จำกัดส่งออกอาหารลาม 30 ชาติ IMF เตือนทำเศรษฐกิจโลกวุ่นหนัก

ประเทศผลิตอาหารแห่งัดมาตรการจำกัดส่งออก นักวิเคราะห์หวั่นยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนนอกเหนือจากปัญหาเงินเฟ้อ ชี้กระทบถ้วนหน้าไม่เว้นชาติร่ำรวย

 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 บลูมเบิร์กรายงานว่า มาตรการกักตุนอาหาร หรือจำกัดการส่งออกอาหาร จากบรรดาประเทศผู้ผลิตอาหารขณะนี้ได้ลุกลามไปใน 30 ประเทศแล้ว ที่มีการบังคับใช้ห้ามการส่งออกอาหาร เพื่อพยุงราคา รวมถึงสต๊อกไว้สำหรับการบริโภคในประเทศ มาตรการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผลกระทบจากสงครามยูเครน และมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายชนิดที่ขาดหายไปจากห่วงโซ่อุปทานของตลาดโลก

บลูมเบิร์กระบุว่า มาเลเซียเป็นประเทศรายล่าสุดที่ประกาศระงับการส่งออกไก่ ซึ่งส่งผลต่อให้บรรดาผู้บริโภคในสิงค์โปร์ต่างตื่นตัวแห่กักตุนไก่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งจนขาดตลาด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นชาติที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซียมากถึง 1 ใน 3 ของการบริโภคในประเทศ กรณีที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนที่สุดคือ กรณีการจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคของอินโดนีเซียในก่อนหน้านี้ ซึ่งภายหลังอินโดฯ ได้ประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว กับกรณีการห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก

มาตรการจำกัดหรือห้ามการส่งออกอาหารที่ 30 ประเทศบังคับใช้ ส่งผลให้ประเทศยากจนจะมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการที่ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้น สวนทางค่าครองชีพอันน้อยนิดของพลเมือง ทว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศร่ำรวยเองก็ไม่พ้นผลกระทบจากมาตรการกักตุนอาหารดังกล่าวเช่นกัน

ตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร ชาวอังกฤษไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ลดการใช้จ่ายด้านการซื้ออาหารลงช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันร้านอาหารในสหรัฐที่แม้จะไม่ปรับขึ้นราคาค่าอาหารแต่ก็ลดปริมาณอาหารที่เสิร์ฟให้ลูกค้าลง ไม่ต่างกับฝรั่งเศสที่รัฐบาลปารีส เตรียมออกบัตรกำนัลอาหารให้สำหรับบางครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ซาบริน โชว์ดรี หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทวิเคราะห์ Fitch Solutions เผยกับบลูมเบิร์กว่า นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียยูเครน ขณะนี้มีมาตรการกักตุนอาหารหรือห้ามส่งออกที่ขยายวงไปแล้วถึง 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นสถานการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2007-2008

“เชื่อว่ามาตรการกักตุนอาหารจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี 2022 นี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเสี่ยงให้ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลง โดยเฉพาะพลเมืองในประเทศกลุ่มเปราะบาง”

มาตรวัดราคาอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติพุ่งขึ้นมากกว่า 70% นับตั้งแต่กลางปี ​​2020 และใกล้จะถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว หลังจากการรุกรานยูเครนที่ขัดขวางการส่งออกพืชผลและทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องสั่นสะเทือน การกีดกันอาหารมากขึ้นผลักดันต้นทุนให้สูงขึ้น ส่งผลเสียต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และสร้างความปวดหัวให้กับบรรดาธนาคารกลางหลายชาติที่พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง

สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.คริสตินา จีโอจีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งกล่าวบนเวทีประชุมเวิลด์อิโคโนมิคฟอรัมที่เมืองดาวอส เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ผลจากการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบาง ตลอดจนปัญหาห่วงโซ่อุปทาน กำลังทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้เผชิญความปั่นป่วนยุ่งเหยิง ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โซเนีย อัคเตอร์ ด้านสินค้าเกษตรจากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ความเห็นต่อบลูมเบิร์กว่า “ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกากำลังดิ้นรนเพื่อเลี้ยงตัวเอง” เธอเสริมว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นสัดส่วนต่อคนยากจนที่มีรายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหาร

ทั้งนี้ เดวิด อดัมสัน อาจารย์อาวุโสศูนย์วิจัยอาหารและทรัพยากรโลก ของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ในออสเตรเลีย ยังมองอีกว่าการกักตุนอาหารของหลายชาติ ไม่เพียงกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าอาหารเท่านั้นที่ต้องเผชิญภาระค่าอาหารที่สูงขึ้น แต่ยังพบว่าประเทศผู้ส่งออกอาหารบางราย ได้ออกมาตรการบังคับหรือลงโทษเกษตรไม่ให้เพิ่มกำลังการผลิตหรือใช้โอกาสจากราคาอาหารในตลาดโลกที่สูงขึ้น

“การจำกัดส่งออกเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับความมั่นคงทางอาหาร เนื่องนื่องจากเป็นการป้องกันตลาดไม่ให้มีห่วงโซ่อุปทานได้อย่างราบรื่น”