คะแนน 1.38 ล้านของชัชชาติ มาจากใคร…เลือกให้บริหารเมือง ต้องแก้การเมือง แบบเลือกข้างไม่เลือกคน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

คะแนน 1.38 ล้านของชัชชาติ

มาจากใคร…เลือกให้บริหารเมือง

ต้องแก้การเมือง

แบบเลือกข้างไม่เลือกคน

 

การเลือกข้างเริ่มจากการรัฐประหารในปี 2549 จนมีการปราบคนเสื้อแดงปี 2553 การเลือกข้างจึงขยายไปทั่ว การเลือกตั้ง 2554 แม้เพื่อไทยจะชนะได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา 265 คน แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในกรุงเทพฯ ก็ยังแพ้ประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่เล็กน้อย เพื่อไทยได้ 1.21 ล้าน ปชป.ได้ 1.28 ล้าน ห่างกันประมาณ 70,000

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีการแบ่งข้างอย่างชัดเจนที่สุด มีผู้มาใช้สิทธิ์ 2.7 ล้าน เกือบ 64% หม่อมสุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ ได้ 1.25 ล้าน คิดเป็น 47.7 5% พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ จากเพื่อไทย ได้ 1.07 ล้าน

จากนั้น แกนนำก็เกิดความมั่นใจ จึงมีการเคลื่อนไหวของม็อบ กปปส.ขับไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขัดขวางการเลือกตั้งและนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557

รัฐบาล คสช.ก็ขึ้นมาปกครองเกือบ 5 ปี และต่อด้วยการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ยังพอมองเห็นการแบ่งพวกแบ่งข้างอย่างชัดเจน

ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่รวมกันได้ประมาณ 1.4 ล้าน ฝ่ายอนุรักษนิยมที่หนุน คสช. คือพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันได้ 1.2 ล้าน

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่หลังจากมีการเลือกข้างเลือกขั้วแล้วฝ่ายประชาธิปไตยมีคะแนนรวมเหนือฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ครั้งนั้นมีคน กทม.มาใช้สิทธิ์ถึง 3.1 ล้านคน

 

คะแนน 1.38 ล้าน

เกิดจากการวางยุทธศาสตร์ ให้เลือกคน

เดิมไม่มีใครรู้ว่าจะเลือกตั้ง กทม.เมื่อไร แต่รู้ว่าพวกนิยมอำนาจเก่าจะใช้แผนเดิมคือ “ไม่เลือกเรา เขาชนะแน่” ครั้งนี้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่ต้องการให้เลือกข้าง แต่อยากให้เลือกคน เลือกนโยบายและความสามารถ จึงใช้ยุทธศาสตร์ผู้สมัครอิสระ ซึ่งคิดว่าอาจจะมีผลให้การเลือกข้างลดลงได้ระดับหนึ่ง

เมื่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คิดเป็นผู้ว่าฯ กทม. แบบอิสระทำให้มีทั้งคนหนุนคนค้าน แต่สุดท้ายก็ต้องเห็นด้วยกับคนที่จะลงแข่ง เกมนี้ชัชชาติออกจากเพื่อไทย แต่ก้าวไกลยังส่งแข่ง ฝ่ายตรงข้ามเมื่อเห็นแข่งกันจริงก็คิดว่าคะแนน 1.4 ล้าน ต้องถูกแบ่งครึ่งแน่ ก็เลยอยากลงแข่งด้วย ปชป.ก็อยากฟื้นฟูพรรค คนอื่นก็คิดว่าทำได้ดีกว่าอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ปรากฏว่ามีฝ่ายขวามาแข่งถึง 4 ราย เป็นไปตามแผนที่คิดไว้ ถือว่าสำเร็จไป 50% เกิดศึกตะลุมบอนหลายกลุ่มแน่ ไม่ใช่สองฝ่าย

ชัชชาติออกวิ่งก่อน เพราะคิดว่าคงไม่เกินปี ที่ไหนได้ ถูกลากยาวไป 2 ปีครึ่ง แต่ความพร้อม ความตั้งใจจริงและอดทน ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าคนที่ตัดสินใจสมัครเพียงไม่กี่วัน ซึ่งชาวบ้านมองแค่ข้อนี้ก็ชนะใจไปแล้ว

หาเสียงก่อน 2 ปี คะแนนนำไปแล้ว คู่ต่อสู้คิดจะสกัดด้วยแผนเดิมก็ไม่สำเร็จ เกิดการแย่งคะแนนกันเองของฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งแม้ปากจะตะโกนก้องว่าขอให้รวมกำลังกันเลือกแบบมียุทธศาสตร์ เทคะแนนให้คนใดคนหนึ่ง แต่ยิ่งพูดต่างฝ่ายต่างก็ยิ่งช่วงชิงหาเสียงให้พวกตัวเอง

ผู้มีอิทธิพลมีบารมีของแต่ละกลุ่มก็ออกมาหนุนหลัง

กองเชียร์ฟังแล้วก็งงไม่รู้จะเลือกใคร

 

คะแนนชัชชาติมาจากไหน

จึงได้เกินกว่า 1.38 ล้าน

ตามทฤษฎีที่เคยวิเคราะห์ไว้ว่าคะแนนเสียงของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่รวมกันประมาณ 1.4 ล้าน จนถึงวันเลือกผู้ว่าฯ กทม. 2565 ทั้งสองพรรคมีอยู่ประมาณพรรคละ 700,000 เท่ากัน ในกระแสการเมืองแบบนี้ชัชชาติต้องทำให้เกิดการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ที่ใกล้ชิดและมีโอกาสดึงได้คือคะแนนของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ถัดไปก็คือกลุ่มคนกลางๆ และพวกไร้พรรค

ซึ่งหมายความว่า ชัชชาติต้องทำให้ผู้ลงคะแนนกลุ่มต่างๆ เชื่อมั่นในคุณสมบัติและความสามารถของเขา เชื่อในความตั้งใจ พอใจกับการลงพื้นที่ตลอด 2 ปีครึ่ง เห็นด้วยกับนโยบายและยังมีวิธีการหาเสียงที่ดี

ถ้าดูผลการเลือกตั้ง พบว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากก้าวไกลได้เพียง 250,000 แสดงว่าคะแนนอีกประมาณ 350,000 หรือมากกว่านั้นคงมาลงคะแนนให้ชัชชาติเพื่อให้ได้เป็นผู้ว่าฯ เพราะเห็นว่ามีแกนนำ กปปส. และพันธมิตร มาประกาศให้รวมกำลังกันสกัดชัชชาติ คะแนนของชัชชาติจึงไหลขึ้นไปถึง 1 ล้านกว่าทันที

คะแนนอีก 2 แสนกว่าก็จะมาจากคนกลางๆ ที่เป็นกองเชียร์ของหลายพรรค และคนที่ไม่มีพรรค

สุดท้ายยังมีเด็กรุ่นใหม่ อายุ 18-21 ที่ยังไม่เคยลงคะแนนอะไรเลย มาใช้สิทธิ์ประมาณ 130,000 คน น่าจะได้จากตรงนี้ประมาณเกือบ 1 แสน รวมแล้ว 1.38 ล้าน

 

คะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยม

หายไปไหน 500,000 คะแนน

คะแนนในฝ่ายอนุรักษนิยมเองรวมกัน 4 คน ได้ 7.8 แสน มาจาก ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ปชป. 2.54 จากสกลธี ภัททิยกุล ที่หนุนโดย กปปส. 2.3 แสน จากอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน 2.14 และจากรสนา โตสิตระกูล ซึ่งหนุนโดยกลุ่มพันธมิตรฯ 79,000 จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ 2.67 ล้าน รวมทั้งคนใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิ์เลยหลังปี 2562 ซึ่งประเมินว่ามาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่า 1.3 แสน แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ในเขต กทม.มีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 3.1 ล้าน แสดงว่ามีคนที่หายไปไม่มาใช้สิทธิ์ 5 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นธรรมดาการเลือกตั้ง กทม.คนมาน้อยกว่าเลือกตั้งใหญ่… แต่ใครที่หายไป?

คาดว่าคะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ย้ายมาลงให้ชัชชาติประมาณ 2 แสน อีก 2 แสนไม่ได้ย้ายไปลงคะแนนให้ใครแต่ไม่ได้มาลงคะแนน

เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะสภาพความตกต่ำของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมทำให้กองเชียร์ผิดหวัง คะแนนจึงลดหายไป อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง ดร.เอ้ ควรจะได้ไม่น้อยกว่า 500,000 ก็เหลือแค่ 250,000 การดึงคะแนนของ กปปส.จากพลังประชารัฐมาให้สกลธี ก็ได้แค่ 230,000 อดีตผู้ว่าฯ อัศวินก็ดึงคะแนนที่เคยลงให้พลังประชารัฐมาได้แค่ 210,000 ส่วนรสนาซึ่งลากพากลุ่มพันธมิตรมาสนับสนุน (แทนที่จะแพ้คนเดียว) ได้คะแนนไม่ถึง 80,000

 

ข้อสังเกตของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้…

เริ่มจะเลือกคน

1.ถือว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ลดลงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าอนุรักษนิยมขาดความกระตือรือร้นเนื่องจากที่ผ่านมามักจะมีตัวเอกจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวเด่นและได้เปรียบในการต่อสู้มาตลอดสิบกว่าปีแต่ ครั้งนี้ไม่มีตัวเด่นที่จะถือเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมได้ แต่ก็พอไปวัดไปวาได้ในนามของพรรคและกลุ่ม

2. ประชาชนมีวิธีคิด วิธีเลือกที่เหมาะสม เหมาะกับสถานการณ์และรู้ว่าควรทำอย่างไรแม้ว่านักการเมืองและผู้สมัครอยากให้ทำตามที่ตัวเองต้องการ แต่พวกเขาทำตามความเห็นของเขาเองที่คิดว่าทำแล้วจะได้ผลดีแก่บ้านเมืองและสถานการณ์การเมืองที่เขาพอวิเคราะห์ได้ ต่อให้พรรคก้าวไกลจะดำเนินนโยบายใช้การเมืองนำหน้าขนาดไหน เขาก็ตัดสินใจเทคะแนนให้ชัชชาติเพื่อให้ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่เลือก ส.ก.พรรคก้าวไกล ทำให้คะแนนวิโรจน์ไปไม่ถึง 500,000

แม้มวลชนในฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นกัน พวกเขาเลือกคนตามความคิดตัวเอง คะแนนจึงกระจายออก

3. คะแนนของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถือว่าเป็นการทำลายสถิติการเลือกตั้งใน กทม.ที่ได้คะแนนสูงสุดและได้เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ได้รับชัยชนะในเขตรวมทั้งหมด 50 เขต

เป็นชัยชนะของคนที่อยากเลือกคนที่เหมาะสมมาบริหารเมือง แต่การเลือกข้างก็ยังมีอยู่