ชนาพาอี : นักบุญก้นครัว ผู้ทำให้พระเจ้ากลายเป็น ‘เพื่อนสาว’ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ชนาพาอี : นักบุญก้นครัว

ผู้ทำให้พระเจ้ากลายเป็น ‘เพื่อนสาว’

 

ในบรรดานักบุญสตรีซึ่งมีน้อยกว่านักบุญบุรุษมากๆ นั้น ชนาพาอีดูเหมือนจะมีความพิเศษมากกว่านักบุญท่านอื่นๆ

ไม่เพียงแต่ท่านจะเป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ชนาพาอียังเป็นคนวรรณะศูทร ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ถูกสังคมชนชั้นวรรณะกดให้ต่ำต้อยไปกว่าผู้อื่นถึงสองเท่า

ชีวิตของชนาพาอีไม่ได้โลดโผนเหมือนนักบุญมีราพาอีผู้เป็นราชนิกูลหรือนักบุญอาณฑาลผู้สูงส่งแห่งแดนทมิฬ ท่านเป็นเพียงสาวใช้ในครัวจนตลอดชีวิต

กระนั้น บทกวีชองชนาพาอีก็เป็นที่นิยมในหมู่คนมาราฐีจนถึงทุกวันนี้ ด้วยรสชาติที่ท้าทายขนบและโลดโผนกว่านักบุญสตรีคนอื่นๆ

“ละทิ้งความละอาย ขายตัวเธอในตลาดซะ แล้วมีชีวิตโดดเดี่ยว นั่นทำให้เธอลุถึงพระองค์ได้, ฉิ่งในมือ พิณบนไหล่ ฉันจะออกไปแบบนั้น ใครจะกล้าห้าม? ชายสาหรีปลิวไปแล้ว แต่ฉันจะเข้าไปท่ามกลางฝูงชนโดยปราศจากความคิด ชานีกล่าว พระเป็นเจ้าที่รัก ฉันจะกลายเป็นโสเภณี เพื่อลุถึงที่พำนักของพระองค์”

ในสมัยนั้นใครจะกล้าบอกว่า โสเภณีหรือวณิพกหญิงจะลุถึงบ้านของพระเจ้าได้ มีก็แต่พราหมณ์ที่อ้างว่าสามารถบรรลุถึงพระเป็นเจ้าด้วยอภิสิทธิ์แห่งชนชั้นตน แม้ชนาพาอีจะไม่ใช่โสเภณีในชีวิตจริง แต่บทกวีดังกล่าวก็ถือว่าท้าทายความเชื่อของสังคมไม่น้อย

ผมได้กล่าวถึงชนาพาอีไว้เล็กน้อยในบทความก่อนหน้า แต่นั่นเล็กน้อยมากๆ หากเทียบเคียงกับตำนานชีวิตของท่านที่ผู้คนกล่าวถึง และยังมีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจ

เพราะชนาพาอีผู้นี้แหละ ที่ทำให้พระวิโฐพาเจ้ากลายเป็น “เพื่อนสาว” ของเธอ

 

ชนาพาอีมีชีวิตร่วมสมัยกับท่านนักบุญนามเทพ คืออยู่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ ท่านเป็นชาวมหาราษฎร์ กำเนิดในวรรณศูทร ตำนานเล่าไว้ว่าบิดามารดาพาท่านมายังปัณฑรปุระตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อได้เห็นพระวิโฐพา เด็กหญิงไม่ขอตามบิดามารดากลับไปบ้านอีก บิดาของท่านนามเทพจึงรับเด็กหญิงมาอยู่ในบ้าน

ด้วยสำนึกรู้คุณ เธอจึงทำหน้าที่รับใช้ครอบครัวของนามเทพ (ซึ่งเป็นคนวรรณะต่ำเช่นกัน)

ที่จริงเป็นไปได้ว่า ชนาพาอีอาจพลัดหลงกับบิดามารดาตั้งแต่วัยเยาว์ เธอจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าและถูกเลี้ยงดูโดยครอบครัวนามเทพ นอกจากการทำงานในครัวเพื่อตอบแทนพระคุณของผู้เลี้ยงดู เธอยังถือว่านามเทพเป็นครู ซึ่งสอนให้เธอได้รู้จักบทกวี ทำให้เธอได้มีเครื่องมือแสดงออกซึ่งความรักต่อพระเป็นเจ้า

แม้เธอจะมีศรัทธามากเพียงใด แต่งานในครัวก็ยุ่งเสียจนเธอไปสามารถไปยังวิหารแห่งพระวิโฐพาได้ เธอต้องคัดเมล็ดพืช โม่แป้ง ทำอาหาร หาบน้ำผ่าฟืน เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน

ในขณะที่เธอทำสิ่งต่างเหล่านี้ เธอก็สวดพระนามไม่ก็ขับบทกวีถึงพระวิโฐพาที่เธอแต่งขึ้นเอง

 

ตํานานเล่าว่า พระเป็นเจ้าผู้คิดถึงสาวกจนทนไม่ไหว ลุกออกจากแท่นบูชา เสด็จออกจากวิหารมายังบ้านของนามเทพเพื่อทานอาหารกับคนในครอบครัว

แต่วัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิม คนรับใช้มักรอของเหลือจากคนในบ้านโดยไม่ร่วมนั่งกินด้วย

ชนาพาอีจึงไม่ได้ร่วมทานอาหารมื้อนั้น พระวิโฐพาเสวยไปนิดหน่อยก็หยุด เพราะทรงเห็นว่าชนาพาอีไม่อยู่ที่นั่น

เมื่อคนในบ้านกินเสร็จ พระวิโฐพาจึงเข้าไปยังห้องโทรมๆ ของชนาพาอี เสวย “ของเหลือ” ร่วมกับเธอ ปกติแล้ว ใครๆ ก็กินของเหลือจากพระเจ้า นี่กลับกัน พระองค์ช่วยเธอล้างจานชาม แล้วบรรทมที่มุมหนึ่งของห้องเล็กๆ นั้น

ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าเธอจะยุ่งกับงานบ้านเพียงใด พระวิโฐพาจะมาช่วยงานของเธอเสมอ

ในหนังสือภักตะวิชัยซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมประวัตินักบุญของมหิปติ เล่าถึงการตรัสของพระวิโฐพาอย่างขำๆ ไว้ว่า

“ข้าต้องตื่นแต่เช้าเพื่อช่วยชานีโม่แป้ง ช่วยเธอแบกน้ำมาใส่ตุ่ม ทั้งยังปัดกวาดเศษอาหารที่เธอจัดเตรียม เอาขยะปฏิกูลใส่ตะกร้าแล้วนำไปทิ้ง ข้าช่วยซักผ้าและใช้กรทั้งสี่ช่วยเธอบดข้าว”

เชื่อกันว่า หินโม่ของนักบุญชนาพาอียังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ใครไปปัณฑรปุระจะได้ทำพิธีโม่แป้งพร้อมกับขับบทกวีของท่านเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ข้างต้น

 

สําหรับชนาพาอี พระวิโฐพาเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นทั้งเพื่อน พี่สาว แม่ คนรัก และแม้แต่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวเธอเอง ดังกวีบทหนึ่งที่ว่า

“ฉันได้จับเจ้าหัวขโมยแห่งเมืองปัณฑารี โดยเอาชายผ้าโอบรอบคอ, ฉันทำหัวใจให้กลายเป็นคุก ขังพระองค์ไว้ข้างใน, มัดพระองค์ไว้แน่นด้วยถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ล่ามพระบาททั้งสอง, โบยตีพระองค์ด้วยวลี ‘โส’หัม’ (ข้าคือท่าน) พระองค์ได้แต่ร้องครวญครางอย่างขมขื่น, ชานีกล่าว ขออภัยด้วยเถิดพระเป็นเจ้า ข้าจะไม่ปล่อยพระองค์ไปจากชีวิต”

พระกฤษณะ (ในที่นี้คือพระวิโฐพา) มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นหัวขโมยหรือโจร เพราะในวัยเด็กท่านเคยขโมยเนยสดจากเพื่อนบ้านโดยใช้เชาว์ปัญญา จึงถูกเรียกว่า “โจรขโมยเนย” (นวนีตโจระ = นวนีตะ-เนยสด, โจระ-โจร,หัวขโมย) แต่ศาสนิกถือว่า พระองค์ยังเป็น “จอมโจรขโมยใจ” ของทุกๆ คนจากความหล่อเหลาทรงเสน่ห์อีกด้วย

ส่วนคำว่า โส’หัม เป็นประโยคสำคัญจากคัมภีร์อุปนิษัท แสดงให้เห็นว่า เรากับพระเจ้าหรือสัจธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน

บางโอกาส ชนาพาอีจะเรียกพระวิโฐพาว่า “วิฐฐลาพาอี” หรือ “วิฐาพาอี” ถ้าแปลอย่างวัยรุ่นก็คงเป็น “เจ๊วิฐฐลา” คือเรียกพระวิโฐพาอย่างพี่สาวหรือเพื่อนสาว เพราะเธอรู้สึกว่า ในชีวิตสาวใช้ที่ไม่มีใคร เธอมีเพียงพระวิโฐพาเป็นทั้งเพื่อนและคนรัก บางครั้งเธอจึงเห็นพระเจ้าในสภาวะหญิงสาววัยเดียวกัน

“ฉันนั่งลงท่ามกลางต้นตุลสี (กะเพรา) ชานีแกะมวยผมออก พระเจ้าช่วยทาเนยใสและน้ำมันบนผมของเธอ พระองค์ตรัส ‘ชานีของฉันไม่มีใคร’ แล้วช่วยเทน้ำราดตัวเธอ ชานีกล่าว เพื่อนสาวของฉันช่วยอาบน้ำให้”

เพื่อนสาวคนนี้นอกจากจะช่วยเธอทำผมอาบน้ำอย่างผู้หญิงด้วยกันแล้ว ยังช่วยเธอทำงานบ้านมากเสียจนเธอรู้สึกละอายในบางครั้ง

“โอ้ พระผู้ทรงจักร ฉันจะชดใช้ให้สิ่งที่พระองค์ทำอย่างไรได้ พระองค์ให้เกียรติต่อความภักดีของฉันขนาดนี้ เมื่อฉันเริ่มปัดกวาด พระองค์ก็จะทูนตะกร้าขยะมูลฝอยบนพระเศียร ชานีกล่าว วิฐฐลาพาอีของฉัน พระองค์ทำงานต่ำต้อยนี้เพื่อฉันแท้ๆ”

 

คงจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป หากจะกล่าวว่า มุมมองที่ชนาพาอีมีต่อพระเจ้าในรูปเพื่อนสาวนั้น เป็นเรื่องความรักต่อเพศเดียวกัน กระนั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือเธอครองโสดตลอดชีวิต เราจึงไม่ควรตัดความเป็นไปได้ออกไป การเปลี่ยนพระเจ้าผู้เป็นที่รักให้อยู่ในรูปสตรีก็เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติแล้ว นักบุญสตรีมักมองพระเจ้าบุรุษในฐานะคู่ครอง หรือคนรัก มีเพียงชนาพาอีที่มีมุมมองต่อพระเจ้าแปลกออกไป

สภาพชีวิตของสตรีในยุคนั้น ชนาพาอีจึงได้แต่ทำงานบ้าน หลบอยู่ในครัวทั้งวัน เธออาจไม่ได้ห้าวหาญอย่างมีราพาอี ผู้ทิ้งชีวิตเจ้าหญิงไปเป็นขอทาน

กระนั้น บทกวีของชนาพาอีก็เปี่ยมไปด้วยจินตภาพแปลกใหม่ เธอพูดถึงการออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ การที่ผู้หญิงมีอิสระที่จะเลือกชีวิตตนเอง การท้าทายขนบของ “หญิงดี” เธอพูดถึงโสเภณี ปัญหาของพ่อผัวแม่ผัวในครอบครัวที่กดขี่ ความเป็นหญิงไม่ได้ต่ำต้อย “ตัวฉันอย่าเศร้าไปเลยที่ต้องเกิดเป็นหญิง” เธอพูดกับตนเอง

ปรัชญาสูงสุดของนาพาอี คือเธอสามารถเห็นตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ แม้พระเจ้าจะทรงสำแดงพระองค์ในรูปลักษณาการต่างๆ เพื่อเข้าสัมพันธ์กับสาวกตามความต้องการของพวกเขา แต่ถึงที่สุดแล้ว พระเจ้าทรงเป็นทั้ง “สคุณ” คือประกอบด้วยคุณลักษณะต่างๆ และ “นิรคุณ” คือปราศจากคุณสมบัติทั้งปวง ชนาพาอีมองเห็นทั้งสองด้าน

ผมจึงขอจบด้วยบทกวีของท่านนักบุญชนาพาอีว่า

“สิ่งใดที่ฉันกินก็เป็นทิพย์

สิ่งใดที่ฉันดื่มก็เป็นทิพย์

แม้เตียงนอนของฉันก็เป็นทิพย์

ทิพยภาวะอยู่ที่นี่ ทิพยภาวะอยู่ที่นั่น

พระเจ้าอยู่ที่นี่ พระเจ้าอยู่ที่นั่น

ชานีกล่าว วิฐฐลาพาอีแทรกซึมในทุกสิ่ง

จากภายในสู่ภายนอก” •