พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ เพื่อทุกคน (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ เพื่อทุกคน (1)

 

เพียงไม่กี่วันหลังได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ประกาศโครงการย้ายที่ทำการ กทม. ไปอยู่ดินแดงทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า และลานคนเมือง สู่การเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายจากทั้งหมด 214 อย่างของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ถือเป็นข่าวดีนะครับ สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่จะได้พื้นที่สร้างสรรค์และพิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แห่ง ในบริเวณใจกลางย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์

ถ้าเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ chadchart.com จะพบว่ามีการระบุข้อดีที่คนกรุงเทพฯ จะได้จากนโยบายดังกล่าว คือ ได้พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ได้รู้จักกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น, ได้พื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะแห่งใหม่ใจกลางสะดือเมือง, เป็นโมเดลของการสร้างพื้นที่ประเภท Third Place ในระดับเมือง

พิพิธภัณฑ์จะเล่าเรื่องเมืองกรุงเทพฯ ครอบคลุมลักษณะทางกายภาพและภูมิศาสตร์ ประเด็นของการพัฒนาเมือง เล่าเรื่องย่าน ที่มาที่ไปของชื่อย่าน รูปแบบสถาปัตยกรรม อิทธิพล วิถีชีวิตทั่วไป ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ของสามัญชน ฯลฯ โดยจะประสานความร่วมมือจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านเพื่อปรับอาคารที่มีรูปแบบศิลปะอันทรงคุณค่าและเป็นอาคารประวัติศาสตร์ ให้สามารถเล่าเรื่องราวของเมืองกรุงเทพฯ ในทุกมิติ

นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดถึงการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของศาลาว่าการ กทม. รวมถึงลานคนเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ เช่น พื้นที่แสดงความคิดเห็น จัดกิจกรรมการประชุม การหารือสร้างสรรค์นวัตกรรมเมือง การแสดงศิลปะ การแสดงดนตรี ฯลฯ เป็นต้น

(ดูรายละเอียดทั้งหมดเพิ่มได้จาก https://www.chadchart.com/policy/62175dd14e43cd8b4760bc8c)

คุณชัชชาติยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในเวลาต่อมาด้วยว่า ลานคนเมืองด้านหน้าศาลาว่าการ กทม.นั้นควร “เอามาเป็นฮับสำหรับการท่องเที่ยว กระจายออกไปจุดต่างๆ ทั้งเรื่องจักรยาน น่าจะมีศักยภาพมากกว่าการเป็นที่จอดรถ เพราะจะทำให้เมืองมีศักยภาพ มีความสง่ามากขึ้น” (ดูเพิ่มใน https://news.thaipbs.or.th/content/315999)

แนวคิดที่จะเปลี่ยนอาคารหลังนี้มาเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองมิใช่เรื่องใหม่อะไรนะครับ เกือบ 10 ปีมาแล้วที่แนวคิดนี้ถูกพูดถึง (เป็นนโยบายเดิมตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2555 สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ) แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเสียที จนอาจทำให้คนที่ตามเรื่องนี้มานาน (ผมเป็นหนึ่งในนั้น) ตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

แต่ด้วยการลงพื้นที่มาอย่างยาวนานของคุณชัชชาติ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้คนที่หลากหลาย และท่าทีการทำงานที่ดูเอาจริงเอาจัง ทำให้หลายคน ซึ่งรวมถึงผมด้วยเช่นกัน มีความหวังว่า สิ่งนี้น่าจะเกิดขึ้นได้จริงในช่วงเวลา 4 ปีที่คุณชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวคิดที่ดีแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัยดังกล่าว ผมแอบมีข้อกังวลเล็กๆ เกี่ยวกับทิศทางในการปรับเปลี่ยนอาคารหลังนี้ รวมถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบ หากโครงการนี้สำเร็จได้จริง และอยากใช้พื้นที่นี้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เนิ่นๆ

 

การย้ายออกของสถานที่ราชการภายในย่านเมืองเก่าสู่ภายนอก เป็นนโยบายที่รัฐไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องราว 40 ปีมาแล้ว หากจะให้ระบุจุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ก็อาจย้อนกลับไปสู่แนวคิดของ “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งต้องการจะลดความแออัดของเมืองเก่าลง โดยย้ายหน่วยราชการออกจากพื้นที่

ผ่านมากว่าสี่ทศวรรษ หน่วยราชการได้ทยอยย้ายออกไปมากมาย จนทำให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจขนาดเล็กชนิดที่เป็นรากหญ้าแท้ๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักคือพนักงานจำนวนมหาศาลที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์อยู่ในอาคารราชการต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านขายของชำ ร้านเสื้อผ้า ร้านตัดผม ร้านหนังสือ ฯลฯ ไปจนถึงหาบเร่แผงรอยรายย่อย ที่ต้องสูญเสียฐานลูกค้าหลักของตัวเองไป

อาคารราชการทั้งหลายเมื่อถูกย้ายออกไป บางแห่งก็รื้อลงเพื่อทำสวนสาธารณะ บางแห่งก็รื้อเพื่อเปิดมุมมองต่อโบราณสถาน หลายแห่งแม้ว่าจะไม่รื้อและถูกเปลี่ยนกิจกรรมการใช้งานมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด แกลเลอรี หรือพื้นที่เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมด เราต้องยอมรับนะครับว่า ปริมาณของผู้ใช้สอยอาคารลดลงจากเดิมอย่างเทียบกันไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนที่เข้ามาใช้สอยอาคารที่ถูกปรับขึ้นใหม่ในพื้นที่ เกือบทั้งหมด เราอาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ เท่านั้น คือ นักท่องเที่ยว และคนชั้นกลางระดับบน ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มนี้มีไลฟ์สไตล์ในการเดินทางเข้ามาในพื้นที่นี้ที่แตกต่างออกไปจากคนทำงานในสถานที่ราชการเดิมอย่างมาก

กล่าวอย่างรวบรัด คนทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่มิใช่ลูกค้าของธุรกิจรายย่อยในย่าน พวกเขานิยมกินอาหารในร้านที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม นิยมไปร้านกาแฟหรือร้านขนมหวานประเภทฮิปๆ ชิกๆ ที่เหมาะแก่การถ่ายรูป (กินไปถ่ายรูปไป) ซึ่งร้านค้าที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบนี้ได้ก็คือร้านที่ลงทุนสูงทั้งสิ้น

ไม่ปฏิเสธนะครับว่า นักท่องเที่ยวประเภทตามหาร้านค้าเล็กๆ หาบเร่แผงรอย ร้านเก่าๆ ดูโทรมๆ ไร้การตกแต่ง มีอยู่เช่นกัน

แต่เอาเข้าจริง พวกเขาเหล่านั้นส่วนมาก (ถ้าเราไม่ปฏิเสธความจริงจนเกินไป) ก็เป็นเพียงแวะเวียนมาเพื่อหามุมถ่ายภาพแปลกที่แหวกออกไปจากเดิมเพื่อโพสต์ลงสื่อโซเชียลเป็นครั้งคราวมากกว่า มิใช่ลูกค้าประจำในแบบพนักงานที่ต้องมาทำงานทุกวันแต่อย่างใด

 

โดยสรุป นโยบายย้ายสถานที่ราชการออกจากกรุงรัตนโกสินทร์ที่กินเวลายาวนานกว่า 40 ปี แม้ในช่วงแรกจะเป็นผลดีในการลดความแออัดที่มากเกินพอดีในย่านเก่า

แต่การย้ายสถานที่ราชการออกมากจนเกินพอดี (ในทัศนะผม) ณ ปัจจุบัน ได้ทำให้ย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์เงียบเหงาและไร้ชีวิตอย่างน่าเป็นห่วง

เมืองคึกคักเพียงช่วงกลางวันที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้สอย และเพียงไม่ถึงห้าโมงเย็นดีนัก เมืองก็เงียบลงอย่างฉบับพลัน

ไม่ต้องพูดถึงย่านเก่ารัตนโกสินทร์ในช่วงระบาดโควิดหนักๆ เลยนะครับ ร้างเสียจนน่ากลัว

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ที่พูดมามิได้ปฏิเสธแนวคิดในการย้ายข้าราชการ กทม.ออกจากพื้นที่นะครับ เพียงแต่สิ่งที่อยากชวนคิดก็คือ หากไม่คิดกิจกรรมทดแทนที่รัดกุมมากพอ จะยิ่งเข้ามาซ้ำเติมให้ย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ไร้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

บอกตามตรงว่า ด้วยเนื้อหานโยบายสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองที่ยังมิได้มีรายละเอียดให้เห็นมากนัก (ซึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายของคุณชัชชาติที่มากถึง 214 ข้อที่ทำให้ไม่สามารถโชว์รายละเอียดทั้งหมดได้) ผมอ่านดูแล้วรู้สึกว่า ยังมิได้ตระหนักถึงประเด็นที่ผมกล่าวมาเท่าที่ควร

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงยังมีลักษณะเป็นเพียงอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ ที่แน่นอน คงจะได้รับการออกแบบอย่างดี เล่าเรื่องทันสมัย และเต็มไปด้วยเทคโลยีสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังคงเป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพียงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและคนชั้นกลางระดับบนเท่านั้น

 

ลานคนเมืองที่จะปรับเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมอันหลากหลาย ก็ฟังดูดีและน่าสนใจในแบบที่ไม่ต่างจากโครงการที่ผ่านมาของภาครัฐสักเท่าไร โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ว่าจะพัฒนาตรงนี้เป็นฮับสำหรับการท่องเที่ยว กระจายออกไปจุดต่างๆ ทั้งเรื่องจักรยาน และลานแสดงดนตรี ศิลปะ ฯลฯ ก็ดูจะเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวและคนชั้นกลางระดับบนเช่นเคย

หากเป็นเพียงแค่นี้ (ซึ่งผมหวังว่าจะไม่เป็นเพียงแค่นี้) โครงการพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งสารตั้งต้นในการกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ให้เกิดขึ้นเร็วมากขึ้น (ปรากฏการณ์นี้คืออะไร ขอไม่อธิบาย เพราะเคยเขียนถึงไว้มากแล้ว หากสนใจ ดูใน https://www.matichonweekly.com/column/article_446657)

ควรออกตัวไว้อีกครั้งนะครับว่า ทุกกิจกรรมที่เขียนไว้ว่าจะทำให้เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เมืองนั้นผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ผมอยากเสริมว่า การจัดสรรพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เมือง (เท่าที่ปรากฏตามสื่อตอนนี้) มันไม่ครอบคลุมคนทุกแบบ ทุกไลฟ์สไตล์

หรือพูดให้ชัดก็คือ มันไม่ครอบคนทุกระดับชั้นในเมือง

เมื่ออ่านถึงตอนนี้ หลายคนคงอาจจะถามว่า แล้วกิจกรรมอะไรเล่าที่ผมกำลังหมายถึงอยู่ และอยากให้เกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ

เอาไว้ตอนหน้านะครับ ผมจะทดลองเสนอดูว่าอะไรบ้างที่จะช่วยทำให้พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ แห่งนี้เป็นไปเพื่อคนทุกคนอย่างแท้จริง หรืออย่างน้อยก็ขยายกลุ่มผู้ใช้สอยให้มากขึ้นกว่าพิพิธภัณฑ์รูปแบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน