โลก(กะ)ธรรม / กวีกระวาด : ธาร ธรรมโฆษณ์

กวีกระวาด

ธาร ธรรมโฆษณ์

 

โลก(กะ)ธรรม

 

แต่เดิมตรงนั้นเป็นดอนร้าง ต้นยางนาเห็นเป็นพุ่มสูง

ใครเลี้ยงวัวควายไม่กล้าจูง กลัวฝูงผีสังหลอกรังควาน

กระทั่งพระหนุ่มธุดงค์มา ปักกลดภิกขาภัตตาหาร

ชาวบ้านเลื่อมใสสีลาจาร นิมนต์ท่านจำพรรษาอยู่ถาวร

สลับวันเวลาจันทราทิตย์ พระท่านศักดิ์สิทธิ์ลือกระฉ่อน

สำนักสงฆ์ดอนยางเหมือนได้พร กลายเป็นวัดดังสะท้อนชื่อ “ดอนยาง”

ด้วยบุญบารมีเจ้าอาวาส สามารถกุมใจเป็นแบบอย่าง

ส่งเสริมการศึกษาหาที่ทาง ปลูกสร้างโรงเรียนอย่างใหญ่โต

หมดบุญของท่าน เหล่าชาวบ้าน นิมนต์พระพรรษากาลอาวุโส

เป็นสมภารต่อไปตาม ‘วินโย’ ร้อยโซ่เคหากับอาราม

จากรุ่นสู่รุ่นถึงยุคใหม่ พระราชบัญญัติสงฆ์ไทยมีแบบห้าม

ทดแทน ‘วินัย’ บังคับตาม ให้นิยามเพื่อผลการปกครอง

การตั้งเจ้าอาวาสแปรเปลี่ยนไป พระผู้หลักผู้ใหญ่เข้าเกี่ยวข้อง

มีเส้นสายอุปถัมภ์ตามครรลอง ไม่ยกย่องพรรษาพระบาลี

กล่าวถึงวัดดอนยางปัจจุบัน ร่ำรวยมหันต์ระดับเศรษฐี

ด้วยเพราะศรัทธาบารมี พระหนุ่มที่ปฏิบัติตรงธุดงค์ธรรม

ยกระดับเด่นงามอารามหลวง ผลพวงพัฒนาอุปถัมภ์

เจ้าอาวาสตั้งตรงหนังสือนำ โดยคำสั่งเถรสมาคม

ชาวบ้านรอบวัดถูกตัดขาด อำนาจส่วนกลางเห็นเหมาะสม

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นโดยนิยม เลือกชื่นชมสมภารผ่านประชา

พระวินัยสูงส่งกว่ากฎหมาย แต่สุดท้ายคลายกฎลดคุณค่า

ยึดบัญญัติสงฆ์ใหม่มีป้ายตรา เกิดปัญหาทับถมระทมใจ

ฆราวาสมีระบบรัฐธรรมนูญ รวมศูนย์เคารพเสียงส่วนใหญ่

บรรพชิตมีบัญญัติพระวินัย คือธรรมาธิปไตยภายในวัด •