“สำนึกใหม่” ของจ่าศาล ในความเรียงงานวันชาติ 2483/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

“สำนึกใหม่” ของจ่าศาล

ในความเรียงงานวันชาติ 2483

 

“สมัยใดที่ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงบุญญาภินิหาร ไทยในยุคนั้นก็เจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อสิ้นบุญวาสนาพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นเสียแล้ว ไทยก็เกิดยุคเข็ญถึงบ้านแตกสาแหรกขาด…การปกครองระบอบเก่านั้นเป็นอันพ้นสมัยไม่สามารถจะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง” (บุญเรือน เกิดศิริ, 2483, 57-58)

 

งานฉลองวันชาติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ถูกจัดขึ้นด้วยรัฐบาลประสงค์ให้พลเมืองภูมิใจในฐานะเจ้าของประเทศและรำลึกถึงวันปฏิวัติ

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย รวมทั้งการประกวดเรียงความเพื่อให้ประชาชนแสดงทัศนทางการเมืองออกสู่สังคมด้วย

ผลการการตัดสินเรียงความปี 2483 ในหัวข้อ “ความสำคัญของวันชาติ” นั้น

เรียงความของบุญเรือน เกิดศิริ รองจ่าศาลแพ่ง ได้รับรางวัลที่ 2

ประชาชนมาร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 และความเรียงวันชาติ 2483

สำนึกใหม่รองจ่าศาลแพ่ง

ภูมิหลังของบุญเรือน เกิดศิริ (2455-2525) เป็นชาวลพบุรี จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส สวนกุหลาบฯ และเข้าเรียนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม (2472) สำเร็จธรรมศาสตรบัณฑิต (2477) และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (2489) จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตำแหน่งสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ (2512)

ครอบครัวเขามีความภูมิใจในผลงานการส่งเรียงความเข้าประกวดในงานวันชาติ เรื่อง “วันชาติและสนธิสัญญาอำนวยประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างไร” (2482) จนได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100 บาท และหนังสือ 1 ชุดจากนายกรัฐมนตรี และเรื่อง “ความสำคัญของวันชาติ” ได้รับรางวัลที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 100 บาทจากนายกรัฐมนตรี (2483) ในครั้งนั้น และได้นำเกียรติคุณนี้มาใส่ไว้ในหนังสืองานศพของเขาด้วย (อนุสรณ์ฯ บุญเรือน, 2525, 3)

อาคารกระทรวงยุติธรรมแห่งระบอบใหม่เปิด 24 มิถุนายน 2484 และบุญเรือน เกิดศิริ รองจ่าศาล

บุญเรือนเริ่มต้นเรียงความของเขาว่า พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย หากมีผู้ใดได้มีโอกาสผ่านไปทางลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปรัตยุบันนี้จะประสบหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญอันเป็นถาวรวัตถุชิ้นหนึ่งซึ่งจารึกข้อความว่า “24 มิถุนายน 2475 ณ ที่นี้คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” หมุดอันนี้ย่อมจะเห็นเด่นชัดเป็นเครื่องหมายให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ (บุญเรือน, 2483, 40)

เนื่องจากในช่วงเวลานั้น เขาเป็นเรียนกฎหมายที่ตั้งที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขาอาจเป็นนักเรียนผู้หนึ่งที่ได้ไปร่วมฟังประกาศคณะราษฎรที่บานพระบรมรูปทรงม้า

ดังที่เขาเล่าไว้ว่า “สำหรับในด้านประชาชนนั้นเล่า ขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายที่ได้เห็นเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้น จงได้ระลึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในวันนั้นประชาชนแทบทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์สามเณรได้พากันไปชุมนุมฟังข่าวเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนืองแน่นอยู่ทั่วไปในบริเวณถนนราชดำเนิน ได้มีเจ้าหน้าที่แห่งคณะราษฎรอ่านประกาศให้ประชาชนฟังเป็นแห่งๆ และได้นำคำแถลงการณ์และประกาศไปแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป พวกเราชาวไทยทุกคนที่ได้ทราบความประสงค์ของคณะราษฎรต่างมีสีหน้าเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสไม่มีผู้ใดคัดค้าน ไม่มีผู้ใดกล่าวเป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎรและปราศจากเสียงซึ่งเป็นอกุศลทั้งปวง…” (บุญเรือน, 42-43)

แผนที่ประเทศไทยสีชาด ข่าวภาพไทย 24 มิถุนายน 2484 เครดิตภาพ เรือนไทย

เขานำเสนอแนวคิดในการตัดขาดสำนึกเรื่องชาติแบบเก่าและใหม่ว่า

“จริงอยู่ทุกๆ ชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง จึงย่อมมีวันเกิดของชาติ แต่ก็เป็นเรื่องเก่าแก่ปรำปราเหลือที่จะจดจำได้ ทั้งประชาชนก็มิได้รู้สึกนึกคิดด้วยว่าจะพึงยึดถือวันนั้นเป็นวันชาติ สำหรับชาติไทยเราตามประวัติศาสตร์ไทยได้เคยเพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึกมาหลายครั้งหลายหน แต่ทุกครั้งไทยไม่ถึงกับอับจน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันกอบกู้อิสสรภาพกลับคืนมาจนได้ จึงอาจมีผู้คิดว่าเหตุใดประเทศไทยเราจึงไม่ยึดถือเอาวันนั้นๆ เป็นวันชาติ”

“เช่น วันที่พ่อคุณศรีอินทราทิตย์ได้ประกาศให้ชาติไทยเราเป็นอิสระจากอำนาจของขอมใน พ.ศ. หรือวันที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ประกาศเอากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใน พ.ศ.1893 หรือวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ประกาสกู้อิศรภาพจากอำนาจพม่าใน พ.ศ.2127 หรือวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ประกาศกู้อิสรภาพจากอำนาจพม่าใน พ.ศ.2310 ก็ดี แต่ต่อจากวันเหล่านี้มาชาติไทยกลับต้องเสียอิสรภาพ”

“แม้ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนที่ไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ชาติไทยได้ถูกจำกัดความเป็นเอกราชหลายประการโดยสนธิสัญญากับนานาประเทศ เช่นเอกราชในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนต้องเสียอาณาเขตต์บางแห่ง อีกประการหนึ่งในสมัยก่อนถึงแม้จะได้เคยมีการเปลี่ยนวงศ์พระมหากษัตริย์ แต่อำนาจอธิปไตยหาได้เปลี่ยนแปลงไม่…” (บุญเรือน, 48-50)

พระมหากษัตริย์กับราษฎรในระบอบเก่า

จากมีแต่หน้าที่

มาสู่มีสิทธิเสรีภาพ

ด้วยเหตุนี้ เขาเห็นว่า วันที่ 24 มิถุนายน “เป็นวันที่ไทยได้เริ่มการปกครองใหม่ในระบอบประชาธิปไตย และเป็นวันที่เปลี่ยนชีวิตต์จิตต์ใจประชาชนชาวไทยทั้งชาติให้เป็นคนระบอบใหม่ ได้สิทธิอิสสรเสรีมีความเสมอภาคทั่วหน้ากันตามรัฐธรรมนูญ…” เนื่องจากอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งแต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปให้อำนาจนี้มาจากปวงชนชาวไทย การปกครองระบอบนี้ได้เปิดให้ชาวไทยทั้งมวลผู้เป็นเจ้าของประเทศได้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองบ้านเมือง เหตุเพราะว่า “รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและหน้าที่ของประชาชนชาวไทยไว้โดยชัดแจ้งให้ประชาราษฎรชาติไทยทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ สมภาพและภราดรภาพทั่วหน้ากัน” (บุญเรือน, 50-51)

บุญเรือน รองจ่าศาลชี้ให้เห็นว่า “…เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงมามีรัฐธรรมนูญ ประชาชนพลเมืองไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ตนมีสิทธิและหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยมากล้วนแต่เป็นหน้าที่ทั้งแทบทั้งนั้น ในระหว่างพลเมืองด้วยกันยังขาดความเสมอภาคโดยถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ บัดนี้ รัฐธรรมนูญได้ทำลายเครื่องกีดกั้นที่แบ่งชั้นวรรณะระหว่างบุคคลเสียสิ้นเชิง ไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า ให้บุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีอาชีพอย่างใดย่อมมีฐานะเสมอกันในกฎหมาย…ความแตกต่างในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลหรือทรัพย์สมบัติไม่เป็นเหตุให้บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายแตกต่างกันเลย…” (บุญเรือน, 52)

สำหรับเขาแล้ว การปฏิวัติ 2475 เป็นสิ่งที่ที่ต้องเกิดขึ้นและสร้างการปกครองใหม่ที่ก้าวหน้าว่า

“ภายใต้การปกครองระบอบเก่า จริงอยู่ประเทศไทยของเราได้ค่อยๆ ก้าวหน้า มาตามสมควรแก่ภาวะของประเทศที่ยังไม่เจริญเพียงพอ…สมัยใดที่ไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงบุญญาภินิหาร ไทยในยุคนั้นก็เจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อสิ้นบุญวาสนาพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นเสียแล้ว ไทยก็เกิดยุคเข็ญถึงบ้านแตกสาแหรกขาด บัดนี้ นานาอารยประเทศทั้งหลายจึงเห็นพ้องกันว่า การปกครองระบอบเก่านั้นเป็นอันพ้นสมัยไม่สามารถจะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง…ฐานะของประเทศไทยในยุคนั้น อุปมาเหมือนคนไข้หนักอันมีอาการแต่ทรงกับทรุดจนเกือบจะไม่มีทางเยียวยาสถานใดได้เลย ราษฎรส่วนมากพากันร้องว่า ยากจนลงไปทุกขณะ จนมองไม่เห็นว่า การครองชีพแต่ละครัวเรือนนั้นจะมีทางฟื้นคืนดีขึ้นได้และไม่มีวี่แววหรือช่องทางใดจะแก้ไขได้โดยเร็วเลย” (บุญเรือน, 57-58)

กล่าวโดยสรุป บุญเรือน นักกฎหมายหนุ่มชี้ให้เห็นว่า วันที่เป็น 24 มิถุนายนคือวันชาติอย่างแท้จริงเนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของเอกราช เริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นจิตสำนึกใหม่ของพลเมืองว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ เริ่มต้นสิทธิ เสรีภาพ เปิดโอกาสให้ผู้คนลืมตาอ้าปาก และสร้างความอารยะทัดเทียมนานาชาตินั่นเอง