ 11-29 มิถุนายน 2565, วันอังคาร-วันอาทิตย์, เวลา 11.00-18.00 น. (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 333Anywhere •