“คืนธรรมชาติสู่ธรรม” ปลัด มท. น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ ดิน น้ำ ป่า คน พร้อมพัฒนาสังคมไปในทิศทางแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมงคลสมัยคล้ายวันประสูติเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 95 พรรษา ในวันที่ 26 มิถุนายน 2565  ตามที่วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวัดในพระอุปถัมภ์ และมีการดำเนินการปลูกป่า และอนุรักษ์ธรรมชาติตามโครงการ “คืนธรรมชาติสู่ธรรม” ในพระสังฆราชูปถัมภ์ พวกเราในฐานะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักในการทำงานตามหลักทฤษฎีใหม่ ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า คน และการพัฒนาตามภูมิสังคมอย่างยั่งยืน

ปลัด มท.ระบุว่า จะขอปวารณาตนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดและสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยหลักคิดและการดำเนินการทั้งที่ผ่านมาและในห้วงต่อไป เนื่องจากวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตการฟื้นฟูป่าที่เหมาะสมต่อการเป็นต้นแบบ แบบอย่างของหลักธรรมที่เรียกว่า “Green Buddhism” คือ หลักธรรมสำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งสามารถ น้อมนำหลักนี้มาใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ได้ หรือกล่าวรวมกันได้ว่า “Green Buddhism for Sustainable Development” หรือ “การน้อมน้าหลักธรรม
ทางพระพุทธศาสนาตามแนวคิด สีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

สำหรับ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ เป็นวัดที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์รวมจิตใจและใช้ เป็นที่ฝึกปฏิบัติแบบอรัญญวาสีในทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งการพัฒนาแบบนี้ต้องใช้แนวคิด “คนอยู่

ร่วมกับป่า” ดังนั้น ท้องถิ่นและท้องที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีบทบาทช่วยในการดูแลและร่วมพัฒนาวัด รวมถึงชุมชนโดยรอบได้ โดยใช้แนวคิดการพัฒนางานตามหลัก “บวร” (บ้าน/วัด/โรงเรียน และ ราชการ) หรือในที่นี้อาจหมายถึง “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ได้ด้วยเช่นกัน

โดยการสนับสนุนการพัฒนาวัดและโครงการ “คืนธรรมชาติสู่ธรรม” สามารถใช้กลไกการมีส่วนร่วม ของพุทธศาสนิกชนหรือผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งทำได้ทั้งในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาหรือการมีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงต้องใช้เงินเสมอไป อาจใช้แรงกายแรงใจร่วมกันปลูกต้นไม้ สร้างฝาย สร้างป่าเปียกกันไฟ ร่วมพัฒนาให้เกิดความสะอาด แบบกิจกรรม 5 ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) และห้วงที่ผ่านมาการพัฒนาวัด ก็ใช้พลังศรัทธาร่วมกันทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายฆราวาส โดยทางราชการหรือฝ่ายปกครองก็ร่วมเป็นผู้สนับสนุน ประสานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาช่วยกัน

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยิ่งและพร้อมส่งเสริมสนับสนุน การมีส่วนร่วมของภาครัฐ วัด และชุมชน ในโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยมุ่งเน้นที่การสร้างชุมชนน่าอยู่ ฟื้นฟูธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหลายโครงการที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว และกำลังเตรียมการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนต่อไป

ปลัดมหาดไทย ระบุว่าหัวใจสำคัญที่ยึดมาเป็นหลักชัยในการปฏิบัติงานมี 3 ประการ คือ 1. การอนุรักษ์และการพัฒนา ต้องดำเนินการควบคู่กัน 2. การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดและหลักการดำเนินการ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และที่สำคัญ การน้อมนำพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ และทำงานตามโครงการแนวพระราชดำริ “อารยเกษตร”

ขณะเดียวกันทางกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีแบบอย่างวัดที่ได้เข้าร่วมโครงการ และร่วมดำเนินการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีวัดที่ดูแลป่า หรือเป็นวัดที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบระดับตำบลในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

พร้อมกันนี้ มท.ได้มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ธรรมชาติและฟื้นฟูในเรื่อง “ดิน – น้ำ –ป่า – คน” ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยตัวอย่างวัดที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ – ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี – วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ อำเภอเมือง  จ.เชียงราย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี การจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุข อย่างยั่งยืนร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ทางมหาเถรสมาคม ทางกระทรวงมหาดไทย และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่ายนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการร่วมกัน ดูแลชุมชน – รักษาสิ่งแวดล้อม – พัฒนาคุณธรรม – พัฒนาคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กัน

 

สำหรับโครงการ “คืนธรรมชาติสู่ธรรม” ในพระสังฆราชูปถัมภ์จะเป็น ตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่ดังที่กระผมได้กล่าวไป ซึ่งแนวคิดการขยายผลใด ๆ นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัดและพุทธศาสนิกชน ที่จะร่วมกันพัฒนาดูแลรักษาให้เหมาะสมตามบริบทแห่งภูมิสังคมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งที่ทางวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ได้ด้าเนินการฟื้นฟูธรรมร่วมกับธรรมชาติตามแนวทาง Green Buddhism มาแล้วนั้น ถือเป็นต้นทุนที่ดีเยี่ยม แต่ยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้ในอีกหลายประการ หรือแม้จะเตรียมพื้นที่สำหรับ รองรับคนยากไร้ คนที่ได้รับความเดือดร้อน ยากลำบาก ได้มาศึกษาเรียนรู้หลักธรรมพร้อมกับช่วยพัฒนาวัด และฝึกฝนทักษะ การพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ตามหลัก “บวร” ก็ได้ ซึ่งสามารถต่อยอดดำเนินการและจัดการได้อีกหลายรูปแบบ โดยมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและใช้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันดูแล เพื่อสร้างความภาคภูมิใจอันจะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน โดยมีวัดหรือพระสงฆ์เป็นผู้นำและเป็นหลักธรรม ผ่านการ ร่วมกันทำเพื่อรักษาธรรมชาติ  ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัด และชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนงานต้นแบบขึ้น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วย

ปลัด มท.ทิ้งท้ายว่า หลักการทำงานทั้งหมด จะสอดคล้องกับแนวคิดของ Green Buddhism for Sustainable Development อันเป็นการเข้าใจธรรมชาติผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ จนนำไปสู่การอนุรักษ์รวมถึงการพัฒนาสังคมไป ในทิศทางแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของพระพุทธศาสนา