ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ “จ๋าจ๊ะ วรรณคดี” ของ “ญาดา อารัมภีร” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

พาไปรู้จัก “นรกเย็น”

อาจารย์ญาดาบอกว่า ปกติเมื่อเอ่ยถึง “นรก” เรามักนึกถึงดินแดนที่มีไฟลุกโชติช่วงแผดเผาอยู่ตลอดเวลา

“ไฟ” กับ “ความร้อน” จึงอยู่คู่นรก

เป็นไฟนรก หรือนรกร้อน

ที่หลายคนใจประหวัดไปถึง “กระทะทองแดง”

แล้ว “นรกเย็น” เป็นอย่างไร และอยู่ที่ใด

 

อาจารย์ญาดาบอกว่า “นรกเย็น” หรือ “โลกันตนรก” นี้ อยู่ไกลแสนไกล

อยู่ระหว่างสามจักรวาล

ถ้าแต่ละจักรวาลคือวงกลม 3 วง

เมื่อเอาสองวงมาเรียงชิดติดกันบนพื้นราบแถวเดียวกัน แล้วเอาวงกลมวงที่สามวางซ้อนไว้บนกึ่งกลางสองวงนั้น จะเกิดช่องว่างเป็นรูปสามเหลี่ยมระหว่างวงกลมทั้งสาม

ช่องว่างดังกล่าว นั่นแหละคือ “นรกเย็น”

หรือเรียกอีกชื่อว่า “โลกันตนรก” ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ระหว่างโลก

 

วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายถึง “โลกันตนรก” ว่ากว้าง 8,000 โยชน์

มืดตึ๊ดตื๋อ มืดเสียจนมองอะไรไม่เห็นเนื่องจากอยู่นอกกำแพงจักรวาล

แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ส่องถึงแค่ภายในกำแพงจักรวาลเท่านั้น

แต่โอกาสที่นรกนี้จะเห็นแสงสว่างมีอยู่บ้าง

เป็นวาระที่สำคัญยิ่ง คือวาระที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายไว้

“เมื่อท่านเสด็จลงเอาปฏิสนธิในครรภ์พระมารดานั้นก็ดี และเมื่อท่านสมภพจากมาตุคัพโภทรก็ดี และเมื่อพระพุทธิเจ้าตรัสแก่สัพพัญญูตญาณนั้นก็ดี และเมื่อพระพุทธิเจ้าตรัสเทศนาพระธรรมจักรนั้นก็ดี แลเมื่อพระพุทธิเจ้าเสด็จเข้าสู่นิพพานนั้นก็ดี ในกาลทั้ง 5 ครั้งนี้ ในโลกันตนรกนั้นจิงได้เห็นหนแท้นักหนา คนซึ่งอยู่ในนรกนั้นจิงได้เห็นกันแล”

แต่แสงสว่างนี้ปรากฏแวบเดียวเท่านั้น

“เห็นเร็วประมาณดีดนิ้วมือเดียวไส้ เห็นปานดังสายฟ้าแมลบคาบเดียวไส้…ฯลฯ…ก็กลับมืดไปดั่งเก่าแล”

แต่แม้เห็นแสงสว่างชั่วเวลาดีดนิ้วมือหรือเพียงฟ้าแลบแวบเดียว กระนั้นก็เป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งของผู้อยู่ในนรก

ด้วยเพียงพอที่จะทำให้ “ฝูงสัตว์ซึ่งได้ไปเกิดในโลกันตนรก” รู้ตัวว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพังท่ามกลางความมืดมิดหนาวเย็น

และกว่าจะได้เห็นแสงสว่างอีก ต้องรอนานชั่วพุทธันดรกัลป์

‘พุทธันดรกัลป์’ นานแค่ไหน โปรดติดตามที่หน้า 50

ซึ่งเมื่อรู้ว่านานแค่ไหน จะได้เตือนตนเองไม่ทำชั่วจนตกไปอยู่ “นรกเย็น” นั้น

การ “หิวแสง” ของจริง รุนแรงไม่ต่างหิวอย่างอื่น

 

 

กล่าวถึง “นรกเย็น” แล้ว ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

สุภา ปัทมานันท์ แปลเรื่องสั้น “คุโมะโนะอิโตะ” หรือในพากษ์ไทย “เส้นใยแมงมุม” ของ “อะคุตากาวา ริวโนะส” บิดาแห่งเรื่องสั้นญี่ปุ่นผู้เขียนราโชมอน ที่เรารู้จักกันดี มาให้อ่าน

เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “นรก” เช่นกัน

เป็น “นรก” ที่พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตาส่งเส้นใยแมงมุมแห่งสรวงสวรรค์ ลงไปในนรกอเวจี

เพื่อให้ผู้อยู่ในนรก ที่ทำกรรมดีได้รับผลตอบแทน

สามารถใช้เส้นใยแมงมุมปีนป่ายขึ้นมาจากนรกขุม

อันเป็น “โอกาสสุดพิเศษ” อย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในนรก

แต่เขา และพวกเขาเหล่านั้น จะสามารถใช้สายใยแมงมุมแห่งสรวงสวรรค์เพื่อการณ์นี้ได้หรือไม่

โปรดติดตามอ่าน เรื่องสั้น “คุโมะโนะอิโตะ” ที่หน้า 35

 

เนื่องในวันเพ็ญวิสาขบูชา เวียนมาบรรจบในปีนี้อีกครั้ง

ขอเหล่าพุทธศาสนิกชน โปรดพิจารณา

เรื่อง “นรกเย็น” และ “เส้นใยแมงมุม”

โดยโยนิโสมนสิการ เถิด •