‘ชัชชาติ-ปรเมศวร์’ เร่งโชว์ฝีมือ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘ชัชชาติ-ปรเมศวร์’ เร่งโชว์ฝีมือ

 

ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ และคุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยาคนใหม่ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้เข้ามาทำงานบริหารพื้นที่ด้วยกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือเป็นความงดงามที่สุด

ต่อจากนี้ไป ดร.ชัชชาติและคุณปรเมศวร์ จะต้องใช้พลังสมองพลังกายโชว์ฝีมือจัดการปัญหาที่สะสมหมักหมมโดยเร็ว เพราะนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้นำไปสู่กระบวนการรวบอำนาจบริหารแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่สนใจฟังเสียงของประชาชน

สำหรับกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย ปัญหาแรกสุดที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องจัดการป้องกันนั่นคือ น้ำท่วม เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน

กรมอุตุฯ ทำนายว่า ระหว่างต้นเดือนมิถุนายนจะเกิดฝนตกชุกต่อเนื่องเพราะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้

ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่กี่วัน ฝนเทลงมาแค่ไม่กี่ห่าน้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วกรุง เจ้าหน้าที่ กทม.อ้างเครื่องสูบน้ำขัดข้องใช้งานไม่ได้ บางจุดมีตัวเงินตัวทองเข้าไปติดอยู่ในเครื่องสูบอีกต่างหาก

เป็นเรื่องน่าประหลาด การบริหารจัดการน้ำท่วมของ กทม.ล้มเหลวแต่มีคำแก้ตัวโยนบาปไปให้สัตว์เลื้อยคลาน ทั้งที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทม.ทุ่มสร้างอุโมงค์ขนาดยักษ์ จัดงบฯ ทำบ่อสูบ ประตูระบายและท่อส่งน้ำเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ทุกครั้งที่ฝนตกก็เกิดน้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อน

ที่น่าอนาถกว่านั้น ก็คือพื้นที่น้ำท่วมขังหรือน้ำรอระบาย ไหลกระจุกอยู่ตรงหน้าอุโมงค์ยักษ์และบ่อสูบน้ำนั่นแหละ

เวลานี้ กทม.เตรียมแผนจะเอาเงินภาษีชาวบ้าน 27,000 ล้านบาทไปผลาญสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 6 แห่ง ต้องขอวิงวอนให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ระงับแผนนี้ไว้ก่อนแล้วอยากให้ย้อนไปตรวจสอบว่า เงินเป็นแสนล้านใช้ก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ รวมถึงระบบระบายน้ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำไมจึงด้อยค่าไร้ประสิทธิภาพไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างที่คุยโตโอ้อวดไว้?

ในเวลาดียวกัน หากมีฝนตกเทลงมา ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ทันท่วงที คงต้องเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอน จะมาอ้างเหตุผลว่าเป็นมือใหม่ไม่ได้เพราะตลอดเวลาที่หาเสียง ก็ประกาศว่าเป็นมือบริหารชั้นเยี่ยมพร้อมทำงานทันที

 

จากปัญหาน้ำท่วม กทม.ลามไปสู่การจราจรติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาวนเวียนซ้ำซาก ผู้ว่าฯ ทั้งที่มาจากกระบวนการแต่งตั้งลากตั้งและเลือกตั้งนับสิบคน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงกันข้ามปัญหาบานทะโร่จนกระทั่ง กทม.ได้ชื่อเป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

มีการคำนวณว่า คนกรุงเทพฯ ติดแหง็กอยู่บนถนนเฉลี่ยปีละ 64 ชั่วโมง

ปริมาณรถยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี นับถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปริมาณรถยนต์ใน กทม.มีมากถึง 11 ล้านคัน แต่ถนนใน กทม.รวมทุกสายรองรับรถได้แค่ 1.5 ล้านคันเท่านั้น

กทม.มีแผนสร้างโครงข่ายขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างระบบราง เรือ รถมานานแล้ว แต่เมื่อสร้างแล้วเสร็จ กลับไม่ได้เชื่อมอย่างที่คุยโม้เอาไว้

ดูตัวอย่าง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ละแวกใกล้ๆ

พื้นที่ที่ใกล้สถานีควรกำหนดเป็น พาร์กแอนด์ไรด์ หรือจอดรถแล้วขึ้นรถไฟฟ้า ก็มีแค่กระจิ๊ดเดียว รถประจำทางที่ควรจะวิ่งรับส่งจากสถานีถึงปลายทางมีกระท่อนกระแท่น ไร้ระบบ ใครอยากใช้บริการต้องกระเสือกกระสนกันเอาเอง

 

ขยะเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของ กทม. คนกรุงเทพฯ ทิ้งขยะเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นตัน ช่วงโควิดระบาด ลดลงไปหน่อยเหลือแค่ 8 พันตัน/วัน

ขยะปริมาณขนาดนี้ การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน แต่ละปีต้องใช้งบฯ หลายพันล้านบาทเพื่อกวาดเก็บขยะไปกำจัด เผาทิ้ง ฝังกลบ รีไซเคิล ทำเป็นเชื้อเพลิง แต่การเก็บรายได้เข้ารัฐ แค่หลักร้อยล้าน

ในหลายพื้นที่ขยะค้างเติ่ง บ่อขยะกลายเป็นบ่อกลางชุมชนเพราะเมืองขยายตัวก่อให้เกิดมลพิษ กลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสียรั่วไหลทะลัก แหล่งรวมเชื้อโรค ส่วนขยะเก็บนำไปรีไซเคิล กทม.ทำได้แค่เพียงเล็กน้อย

คงต้องเรียกร้องให้ ดร.ชัชชาติ รื้อระบบการเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

เรื่องฝุ่นและมลพิษในอากาศ เป็นปัญหาเรื้อรังเพราะผังเมืองไร้ประสิทธิภาพ ที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจการค้า โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย แหล่งบันเทิงเริงรมย์ และศูนย์ราชการ กระจุกตัวอยู่ในจุดเดียวกัน

ดร.ชัชชาติเร่งปรับกระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหามลพิษ ด้วยการเรียกร้องให้ชาว กทม.ลด ละ เลิกใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้บริการขนส่งมวลชน ดึงเอารถไฟฟ้า บัสเลน ไบก์เลน และทางเท้ามาเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนเมืองพัทยา ปัญหาหลักๆ คล้ายกับกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมรุนแรงหนักหน่วงไม่น้อยหน้า กทม. บางพื้นที่ของพัทยามีน้ำท่วมขังซ้ำซากแต่ละปีไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง

นายกเมืองพัทยาคนใหม่ ต้องวางแผนทำอย่างไรไม่ให้ฤดูฝนปีนี้ถล่มเมืองพัทยาจนกลายเป็นเมืองใต้บาดาลเหมือนในอดีต และในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ จะใช้ยุทธวิธีอย่างไรเพื่อปลุกฟื้นเมืองให้มีสีสันสดใส สะอาดและปลอดภัย ดึงนักท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก สร้างรายได้เข้าพัทยาอีกครั้ง

นี่เป็นโจทย์เก่าๆ เดิมๆ ที่ ดร.ชัชชาติและคุณปรเมศวร์ ต้องลงมือแก้อย่างฉับพลัน เพราะประชาชนมอบสิทธิเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อย่าทำให้ประชาชนผิดหวังเหมือนยุครัฐประหารนะครับ •