พอสงครามยูเครนระเบิด โลกก็แข่งขันสร้างสมอาวุธครั้งใหญ่/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

พอสงครามยูเครนระเบิด

โลกก็แข่งขันสร้างสมอาวุธครั้งใหญ่

 

พอเกิดสงครามยูเครน งานแสดงสินค้าเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลกปีนี้จะมีความคึกคักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาแน่นอน

ที่น่ากลัวคือโลกกำลังจะเห็นการแข่งขันสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารอย่างร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง

สมรภูมิรบที่ยูเครนเป็นเสมือน showroom สำหรับประเทศผลิตอาวุธขายให้กับประเทศต่างๆ

เศรษฐกิจของประเทศผลิตอาวุธจะเฟื่องฟู ประเทศปานกลางและยากจนที่มีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านก็จะพยายามปรับขึ้นงบประมาณทางทหาร

ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจก็จะหนักหน่วงขึ้นอีก

โลกกำลังเข้าสู่ช่วงจังหวะอันตรายอีกครั้ง

สำหรับผู้เชี่ยวชาญและระดับนโยบายหลายๆ ประเทศ การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นเรื่องที่คาดคิดไม่ถึงมาก่อน

จะเชื่อเรื่อง “สิ่งที่คาดไม่ถึง” มันเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วต่อหน้าต่อตาจริง

มาถึงวันนี้ สงครามรอบใหม่นี้กำลังกระตุ้นให้มีการประเมินความสามารถทางทหารและการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมอีกครั้งในวงกว้างอย่างปฏิเสธไม่ได้

พอเกิดสงครามยูเครน ประเด็นเรื่อง “งบประมาณเพื่อความมั่นคง” ในหลายๆ ประเทศในยุโรปก็กลายเป็นเรื่องใหญ่

ก่อนหน้านี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องการเห็นพรรคการเมืองใดนำเสนอนโยบายยกระดับการเสนอให้เพิ่มงบฯ ทางทหาร

เพราะมีความเข้าใจว่าสงครามใหญ่ๆ คงจะไม่เกิดขึ้นอีก

หรือหากจะมีความขัดแย้งระหว่างประเทศก็คงจะมาในรูปของสงครามการค้าหรือสงครามไซเบอร์

แต่ไม่ใช่สงครามที่จะทดสอบกันด้วยอาวุธแบบสงครามโลกครั้งที่สองอีก

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง เคยตราหน้า NATO ว่าเป็น “สมองตาย” (brain dead)

คล้ายกับจะบอกว่าว่ากลไกของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือแห่งนี้หมดความหมายแล้ว ไม่เหมาะกับจุดประสงค์ในยุคปัจจุบัน

แต่วันนี้ หลังจากสงครามยูเครนทดสอบความสามารถของแต่ละประเทศที่จะขนเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ในคลังแสงของตนมาสำแดงเดชกันแล้ว ฟินแลนด์และสวีเดนกำลังจะสมัครเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ

เป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

สหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างเร่งลำเลียงความช่วยเหลือทางทหารไปให้ยูเครน

ไม่ว่าจะขีปนาวุธต่อต้านรถถังหรือต่อต้านอากาศยาน

อีกทั้งยังเร่งรัดให้ผู้รับเหมาด้านการป้องกันเร่งการผลิตโดยด่วนเพื่อต้านการรุกคืบของรัสเซีย

เราอยู่ในยุคใหม่ของความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและสมาชิก NATO

วลาดิมีร์ ปูติน จะเดินหน้าทุกวิถีเพื่อระงับยับยั้งการขยายสมาชิกภาพของนาโต

พันธมิตรทางทหารที่นำโดยวอชิงตันกำลังเสริมกำลังปีกตะวันออกด้วยกองกำลังและยุทโธปกรณ์ทันสมัย

จึงไม่ต้องแปลใจที่เกิดแนวโน้มว่ารัฐบาลทั่วโลกกำลังจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมมากขึ้นและและเร็วขึ้น

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI ) รายงานว่า งบประมาณทางการทหารทั่วโลกทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์ (68 ล้านล้านบาท) ในปี 2564 เป็นครั้งแรก

และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

หลายประเทศในยุโรปตะวันออกยังคงพึ่งพายุทโธปกรณ์สมัยโซเวียตที่ล้าสมัย

ในขณะที่สมาชิกนาโตสามารถสนับสนุนประเทศเหล่านี้ด้วยอาวุธยุคใหม่ที่จะยับยั้งรัสเซีย

เป็นที่รู้กันว่าปูตินได้พยายามผลักดันงบประมาณด้านทหารมาหลายปีเพื่อปรับปรุงกองทัพของมอสโกให้ทันสมัย

พอเกิดสงครามยูเครน กองทัพรัสเซียที่ส่งเข้าไปยูเครนไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น

เกิดคำถามว่าต้นทุนที่รัสเซียลงไปกับการสร้างแสนยานุภาพทางทหารของรัสเซียมายาวนานนั้น “คุ้มค่า” หรือไม่

กลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกประเทศในยามนี้

นั่นคือ ประสบการณ์ของรัสเซียสอนว่าเงินไม่ได้รับประกันผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอไป

นักวิจัยด้านนี้ชี้ว่าการใช้จ่ายด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2564 อันเป็นการสร้างสถิติใหม่

ในขณะที่รัสเซียยังคงเสริมกำลังกองทัพของตนก่อนที่จะบุกยูเครน

คาดกันว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปจะหันมาสร้างเสริมศักยภาพทางทหารกันครั้งใหญ่หลังสงครามยูเครน

เพราะไม่มีใครไว้ใจใครได้อีก

รายงานของ Sipri ระบุว่า แม้จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยังขยายคลังอาวุธ

โดยปีที่แล้วการใช้จ่ายด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.7%

ในปี 2564 การใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกันโดยมีมูลค่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ นั่นเป็นตัวเลขสูงสุดที่เราเคยมีมา

งบฯ ทหารของรัสเซียเพิ่มขึ้น 2.9% ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการเติบโตติดต่อกัน ขึ้นไปเป็น 65.9 พันล้านดอลลาร์

ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของรัสเซีย ซึ่ง “สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมาก”

เท่ากับอันดับ 5 ของโลก

รายได้จากน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้นช่วยดันให้รัสเซียปรับเพิ่มรายจ่ายด้านการทหารอย่างเห็นได้ชัด

แนวโน้มเช่นนี้สะท้อนในความเคลื่อนไหวของรัสเซียในการรวบรวมกองกำลังติดชายแดนยูเครนก่อนการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อ 24 กุมภาพันธ์

แต่ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยโลกตะวันตกต่อรัสเซียจะทำให้รัสเซียสามารถควักกระเป๋าซื้อหาและผลิตอาวุธเพิ่มอย่างต่อเนื่องหรือไม่ยังเป็นคำถามใหญ่

ปี 2557 รัสเซียผนวกไครเมีย มอสโกถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก

เป็นจังหวะเดียวกับที่ราคาพลังงานลดลง

จึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่ามาตรการคว่ำบาตรมีผลกระทบต่อแผนการพัฒนากองทัพและอาวุธของรัสเซียเพียงใด

มาถึงวันนี้ มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น แต่ราคาพลังงานก็แพงขึ้นด้วย

รัสเซียได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้น แต่จะสามารถรักษาระดับงบฯ ทางทหารในระดับเดิมได้หรือไม่ก็เป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์

ด้านยูเครนนั้น งบฯ กลาโหมเพิ่มขึ้น 72% นับตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมีย

แต่ก็ลดลงกว่า 8% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์

กระนั้น ก็ยังคงสัดส่วนคิดเป็น 3.2% ของจีดีพีของยูเครน

 

เมื่อความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในยุโรป ประเทศของ NATO ก็เพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น

ปีที่แล้วสมาชิก 8 ประเทศของนาโตบรรลุเป้าหมายการใช้จ่าย 2% ของสหรัฐมีงบฯ ทางทหารสูงกว่าใคร ด้วยยอด 801 พันล้านดอลลาร์ สวนทางกับกระแสโลก

น่าสังเกตว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของสหรัฐเพิ่มขึ้น 24% ในขณะที่การจัดซื้ออาวุธลดลง 6.4%

นักวิจัยสังกัด Sipri บอกว่า “รัฐบาลสหรัฐได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐเหนือคู่แข่งทางยุทธศาสตร์”

ใครที่ติดตามการใช้งบทหารของจีนมาตลอดจะเห็นแนวโน้มขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จีนมีงบฯ ใช้จ่ายด้านการทหารสูงเป็นอันดับสองของโลกด้วยเงินประมาณ 293,000 ล้านดอลลาร์

เท่ากับเพิ่มขึ้น 4.7%

นับเป็นการเพิ่มขึ้นของงบฯ กลาโหมปีที่ 27 ติดต่อกัน

เมื่อจีนเสริมเขี้ยวเล็บทางกองทัพ เพื่อนบ้านที่หวั่นกลัวการสยายปีกของปักกิ่งก็ย่อมต้องปรับตัวเช่นกัน

งบฯ ทางทหารของญี่ปุ่นเพิ่มเงิน 7 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับบวก 7.3% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นประจำปีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2515

ออสเตรเลียก็มีค่าใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มขึ้น 4% โดยแตะระดับ 31,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายมากเป็นอันดับสามของโลกที่ 76.6 พันล้านดอลลาร์ก็ปรับงบฯ เช่นกันในปี 2564 แม้จะเป็นการขยับขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.9 %

สหราชอาณาจักรยึดอันดับที่ 4 โดยมีงบฯ ใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 3% เป็น 68.4 พันล้านดอลลาร์

มายืนแทนที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งลดงบฯ ทหารลง 17% เหลือประมาณ 55.6 พันล้านดอลลาร์

งบฯ กลาโหมของไทยและอาเซียนคงหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวตาม…เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ควรจะต้องวิเคราะห์ในบริบทรอบๆ บ้านเรา