โลกันตนรก ‘นรกเย็น’ นอกกำแพงจักรวาล ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี

ญาดา อารัมภีร
ภาพประกอบ : โลกันตนรก ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี /หนังสือ : ศิลปะกรุงธนบุรี ผู้เขียน : รศ.ดร.นิรันดร์ ชูวิเชียร สำนักพิมพ์มติชน

เมื่อเอ่ยถึง ‘นรก’ เรามักนึกถึงดินแดนที่มีไฟลุกโชติช่วงแผดเผาอยู่ตลอดเวลา ‘ไฟ’ กับ ‘ความร้อน’ จึงอยู่คู่นรก

อย่างไรก็ดี ‘นรกเย็น’ มีที่ตั้งและรูปพรรณสัณฐานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนนรกใด ไม่มีนรกใดเหมือน

‘นรกเย็น’ หรือ ‘โลกันตนรก’ อยู่ไกลแสนไกล อยู่ระหว่างสามจักรวาล ถ้าแต่ละจักรวาลคือวงกลม 3 วง เมื่อเอาสองวงมาเรียงชิดติดกันบนพื้นราบแถวเดียวกัน แล้วเอาวงกลมวงที่สามวางซ้อนไว้บนกึ่งกลางสองวงนั้น จะเกิดช่องว่างเป็นรูปสามเหลี่ยมระหว่างวงกลมทั้งสาม

ช่องว่างดังกล่าวคือ ‘ มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า ระหว่างโลก

 

ภาพของนรกนี้มีบรรยายเปรียบเทียบไว้ในวรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ว่า

“ฝูงจักรวาลทั้งหลายนี้แล 3 อัน อยู่ใกล้กันดั่งเกียน 3 อันแลวางไว้ข้างกันดั่งบาตร 3 ลูกอันขว้ำไว้ใกล้กันนั้น ระหว่างจักรวาล 3 อันแล มีนรกชื่อว่า “โลกันตนรก” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นรกนี้นอกจากกว้างแสนกว้าง ยังมีลักษณะกลวง เบื้องบนเป็นปล่องยาวไกลไปถึงแดนพรหม เบื้องล่างลงไปเป็นคูที่ลึกจนมองไม่เห็นผิวน้ำ

“ในโลกันตนรกนั้นกว้างได้ 8,000 โยชน์ ด้วยหลายนักหนาแลจะนับบ่มิได้ มีคูลึกวงรีหาพื้นน้ำบ่มิได้ หาฝาเบื้องบนมิได้ เบื้องใต้ไส้น้ำอันชูแผ่นดินนี้หากเป็นพื้น ขึ้นชื่อโลกันตนรกนั้นแล เบื้องบนนั้นเป็นปล่องขึ้นไปเถิงพรหมโลก อันว่าจะมีวิมานเทพดาอยู่ตรงบนโลกันตนรกขึ้นไปนั้นหาบ่มิได้โสด”

โลกันตนรกนั้นมืดตึ๊ดตื๋อ มืดเสียจนมองอะไรไม่เห็นเนื่องจากอยู่นอกกำแพงจักรวาล แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ส่องถึงแค่ภายในกำแพงจักรวาลเท่านั้น

โอกาสที่นรกนี้จะเห็นแสงแวบแปลบเดียวหายมีเพียง 5 ครั้ง

ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงวาระสำคัญของพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าว่า

 

“เมื่อท่านเสด็จลงเอาปฏิสนธิในครรภ์พระมารดานั้นก็ดี และเมื่อท่านสมภพจากมาตุคัพโภทรก็ดี และเมื่อพระพุทธิเจ้าตรัสแก่สัพพัญญูตญาณนั้นก็ดี และเมื่อพระพุทธิเจ้าตรัสเทศนาพระธรรมจักรนั้นก็ดี แลเมื่อพระพุทธิเจ้าเสด็จเข้าสู่นิพพานนั้นก็ดี ในกาลทั้ง 5 ครั้งนี้ ในโลกกันตนรกนั้นจิงได้เห็นหนแท้นักหนา คนซึ่งอยู่ในนรกนั้นจิงได้เห็นกันแล”

ถึงจะมีแสงสว่างเมื่อพระพุทธองค์ทรงถือกำเนิด ประสูติ ตรัสรู้ เทศนาธรรมครั้งแรก และเสด็จสู่ปรินิพพาน แต่เป็นเวลาสั้นๆ ชั่วพริบตา ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” เปรียบเทียบว่า

“เห็นเร็วประมาณดีดนิ้วมือเดียวไส้ เห็นปานดังสายฟ้าแมลบคาบเดียวไส้…ฯลฯ…ก็กลับมืดไปดั่งเก่าแล”

นั่นคือเห็นแสงสว่างชั่วเวลาดีดนิ้วมือหรือเพียงฟ้าแลบแวบเดียว แต่กระนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ ‘ฝูงสัตว์ซึ่งได้ไปเกิดในโลกันตนรกนั้น’ รู้ตัวว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพังท่ามกลางความมืดมิดหนาวเย็น ลองนึกภาพผู้คนที่ทำร้ายพ่อแม่และพระสงฆ์ ยุงยงให้สงฆ์แตกกัน เมื่อตายแล้วไปเกิดในโลกันตนรก ตัวจะใหญ่โตเหลือหลาย เล็บมือเล็บตีนเหมือนค้างคาวร่างมหึมา และมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน คือเอาตีนที่มีเล็บยาวแหลมเกาะกำแพงจักรวาลห้อยหัวลงมา

“ตนเขานั้นใหญ่นักหนาโดยสูงได้ 6,000 วา เล็บตีนแลเล็บมือเขานั้นดั่งผืนค้างคาว แลใหญ่ยาวนักหนาสมด้วยตัวอันใหญ่นั้น เล็บนั้นเสี้ยมนักหนาผิแลเกาะแห่งใดก็ติดอยู่แห่งนั้น เขาเอาเล็บเขานั้นเกาะกำแพงจักรวาลหมั้นหน่วงอยู่แล เขาห้อยตนอยู่ดั่งค้าวคาวนั้นแล”

แม้ดินแดนแห่งนี้มืดสนิท แต่บรรดาสัตว์นรกที่ห้อยหัวลงมาเป็นระนาวเหล่านี้หิวขึ้นมาก็ไม่อยู่เฉย ป่ายปีนอุตลุดควานหาของกินให้ควั่ก เมื่อไปโดนมือกันเข้าก็กินกันเองด้วยการตะครุบจับกอดรัดฟัดกันจนตกลงไปในน้ำเย็นเฉียบเบื้องล่าง

“เมื่อเขาอยากอาหารนักหนาไส้ เขาปีนไปมาเพื่อจะหากิน ครั้นได้ต้องมือกันเข้าไส้ ใจเขานึกว่าเข้ากินก็จับกุมกันกิน คนผู้หนึ่งนั้นก็ใส่ใจว่าของกิน จิงคนทั้งสองนั้นก็จับกุมกันกิน ต่างคนต่างตะครุบกันกิน ก็รัดเอาด้วยกันทั้งสองมือ ก็ตกลงทั้งสองคนในน้ำอันชูแผ่นดินนี้”

 

ผืนน้ำในโลกันตนรกมิใช่น้ำธรรมดา แต่เป็น ‘น้ำกรดเย็นยะเยือก’ กัดกร่อนทำลายร่างแหลกสลายตายทันที

“เมื่อเขาตกลงในน้ำนั้น ดุจลูกไม้อันใหญ่แลหล่นลงในน้ำนั้นแล ใต้น้ำนั้นโสด แต่แรกตั้งแผ่นดิน แดดบ่ห่อนจำไปต้องน้ำนั้นได้สักคาบหนึ่งเลย แลน้ำนั้นเย็นนักหนา ครั้นว่าเขาตกลงมาในน้ำนั้น บัดเดี๋ยวใจไส้ ตนเขาก็เปื่อยแหลกออกไปสิ้น ดั่งก้อนอาจมซึ่งตกลงในน้ำนั้น”

ตกนรก คือ ทนทุกข์ทรมานยาวนานไม่สิ้นสุด ตราบใดยังไม่หมดกรรมร่างที่เปื่อยยุ่ยย่อยสลายไปเพราะน้ำกรดก็คืนตัวตนขึ้นมาใหม่ กลับไปเกาะกำแพงห้อยหัวลงมาตามเดิม สู่วงเวียนกรรมทนทุกข์ทรมานตายแล้วเป็น เป็นแล้วตายเช่นนี้เรื่อยไปยาวนานชั่วพุทธันดรกัลป์

‘พุทธันดรกัลป์’ คือ ช่วงเวลานานแสนนานระหว่างพระพุทธเจ้าสองพระองค์ เมื่อองค์หนึ่งจากไป กว่าอีกองค์จะมา นึกดูแล้วกันว่านานแค่ไหน

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” โลกันตนรกเป็นส่วนหนึ่งในคำสาบานของพระไวยว่าจะรักมั่นแต่นางศรีมาลาเท่านั้น หากผิดคำขอให้ตกนรกโลกันต์

“พี่จะให้ความสัตย์ปัฏิญาณ ขอบันดาลเทพดาจงมาฟัง

ถ้าพี่นี้ทิ้งขว้างร้างหย่า ไม่เลี้ยงเจ้าศรีมาลาไปวันหลัง

ขอให้มีอันเป็นเห็นจริงจัง ลงนรกตกกระทั่งถึงโลกันต์”

ไม่เพียงเรื่องรัก แม้เรื่องรบ เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ยอมแพ้สองพ่อลูกคือ ขุนแผนและพลายงาม ก็ให้คำสัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดีสมเด็จพระพันวษา ถ้าคิดคด ตายแล้วก็ขอให้ตกนรกโลกันต์

“ทุกสิ่งสิ้นสารพัดเป็นสัจจัง ชาติกษัตริย์ตรัสดังว่าช้างงา

ถ้าขืนคดหดเหี้ยนเหมือนเศียรเต่า ขอให้เราสิ้นชีวังสังขาร์

แล้วทนทุกข์ท่วมหัวชั่วกัลป์ปา ในมหาโลกันต์แต่วันตาย”

ต่อให้พระไวยทิ้งศรีมาลา หรือพระเจ้าเชียงใหม่คิดคดต่อสมเด็จพระพันวษา ก็ไม่ตกโลกันตนรกแน่นอน เพราะมิได้ ‘กระทำร้ายแก่พ่อแลแม่แลสมณพราหมณาจารย์ผู้มีศีลแลยุยงสงฆ์ให้ผิดกัน’

รู้ทั้งรู้ยังกล้าสาบาน •