ตรวจการบ้าน ‘พาน้องกลับเข้าเรียน’ แก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา / การศึกษา

การศึกษา

 

ตรวจการบ้าน

‘พาน้องกลับเข้าเรียน’

แก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา

 

เปิดเทอมไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ เด็กยังคงได้เรียนออนไซต์แบบกระท่อนกระแท่น เนื่องจากความไม่พร้อมหลายประการ บางแห่งมีปัญหาซ่อมแซมอาคารไม่แล้วเสร็จ ปัจจัยจากสภาพอากาศ ฝนตก น้ำท่วมขัง

แต่ยังไม่พบปัญจัยที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดทั้งโรงเรียน…

ถือเป็นสัญญาณดี แต่อีกเรื่องที่ต้องจับตา แนวทางแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือการดึงเด็กหลุดระบบกลับเข้าเรียน ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชูนโยบายให้องค์กรหลักร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

โดยมอบนโยบายให้ทำในหลายโครงการ อาทิ พาน้องกลับห้องเรียน กศน.ปักหมุด และโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนเพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ซึ่งจะมอบทุนเรียนฟรีต่อเนื่อง 3 ปี มีหอพัก อาหาร 3 มื้อ ให้นักเรียนจบ ม.3 ได้เรียนต่อ 100% ในสถานศึกษา ม.ปลาย (สพฐ.) และ ปวช. (สอศ.) จำนวน 5,000 คน

 

ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แบ่งตามสังกัด ได้แก่ สพฐ. 78,003 คน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) 50,592 คน สอศ. 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 54,513 คน รวม 238,707 คน

ขณะที่ตัวเลขจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า อัตราการเคลื่อนตัวของเด็กในประเทศเกือบ 1.8 ล้านคน จาก 5 ล้านคน มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา 1.1 ล้านคน และยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก 7 แสนคน

ส่วนระดับอุดมศึกษา เด็กทั่วประเทศ 650,000 คน เข้ามหาวิทยาลัยได้ 300,000 คน พบเด็กหลุดจากระบบอุดมศึกษาถึง 14%!!

ยังไม่รวมกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือเด็กแอลดี ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการคัดกรองเบื้องต้น พบนักเรียนเสี่ยงเป็นแอลดี ประมาณ 3.6 แสนคน และถ้าไม่เร่งช่วยเหลือ ในอนาคตเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ เพราะการอ่านถือเป็นวิชาพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่นๆ

ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ชี้ชัดว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา มีความรุนแรงมากขึ้น

จากข้อมูล พบว่า ในแต่ละปี ไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว

ดังนั้น ในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รัฐบาล และ ศธ.ต้องเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างเร่งด่วน!

โดยขับเคลื่อนแก้ปัญหามานานกว่า 5 เดือน

ล่าสุด น.ส.ตรีนุช หัวเรือใหญ่ของ ศธ. ตรวจการบ้านอาชีวะ โดยเฉพาะด้านการผลิต พัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองความต้องการ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี โดยขอให้ สอศ.เพิ่มผู้เรียนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นความจำเป็นของประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

รวมถึงเร่งรณรงค์เพิ่มผู้เรียนในโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ หรืออาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนในระบบ

ซึ่งขณะนี้ยังมีที่รองรับนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้อีก

โดยมุ่งเป้าหมายไปยังผู้เรียนบางกลุ่ม บางพื้นที่ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์การบริหารส่วนตำบล

ส่วนโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี ได้ย้ำในการเพิ่มสถานประกอบการที่มีคุณภาพมาตรฐานมาร่วมจัดเพิ่มขึ้น และเร่งเพิ่มจำนวนผู้เรียนในระบบทวิภาคีทั้งในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยต้องมีแผนบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษา, ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องวิชาชีพ, เพิ่มบทบาทภาคเอกชน/สถานประกอบการ ให้มาช่วยวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

สำหรับโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ หรืออาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพนั้น นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ที่หลุดจากระบบการศึกษาในสถานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต้องหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก

ในส่วนของ สอศ.ได้จัดเตรียมสถานที่ในวิทยาลัยที่มีความพร้อม รวม 88 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะรับเด็กยากจน ด้อยโอกาส เข้ามาศึกษาต่อในระดับ ปวช. โดยที่เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีที่พัก มีอาหารให้ฟรี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่หางานให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย สามารถรองรับเด็กเข้าสู่โครงการได้กว่า 5,000 คน

โดยระยะแรกพบว่า มีเด็กสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 3,600 คน ถือว่าเป็นการตอบรับในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีเด็กเข้าโครงการถึงประมาณ 70%

โดยปีนี้ก็ยังจะเปิดรับสมัครเด็กเข้าโครงการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

ขณะที่ข้อมูลจากโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคันจากทุกสังกัด กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ดำเนินการเชิงรุกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้แล้ว กว่า 160,000 คน!

ล่าสุด ครูเหน่ง ตรีนุช ประกาศกลางเวที “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) ว่า จะเร่งขับเคลื่อน ดึงเด็กหลุดระบบกลับเข้าห้องเรียน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาตบังคับ จะต้องกลับเข้าระบบการศึกษา 100% ภายในวันที่ 10 มิถุนายนนี้

คงต้องจับตาว่า ศธ.จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่! •