ชัชชาติ + 1.38 ล้านเสียง = ? / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่ง วันที่ 1 มิถุนายน 2565 /ภาพถ่าย : อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ชัชชาติ + 1.38 ล้านเสียง = ?

 

ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ให้การรับรอง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ อย่างไม่มีปัญหา

ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินคาดคิด เพราะในทางการเมืองแล้ว ชัชชาติพร้อมคะแนนสนับสนุน/ฉันทามติ 1.38 ล้านเสียงนั้น เป็นความปรารถนาทางการเมืองที่ใหญ่โต-หนักแน่นเกินกว่าประสิทธิภาพการต้านทานของด่านปราการ กกต. มากมายนัก

ลำพังชัชชาติเอง ในฐานะตัวแสดงทางการเมืองรายหนึ่ง ก็มีความบึกบึนแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อผนวกเสียงสนับสนุนเกือบๆ 1.4 ล้านเสียงเข้าไปอีก เวลาเรากล่าวถึง “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” เราจึงมิได้กำลังพูดถึงปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง ที่เข้ามาทำงานการเมืองแบบโดดเดี่ยวเดียวดาย

ทว่า เรากำลังพิจารณาถึง “เรือนร่างทางการเมือง” แบบหนึ่ง ที่ทรงพลังอย่างสูง และอยู่เหนือศักยภาพของปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่งขึ้นไป (ชวนให้นึกถึงการรวมร่าง-กลายร่างของบรรดา “ยอดมนุษย์” หรือ “ซูเปอร์ฮีโร่” ในภาพยนตร์)

คล้ายคลึงกับพลังที่เคยผลักดันให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2544 มาได้

หรือถ้า “เรือนร่างทางการเมือง” ที่ผนวกรวมชัชชาติและเสียงประชาชนชาวกรุงเทพฯ ล้านกว่าเสียงเข้าด้วยกัน อุบัติขึ้นเมื่อต้นปี 2557 คำพูดที่ว่า “ถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน… ก่อนที่จะไปคิดถึงระบบ (รถไฟ) ความเร็วสูง” ก็คงจะหลุดออกมาจากปากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไม่ง่ายนัก

(และคงไม่มีใคร ที่สติสัมปชัญญะครบถ้วน จะหาญกล้าพูดอะไรแบบนั้น ในปี พ.ศ.นี้)

 

คําถามต่อเนื่องคือ “เรือนร่างทางการเมือง” ที่ขยายใหญ่โตของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” นั้นมีศักยภาพจะทำอะไรอื่นได้อีกบ้าง?

ประการแรก ไม่เพียงแต่ชัชชาติในฐานะปัจเจกบุคคล จะเป็นผู้ที่สื่อสารทางการเมืองได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นผู้นำทางการเมืองที่ไนซ์ โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปวางเปรียบเทียบกับปัจเจกบุคคลอีกราย ที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

แต่ “เรือนร่างทางการเมือง” ของชัชชาติบวกเสียงสนับสนุนร่วม 1.4 ล้านเสียง จะช่วยกันกำหนด-ก่อรูปมาตรฐานผู้นำการเมืองไทยเสียใหม่

ว่าอย่างน้อยๆ คนเป็นผู้นำควรจะต้องทำงานแบบเรียบง่ายเข้าถึงประชาชน มีศิลปะในการถ่ายทอดความคิดเห็น-จุดยืนของตนเอง และไม่ขี้หงุดหงิดฉุนเฉียวต่อหน้าธารกำนัล

พูดอีกอย่างคือ ชัชชาติและคะแนนเสียง 1.38 ล้านเสียง จะช่วยหนุนส่งให้เกิด “แบบอย่าง/ต้นแบบทางการเมือง” หรือ “แบบแผนปฏิบัติ” รูปแบบใหม่ ที่แพร่ลามจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครไปสู่หน่วยงานรัฐระดับเดียวกันหรือเล็กกว่า และไล่จี้กลืนกลายไปถึงผู้นำระดับอื่นๆ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงส่งกว่า

 

ประการที่สอง เมื่อสถานภาพทางการเมืองของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” แยกไม่ออกจากเสียงสนับสนุน 1.38 ล้านเสียง

นั่นหมายความว่าเจ้าของคะแนนเสียงเหล่านั้นย่อมสามารถร่วมกดดันหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของปัจเจกบุคคลชื่อชัชชาติได้ตามสมควร

หากคนจำนวนมากในเกือบๆ 1.4 ล้านเสียงข้างต้น ต้องการให้บรรยากาศทางการเมืองใน กทม. มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น พวกเขาย่อมสามารถผลักดันความต้องการเช่นนั้นให้แสดงออกมาผ่าน “เรือนร่างทางการเมืองของผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ได้

เช่น ถ้าการนำ “ตู้คอนเทนเนอร์” มากีดขวางการชุมนุมของประชาชน เป็นภาพที่อุจาดสายตาและรบกวนจิตใจที่เป็นธรรมจนเกินไป เราอาจได้เห็นโหวตเตอร์บางส่วนกดดันให้ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” แสดงปฏิกิริยาบางอย่างต่อมลพิษทางการเมืองดังกล่าว

โดยปัจเจกบุคคลชื่อชัชชาติก็คงต้องแสวงหาวิธีการที่จะเคลื่อนย้าย “ตู้คอนเทนเนอร์” ออกไปอย่างนุ่มนวลประนีประนอมที่สุด และไม่ได้เปิดหน้าชนหรือบังคับใช้กฎหมายบางข้อกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จากหน่วยงานอื่นๆ อย่างโจ่งแจ้งเสียทีเดียว

(เช่นเดียวกับที่คณะบุคคลผู้ใช้สอย “ตู้คอนเทนเนอร์” จะไม่สามารถขัดขืน-เมินเฉยพลังของ 1 ผู้ว่าฯ และ 1.38 ล้านเสียง ได้แบบไม่สนใจไยดีอะไรทั้งสิ้น)

นอกจากการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นแล้ว “เรือนร่างทางการเมืองของชัชชาติ” จึงมีประโยชน์-หน้าที่ในแง่มุมนี้

ยิ่งกว่านั้น ผู้คนอาจหันมาพึ่งพา “เรือนร่างทางการเมือง” ร่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังมีผู้นำประเทศคนเดิม หรือเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าแล้ว เรายังแสวงหา “ผู้นำใหม่” ที่ได้รับฉันทามติท่วมท้นแบบ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ไม่ได้ •