สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (จบ)

 

“พวกเขาเตรียมการที่จะโจมตีดอนบาสอย่างโจ่งแจ้ง เตรียมบุกรุกดินแดนประวัติศาสตร์ของเรา รวมทั้งไครเมีย ในเคียฟพวกเขาประกาศความเป็นไปได้ในการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่กลุ่มนาโตก็ได้เริ่มการพัฒนาทางทหารอย่างแข็งขันในดินแดนที่อยู่ติดกับเรา ดังนั้น ภัยคุกคามที่เราไม่สามารถยอมรับได้อย่างสิ้นเชิงจึงถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะที่พรมแดนของเราโดยตรง… รัสเซียได้ตอบสนองเชิงรุกต่อการ รุกรานภายใต้การตัดสินใจที่ถูกบังคับ ทันเวลา และถูกต้อง การตัดสินใจของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย เข้มแข็ง และเป็นอิสระ”

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สุนทรพจน์ต่อขบวนสวนสนามของกองทัพ ณ จัตุรัสแดง กรุงมอสโก ในวันแห่งชัยชนะของมหาสงครามรักชาติเหนือนาซีครบรอบปีที่ 77, 9 พฤษภาคม 2022 (แปลโดย รุสกี้ โนวัสติ https://www.facebook.com/RU.Novosti.Page/posts/2251095585054915)

“เราไม่ได้แค่สนับสนุนชาวยูเครนให้ทำสงคราม โดยพื้นฐานแล้วเราเองนั่นแหละที่กำลังทำสงครามกับรัสเซีย แม้ว่าจะค่อนข้างทำผ่านตัวแทนก็ตาม และมันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องชนะ”

ส.ส.เซ็ธ มูลตัน พรรคเดโมแครต สมาชิกคณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ให้สัมภาษณ์รายการทีวี Fox News, 9 พฤษภาคม 2022 (https://www.democracynow.org/2022/5/9/headlines)

ประธานาธิบดีปูติน, ส.ส.เซ็ธ มูลตัน พรรคเดโมแครต & รมว.กลาโหม ลอยด์ ออสติน สหรัฐ

ขณะน้ำเสียงของปูตินข้างต้นออกมาในเชิงตั้งรับอย่างผิดคาด โดยให้เหตุผลแก้ต่างปฏิบัติการทหารของรัสเซียแทนที่จะเปิดประเด็นรุกใหม่ ข้อมูลตันและ ส.ส.อเมริกันบางรายกลับออกมาในเชิงสายเหยี่ยวเกรื่องกร่าง รับสมอ้างว่าสหรัฐกำลังทำสงครามตัวแทนกับรัสเซียเต็มปากเต็มคำ

ท่าทีเหล่านี้ทำให้นางเอเวอเรล เฮนส์ (Avril Haines) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐให้การกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่าสงครามยูเครนน่าจะคลี่คลายขยายตัวไปเป็นสงครามพร่ากำลัง (war of attrition) ที่ยืดเยื้อและแผ่กว้างออกไปไม่เฉพาะแต่ในเขตดอนบาสทางตะวันออก หากรวมถึงชายฝั่งทางใต้ของยูเครนด้วย ส่งผลให้มันคาดเดาได้ยากและอาจไต่ระดับสูงขึ้น โดยปูตินคาดหวังว่าความปักใจเด็ดเดี่ยวของฝ่ายตะวันตกในความขัดแย้งนี้จะค่อยหย่อนคลายลงพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป

(https://www.pbs.org/video/may-10-2022-pbs-newshour-full-episode-1652155201/)

ลอยด์ ออสติน ขุนพลสงครามตัวแทนอเมริกัน

สื่ออนุรักษนิยมอเมริกันอย่าง น.ส.พ. The Wall Street Journal ไม่ชอบใจทีมเสธ.หัวเสรีนิยมจัดของประธานาธิบดีไบเดนนักในยามหน้าสิ่วหน้าขวานของศึกรัสเซีย ดังที่บทบรรณาธิการเรื่อง “ประธานาธิบดีที่เรามี” (The President We Have) ของ WSJ เมื่อ 27 มีนาคมศกนี้ระบุว่า :

“สหรัฐกับฝ่ายตะวันตกจำต้องรีบฟื้นฟูเสริมสร้างความน่าเชื่อถือแห่งมาตรการป้องปรามทางการทหารและการทูตของตนอย่างเร่งด่วน เหล่าที่ปรึกษาซึ่งมีท่าทีสายเหยี่ยวกว่านี้จะช่วยส่งสัญญาณที่ปักใจเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้นแก่โลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรดาปรปักษ์” (https://www.wsj.com/articles/president-biden-regime-change-putin-russia-poland-gaffe-ukraine-war-national-security-advisers-klain-rice-sullivan-blinken-11648409352)

แน่นอนว่าบท บก.ของ WSJ ไม่ได้วิจารณ์รวมไปถึง รมว.กลาโหม ลอยด์ ออสติน ด้วย

อดีตนายพลสี่ดาวแห่งกองทัพบกสหรัฐผู้นี้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ค่าที่เขาเป็นผู้จัดตั้งการช่วยเหลือทางทหารแก่กองกำลังยูเครนในท้องถิ่นและยังติดต่อประสานกับฝ่ายกลาโหมของนานาชาติพันธมิตรยุโรปอยู่เสมอเพื่อผลักดันให้ช่วยจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนมากขึ้น แม้ว่าทางการวอชิงตันเองก็ออกจะช้าอืดอาดอยู่พอควรในการเปลี่ยนจังหวะเกียร์

นับแต่เริ่มสงครามในยูเครนมา ทางการสหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนไปแล้วเป็นมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประธานาธิบดีไบเดนก็กำลังเสนอร่างงบประมาณขอให้สภาคองเกรสช่วยยูเครนเพิ่มเติมอีก 33,000 ล้านดอลลาร์ (แบ่งเป็นความช่วยเหลือด้านอาวุธ 20,000 ล้านดอลลาร์, ด้านเศรษฐกิจ 8,500 ล้านดอลลาร์, ด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงทางอาหารและสนับสนุนผู้ลี้ภัยอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ https://www.npr.org/2022/04/28/1095236237/biden-ukraine-33-billion-aid)

ผลของการเร่งรัดจัดการของทางการสหรัฐช่วยย่นเวลานับแต่วันประกาศว่าจะส่งอาวุธล็อตใหม่ไปช่วยยูเครนอย่างเป็นทางการไปจนวันส่งอาวุธล็อตนั้นถึงพื้นที่จริงลงเหลือแค่ 3 วันอย่างเป็นประวัติการณ์

โดยบุคลิก รมว.กลาโหมออสตินชอบทำงานในเงามืดมากกว่ากลางแสง ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์อเมริกันมักรู้สึกว่าเขาออกจะถ่อมตนปลีกตัวในช่วงปีแรกที่รับตำแหน่ง

ออสตินเป็นคนพูดจาต่อสาธารณะอย่างรอบคอบรัดกุมยิ่ง

อดีตผู้บัญชาการเซ็นคอม (Central Command กองบัญชาการกำลังทหารอเมริกันภาคพื้นตะวันออกกลาง) คนนี้ค่อนข้างอึดอัดเมื่อต้องขึ้นให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสครั้งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม สงครามรุกรานของรัสเซียในยูเครนได้เปิดโอกาสใหม่ที่คาดไม่ถึงให้แก่เครือผลประโยชน์อุตสาหกรรม-การทหารอเมริกัน

ออสตินพบว่าสงครามตัวแทนที่อเมริกากำลังดำเนินเอื้อประโยชน์แปลกต่างบางอย่างด้านนโยบายที่เขาไม่คุ้นเคยให้

กล่าวคือ มันได้แรงสนับสนุนอย่างแทบเป็นเอกฉันท์ในศูนย์อำนาจกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

จากหนียะย่ายพ่ายจะแจ

ในอัฟกานิสถาน

สู่สงครามตัวแทนในยูเครน

บุคลิกสงวนปากคำ ความสมานฉันท์และความเป็นมืออาชีพของทีมเสธ.บลิงเคน-ซัลลิแวน-ออสติน ของประธานาธิบดีไบเดนช่วยอธิบายว่าทำไมไม่ปรากฏข่าวทัศนะที่อาจแตกต่างกันในทีมรั่วไหลแพร่งพรายออกมาเวลาต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในยามแถลงต่อสาธารณะ สามเสธ.ไม่เคยออกนอกแถวหรือส่งเสียงผิดเพี้ยนแปร่งหู

ในทางหลังฉาก พวกเขาก็ไม่ป้อนข้อมูลให้สื่ออเมริกันเกี่ยวกับเรื่องมโนสาเร่ส่วนตัวของสหายร่วมทีมหรือวิจารณ์กันเองลับหลังโดย “แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม”

แต่กระนั้นมันก็เป็นเรื่องเหลวไหลที่จะปัดปฏิเสธความตึงเครียดในรัฐบาลซึ่งมีเป็นธรรมดามาแต่ไหนแต่ไร การที่อเมริกาต้องหนียะย่ายพ่ายจะแจจากอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้วหลังกองทัพของรัฐบาลอัฟกันท้องถิ่นซึ่งทางการวอชิงตันช่วยก่อตั้งและให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูทั้งสิ้นราว 83,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงสองทศวรรษ มีอันแตกพ่ายสลายตัวลงง่ายดายเหลือเชื่อเมื่อถูกพวกทาลิบันรุกใหญ่ทั่วประเทศไม่ถึง 3 เดือนนั้นทำให้ต้องตั้งคำถามกับคุณภาพบรรดารายงานการวิเคราะห์ของฝ่ายอเมริกันเกี่ยวกับการเติบใหญ่ของฝ่ายทาลิบันและย้อนทบทวนความสิ้นเปลืองมหาศาลในระยะยาวถึง 2.313 ล้านล้านดอลลาร์ของการผจญภัยทางทหารครั้งนี้

(https://www.timesofisrael.com/as-afghan-army-routed-officials-say-pentagon-vastly-overestimated-its-power/ & https://watson.brown.edu/costsofwar/figures/2021/human-and-budgetary-costs-date-us-war-afghanistan-2001-2022)

รมว.กลาโหมออสตินเองก็ยอมรับออกมาเมื่อให้การเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการการทหารวุฒิสภาในปลายเดือนกันยายนศกก่อนว่า

“เราช่วยสร้างรัฐหนึ่งขึ้นมา แต่เราไม่สามารถหล่อหลอมชาติหนึ่งขึ้นได้… หากให้เสแสร้งว่าฝ่ายอเมริกันเราไม่ได้ตระหนกแปลกใจกับการที่กองทัพอัฟกันล่มสลายลงดื้อๆ ก็คงจะเป็นการพูดที่ไม่ซื่อตรง” (https://www.defense.gov/News/News-Stories/Article/Article/2791808/austin-gives-senate-hard-truths-of-lessons-from-afghanistan/)

และในทางกลับกัน กองทัพยูเครนก็รับมือทัพรัสเซียผู้รุกรานได้น่าพอใจเกินคาดของทางการสหรัฐเช่นกัน

หนังสือเรื่อง Peril (ภยันตราย, 2021) ที่บ๊อบ วู๊ดเวิร์ด รอง บก.น.ส.พ.วอชิงตันโพสต์เขียนร่วมกับโรเบิร์ต คอสตา ผู้สื่อข่าวการเมืองซีบีเอส นิวส์นั้น ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมศกก่อน ซึ่งเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนที่สหรัฐจะประกาศถอนตัวจากอัฟกานิสถานว่า รมว.ต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เสนอแนะต่อประธานาธิบดีไบเดนให้ยืดเวลาปฏิบัติภารกิจของทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานออกไปอีกหน่อยเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้เจรจาหาทางออกทางการเมืองกันได้

ข้าง รมว.กลาโหม ลอยด์ ออสติน ก็เสนอแนะให้ไบเดนถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับสัก 3 หรือ 4 ขั้นตอน

ทว่า ไบเดนเองที่ต้องการให้ถอนตัวจากอัฟกานิสถานอย่างเด็ดขาดเฉียบพลันเพื่อปิดฉาก “สงครามไม่รู้จบ” อันเป็นสมญาที่ใช้เรียกการผจญภัยของอเมริกาในอัฟกานิสถานกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เสียที ดังที่เขาตั้งปุจฉาในจังหวะถอนทหารอเมริกันชุดสุดท้ายออกจากอัฟกานิสถานเมื่อ 31 สิงหาคมศกก่อนว่า :

“ต่อพวกที่เรียกร้องต้องการให้ทำสงครามในอัฟกานิสถานต่อไปเป็นทศวรรษที่สามนั้น ผมขอถามว่า อะไรคือผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญยิ่งของเรากันแน่? ในทัศนะของผมแล้ว เรามีแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือ ประกันให้มั่นใจว่าไม่มีทางจะใช้อัฟกานิสถานมาเป็นฐานส่งการโจมตีต่อบ้านเกิดเมืองนอนของเราอีกต่อไป” (https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/08/31/remarks-by-president-biden-on-the-end-of-the-war-in-afghanistan/)

ปัจจุบัน พร้อมกับสงครามตัวแทนในยูเครน สหรัฐได้ทุ่มทุนก้อนใหม่ทางการเมืองและการทหารในความขัดแย้งซึ่งดูจะคาดเล็งจุดจบมิได้และเสี่ยงสูงพอควร

มาคราวนี้ถึงแม้สหรัฐจะไม่ได้เอาทหารของตนเข้าไปเสี่ยงรบเอง แต่เดิมพันคือความน่าเชื่อถือของอเมริกาในโลก