รัสเซียโทษชาติตะวันตก เร่งวิกฤตขาดแคลนอาหาร เสนอเปิดทะเลดำให้ยูเครนส่งออก แลกยกเลิกคว่ำบาตร

รัสเซียชี้วิกฤตขาดแคลนอาหาร ต้นเหตุชาติตะวันตกคว่ำบาตร เสนอข้อแลกเปลี่ยน ยกเลิกคว่ำบาตร แลกเปิดทะเลดำให้ยูเครนส่งออกอาหาร อังกฤษซัดเรียกค่าไถ่

 

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 วันที่ 26 พ.ค. รอยเตอร์รายงานว่า ทางการรัสเซียระบุถึงปัญหาขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในหลายชาติทั่วโลกว่ามีต้นเหตุมาจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยุติคว่ำบาตรที่ไม่ชอบธรรมต่อรัสเซีย

นอกเหนือไปจากความสูญเสียและความเสียหายในประเทศยูเครนจากการรุกรานของรัสเซียแล้วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาราคาอาหารพุ่งสูงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบหลายชนิด อาทิ ข้าวสาลี ธัญพืช น้ำมันพืช ปุ๋ยและอาหารสัตว์ เนื่องจากความพยายามของชาติตะวันตกที่ต้องการโดดเดี่ยวรัสเซีย ผู้ส่งออกสินค้าขนิดข้างต้นรายใหญ่ของโลกเช่นเดียวกับยูเครน

ที่ผ่านมานั้นสหประชาชาติหรือยูเอ็นอยู่ระหว่างพยายามเจรจากับทางการรัสเซียเพื่อให้เปิดทางให้เรือสินค้าของยูเครนสามารถแล่นออกจากทางเรือในทะเลดำเพื่อส่งออกสินค้าได้ ขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกกล่าวโทษว่ารัสเซียกำลังใช้เรื่องดังกล่าวเป็นตัวประกันต่อรองกับประชาคมโลก

นายดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าาวปฏิเสธข้อครหาของชาติตะวันตกว่าไม่เป็นความจริง พร้อมระบุว่าความเป็นจริงแล้วสาเหตุหลักของปัญหาทางด้านอาหารมาจากมาตรการคว่ำบาตของหลายชาติที่ไม่ชอบธรรมต่อรัสเซีย

“ชาติเหล่านั้นจำเป็นต้องยุติมาตรการคว่ำบาตรที่ทำให้เรือสินค้าที่บรรทุกข้าวสาลีและสินค้าอื่นๆ ไม่สามารถออกเดินทางไปเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้น” นายเปสคอฟ ระบุ

รายงานระบุว่า ท่าเรือส่งออกสินค้าทางใต้แทบทั้งหมดของยูเครนนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซีย ขณะที่กองทัพเรือรัสเซียนั้นควบคุมเส้นทางการเดินเรือสินค้าในทะเลดำไว้ทั้งหมด ส่วนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียยังส่งผลให้รัสเซียส่งออกสินค้าของตัวเองได้ยาก

รัสเซียและยูเครนถือเป็นชาติผู้ส่งข้าวสาลีรายใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณข้าวสาลีทั่วโลก ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วอย่างน้อยร้อยละ 30

นอกจากนี้ ยูเครนยังมีชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ในสินค้าอย่างข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา ส่วนรัสเซียและเบลารุส (เป็นพันธมิตรรัสเซีย) ที่อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรนั้นเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ในโลก

นางเยฟเวนนียา คราฟชุก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยูเครน กล่าวว่า ยูเครนมีข้าวสาลีและธัญพืชพร้อมส่งออกอยู่ที่ท่าเรือทะเลดำถึง 22 ล้านตัน ขณะที่ฤดูเก็บเกี่ยวรอบใหม่กำลังใกล้เข้ามา หากไม่สามารถส่งออกได้ ยูเครนจะไม่มีที่เก็บสินค้าที่ได้จากการเก็บเกี่ยวรอบใหม่นี้

ทั้งนี้ ท่าเรือส่งออกสินค้าใหญ่ของยูเครนมีทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเมืองมาริอูโปล ท่าเรือเมืองเคอร์ซัน และท่าเรือเมืองโอเดซซา โดยท่าเรือแห่งสุดท้ายนั้นทางยูเครนหวาดเกรงว่าจะถูกรัสเซียเข้ายึดครองจึงไม่สามารถใช้งานได้

ขณะที่ทางการรัสเซีย ระบุว่า ฝ่ายยูเครนนั้นทำให้เส้นทางเดินเรือสินค้าในทะเลดำไม่สามารถใช้การได้ด้วยการวางกับระเบิดเรือไว้ในน่านน้ำของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียให้คำมั่นว่า จะเปิดเส้นทางปลอดภัยสำหรับการเดินเรือในทะเลดำเพื่อให้เรือต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกท่าเรือมารีอูโปลของยูเครนผ่านทางทะเลอะซอฟ ออกไปสู่ทะเลดำได้ เพื่อให้ยูเครนสามารถกลับมาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สู่ตลาดโลกได้อีกครั้งเพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารโลก หากว่าชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรปผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

นายอันเดร รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียเสนอให้สหรัฐ และอียู ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อแลกกับการที่รัสเซียยอมเปิดน่านน้ำในทะเลดำ เพื่อให้เรือสินค้าต่างชาติสามารถเข้าขนส่งสินค้าอาหารจากท่าเรือในเมืองมารีอูโปล ซึ่งอยู่ในทะเลอะซอฟ ออกไปยังตลาดโลกได้อีกครั้ง

รมช.ต่างประเทศรัสเซียอธิบายว่า เหตุที่รัสเซียตัดสินใจเปิดเส้นทางเดินเรือในทะเลดำเนื่องด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เรือสินค้ายูเครนสามารถแล่นเข้าออกจากท่าเรือในมารีอูโปลได้อย่างปลอดภัย โดยรัสเซียพร้อมเปิดท่าเรือมารีอูโปลอีกครั้งเมื่อเคลียร์ทุ่นระเบิดหมดแล้ว พร้อมทั้งขอให้ยูเครนทำลายทุ่นระเบิดที่วางไว้ในน่านน้ำดังกล่าวด้วย

“ฝ่ายยูเครนต้องปลดชนวนทุ่นระเบิดที่ท่าเรือทุกแห่งซึ่งเรือจะทอดสมอ รัสเซียพร้อมจัดหาช่องทางปลอดภัยด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น รัสเซียกำลังหารือในประเด็นนี้กับสหประชาชาติ หลังจากต้องปิดทำการท่าเรือในน่านน้ำทะเลดำหลายแห่งเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน”

อย่างไรก็ตาม รูเดนโกเตือนว่า หากยูเครนจัดการคุ้มกันเรือสินค้ายูเครนด้วยเรือรบของชาติตะวันตก จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในทะเลดำรุนแรงมากขึ้น

ด้าน มิคาอิล มิซินต์เซฟ หัวหน้าศูนย์ควบคุมการป้องกันประเทศรัสเซีย เผยต่อสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ว่า ขณะนี้มีเรือสินค้าต่างชาติ 70 ลำจาก 16 ประเทศอยู่ในท่าเรือ 6 แห่งแถบทะเลดำ รวมทั้งท่าเรือในเมืองโอเดสซา เคอร์ซัน และมิโคไลฟ

นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น กองทัพเรือรัสเซียได้ปิดล้อมเส้นทางเข้าออกทะเลอะซอฟ และทะเลดำซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญสินค้าเกษตร เนื่องจากยูเครนเป็นชาติผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปกล่าวหาว่า รัสเซียเป็นตัวการทำให้ราคาอาหารโลกมีความปั่นป่วน เนื่องจากการปิดกั้นไม่ให้ยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลอดโลก ทั้งกล่าวหาว่ารัสเซียใช้ประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกอาวุธในการสร้างวิกฤตราคาอาหารทั่วโลก

ข้อเสนอของรัสเซียเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากชาติตะวันตก โดยอังกฤษออกมากล่าวหารัสเซียว่าพยายามเรียกค่าไถ่จากโลก หลังรัสเซียออกมากดดันให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อันเป็นผลจากสงครามในยูเครน เช่นเดียวกับสหรัฐที่กล่าวโทษรัสเซียที่เป็นฝ่ายใช้ความป่าเถื่อนและโหดร้ายทารุณในสงครามดังกล่าว

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐตั้งข้อสังเกตตั้งแต่สัปดาห์ก่อนว่า อาหาร ปุ๋ย และธัญพืชเป็นสิ่งที่ได้รับการยกเว้นการคว่ำบาตรจากสหรัฐรวมถึงประเทศอื่นๆ อีกมาก และสหรัฐกำลังทำเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าเหล่านี้

ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวันรัสเซียเพิ่งเสนอว่าพร้อมเปิดทางสำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อบรรเทาวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากยูเครนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชหลักของโลก และฤดูกาลเก็บเกี่ยวกำลังใกล้จะเข้ามาถึงแล้ว

นอกจากนี้ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ย้ำว่า ยูเครนพร้อมที่จะให้ความตกลงในหลักการเกี่ยวกับการจัดทำทางเดินที่ปลอดภัยสำหรับการขนส่งธัญญาหารตามข้อเสนอของรัสเซีย แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถไว้ใจรัสเซียว่าจะรับประกันความปลอดภัยในเส้นทางดังกล่าว และไม่ส่งเรือของตนลอบเข้าไปโจมตีจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ลิซ ทรัส รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวหา ปูตินว่ากำลังยึดโลกเพื่อเรียกค่าไถ่ โดยเรียกร้องให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรก่อนที่จะอนุญาตให้มีการขนส่งธัญพืชของยูเครนได้ พร้อมย้ำว่าสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้คือการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรหรือการผ่อนปรนใดๆ ที่จะทำให้ปูตินแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว