อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ประกายไฟที่เมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เจริญรุดหน้า การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การลงทุนสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การลงทุนในวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการปรับนโยบายให้แต่ละประเทศในอาเซียนให้เดินตามแผนงานหลักที่เรียกว่า ASEAN Connectivity Master Plan ของทุกประเทศในอาเซียน

พร้อมกันนั้น รายงานจากสถาบันการเงินชั้นนำของโลกต่างออกรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง กำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตของคนชั้นกลาง ที่ปรากฏในรูปของการกระจายตัวของสินค้าและบริการด้วยการบริโภคในห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ ที่เปิดกระจายทั่วเมืองใหญ่ต่างๆ ในอาเซียน การเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low cost air line) ยิ่งทำให้แหล่งทุนจากภายนอกลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอาเซียนภาคพื้นทวีป (Mainland ASEAN) ได้แก่ สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเมียนมา

แต่เราไม่ควรมองแต่ด้านบวก อาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อและชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคมที่มีทั้งพลังสร้างสรรค์และบั่นทอน

แล้ว “ประกายไฟ” ก็ปะทุขึ้นทางตะวันตกของเมียนมา

 

โรฮิงญากับโลก

ตอนนี้เมียนมากำลังถูกประณามจากโลกมุสลิมทั่วโลกที่รัฐบาลเมียนมาล้มเหลวจากการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวโรฮิงญา (Rohingya) ซึ่งอาศัยอยู่ทางรัฐยะไข่ (Rakhine) ในฝั่งตะวันตกของเมียนมาติดกับประเทศบังคลาเทศ

ในขณะที่ชาวมุลสิมเป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ตามรายงานของสำนักงานองค์การสหประชาชาติที่ประเทศบังกลาเทศ มีคนโรฮิงญาหลบหนีเข้าไปยังบังกลาเทศประมาณ 123,600 คน (1)

นอกจากภาพผู้คนอพยพจำนวนมากแล้ว มีการเผยแพร่ภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านถูกเผาจนหมู่บ้านร้าง

อีกทั้งดูเหมือนว่า โลกมุสลิมและนานาประเทศต่างวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ที่นำโดย นางออง ซาน ซูจี ซึ่งหลังจากเข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Cousellor) แล้ว คราใดที่เกิดปัญหาความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในเมียนมา ทั้งที่เกิดในรัฐยะไข่ การเผชิญหน้าและความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์

ไม่เคยมีบทสัมภาษณ์ความคิดเห็นและปฏิกิริยาอะไรเลยจาก นางออง ซาน ซูจี

 

ความซับซ้อนของเมียนมา

ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัญหาชาติพันธุ์ในเมียนมาเป็นเรื่องใหญ่ สลับซับซ้อนและแก้ปัญหาโดยง่ายๆ

ปัญหาชาติพันธุ์ในเมียนมาเป็นปัญหาที่เป็นรากเหง้าที่แก้ได้ยากมาก

ยิ่งไปกว่านั้น โรฮิงญายังมีปัญหาเรื่องศาสนาคือชาวมุสลิมและชาวพุทธเข้ามาผสมโรงอีกด้วย

มากไปกว่านั้น ความอ่อนไหวของปัญหาชาติพันธุ์และความแตกต่างทางศาสนายิ่งอ่อนไหวมากขึ้นเมื่อเมียนมาปฏิรูปการเมืองจากระบบทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือน (Civilian government) ที่มาจากการเลือกตั้ง

หากเป็นรัฐบาลทหารแก้ปัญหาโรฮิงยาและความต่างทางศาสนาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง รัฐบาลทหารย่อมไม่ต้องสนใจการตอบสนองจากทั้งประชาชนภายในประเทศและแรงกดดันจากนานาชาติเลย

แต่ระบบการเมืองเมียนมาเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลพลเรือนเมียนมาสุ่มเสี่ยงเสมอเมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาภายในประเทศที่สลับซับซ้อนนี้

ดังนั้น เราจึงเห็นรัฐบาลพลเรือนกล่าวถึงแต่การลงทุนจากต่างประเทศ ความพยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านศึกษา

การหยิบยกประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่าเรื่องชาติพันธุ์ โดยเฉพาะหากใครเดินทางไปเมียนมาแล้วมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำทางนโยบายในระดับต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประสังคม เราจะได้ยินคำว่า Rule of Law, Transparency และการปราบปรามคอร์รัปชั่น

แต่คนเหล่านั้น จะกล่าวถึงปัญหาพื้นฐานเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความแตกต่างทางศาสนาน้อยมาก

ที่ผมกล่าวมาเช่นนี้ ต้องการจะบอกว่า คำเหล่านั้น เป็นความคาดหวังของทุกคน แต่ไม่มีใครคนไหนพูดถึงปัญหารากฐานซึ่งเมื่อกล่าวถึงหรือเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว จะทำให้พวกเขายุ่งยาก

ยิ่งถ้าเป็นคนในรัฐบาลพลเรือนด้วยแล้ว พวกเขาจะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ให้มากที่สุด

ไม่มีใครกล้าไปแตะ “ประกายไฟ” ที่อันตรายนั้น รวมทั้ง นางออง ซาน ซูจี ด้วย

ดังนั้น เราจึงไม่เคยได้ยิน นางออง ซาน ซูจี พูดถึงชาวโรฮิงญา แม้ว่าเธอจะส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นางออง ซาน ซูจี ไม่เคยไปพื้นที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ใดๆ รวมทั้งไม่เคยเข้าไปพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเรื่องการแก่งแย่งที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัญหาที่กว้างไปทั่วเมียนมา หลังจากที่มีการลงทุนจากต่างประเทศและขัดแย้งกับชาวบ้าน

ให้สังเกตว่า นางออง ซาน ซูจี กล่าวถึงเรื่องนี้และเธอย่อมห่วงใยผู้คนชนกลุ่มน้อย แต่มักกล่าวถึงช่วงที่เธอเยือนต่างประเทศมากกว่าที่จะเข้าไปแก้ปัญหาเองในพื้นที่

 

ใครจุดประกายไฟนี้?

มีแถลงการณ์อย่างเป็นครั้งแรกจากสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor Office) เรื่องนี้ หลังจากที่ นางออง ซาน ซูจี ได้รับโทรศัพท์และพูดคุยจากประธานาธิบดีแห่งตุรกี Erdogan แถลงการณ์นี้ใช้คำว่า…ได้ถกเถียงประเด็น (รัฐ) ยะไข่…(2) และได้กล่าวถึงข้อมูลปลอม (fake news) เพื่อสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้นระหว่างความแตกต่างระหว่างชุมชนต่างๆ และมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ให้กับผู้ก่อการร้าย…(3)

ในแถลงการณ์นี้ นางออง ซาน ซูจี กล่าวถึง…ลัทธิการก่อการร้ายว่าเป็นสิ่งใหม่ แต่รัฐบาลจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่า (การก่อการร้าย) จะไม่ขยายตัวไปทั่ว (รัฐ) ยะไข่…(4)

สำหรับคนภายนอกอย่างผม ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางศาสนาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเป็นทั้งปัญหารากฐานและแก้ไขได้ยาก

แต่ใครเป็นคนจุดประกายไฟนี้?

เราควรดูว่า ใครมีศักยภาพในการจุดประกายไฟ และใครได้รับประโยชน์ หากรัฐบาลพลเรือนซึ่งง่อนแง่นอยู่แล้ว ต้องเสียคะแนนนิยม และอาจเสียที่นั่งในรัฐสภา

ลึกแต่ไม่ลับ

—————————————————————————————————
(1) Ben Westcott and Rebecca Wright, “Muslim world denounces Myanmar”s treatment of Rohingya; West reticent” CNN 5 September 2017.
(2) State Counsellor Office “State Counsellor discussed issue of Rakhine State with President Tayyip Erdogan of Turkey” อ้างจาก Eleven 6 September 2017.
(3) Ibid.,
(4) Ibid.,