THE TAMING OF THE SHREW ‘เวอร์ชั่นโปแลนด์’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE TAMING OF THE SHREW

‘เวอร์ชั่นโปแลนด์’

 

กำกับการแสดง

Anna Wieczur-Bluszcz

นำแสดง

Magdalena Lamparska

Mikolaj Roznerski

Piotr Cyrwus

 

วิลเลียม เช็กสเปียร์ เขียนบทละครเรื่อง The Taming of the Shrew ราวช่วง ค.ศ.1590-1592 ซึ่งเป็นช่วงต้นๆ ของการที่เขาเดินทางจากครอบครัวที่บ้านเกิดในเมืองสแตรตฟอร์ด อัพพอน เอวอน เข้ากรุงลอนดอนมาทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ในโรงละคร จวบจนกลายเป็นนักการละครที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่มีมาในโลกการละครตราบจนถึงทุกวันนี้

ประวัติของเช็กสเปียร์นั้นเลือนรางและยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ก็มีนักการศึกษาและนักประวัติศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าและสร้างทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับตัวนักเขียนผู้โด่งดังคนนี้ รวมทั้งกำหนดไทม์ไลน์ในชีวิตและผลงานของเขา

เชื่อกันว่า The Taming of the Shrew เป็นบทละครเรื่องที่สองที่เช็กสเปียร์เขียน และยังต้องฝึกฝนฝีมือ ปรับตัวปรับความคิด ในการสื่อสารกับคนดูละครในรัชสมัยของพระนางเจ้าเอลิซาเบธ (ซึ่งเรียกขานกันว่าเอลิซาเบธที่ 1 เพราะมีพระราชินีในพระนามเดียวกันนี้สองพระองค์ จึงต้องใส่ตัวเลขกำกับไว้ จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร)

การละครสมัยเอลิซาบีธันรุ่งเรืองมากก็เพราะได้วิลเลียม เช็กสเปียร์ นี่แหละที่เขียนบทละครซึ่งกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ ในฐานะวรรณกรรมคลาสสิคที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยมีผู้ศึกษาวิจัยในลักษณะวิชาการและนำจัดแสดงกันต่อเนื่องมาไม่ขาดสายแม้เวลาจะผ่านมาถึงกว่าสี่ร้อยปีเข้าแล้ว

รวมทั้งการดัดแปลงไปสู่สื่อการแสดงอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ โอเปรา เป็นต้น

บทละครเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ที่ผู้เขียนได้ดูก็มีหนังปี 1967 ที่กำกับฯ โดยฟรังโก เซฟฟิเรลลี และนำแสดงโดยดาราคู่ขวัญในชีวิตจริงและบนจอ คือ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ กับริชาร์ด เบอร์ตัน ซึ่งเป็นการปราบพยศสาวสุดสวยลงราบคาบ แบบที่ดูแล้วสงสารลิซจังเลย

Kiss Me, Kate (1953) ที่สร้างจากละครเพลงของโคล พอร์เตอร์ (1948) ซึ่งดัดแปลงมาจาก The Taming of the Shrew อีกต่อหนึ่ง

แล้วอีกทีก็ 10 Things I Hate About You (1999) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมปลาย นำแสดงโดยจูเลีย สไตล์ และฮีธ เลดเจอร์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว

แต่ไหนแต่ไร Taming of the Shrew ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในด้านเนื้อหาและแก่นเรื่อง ซึ่งดูจะเกี่ยวพันกับทัศนะที่แสดงอคติและความเกลียดชังต่อเพศหญิง (misogyny) การเหยียดเพศหญิง (sexism) อย่างแรง และความเชื่อที่ว่าเพศชายเหนือกว่าเพศหญิง (male chauvinism)

เรื่องโดยย่อ คือคาทารีนาเป็นหญิงสาวปากร้ายอารมณ์ร้าย ซึ่งดูทีจะไม่มีทางได้แต่งงานกับใครเลย เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนกล้ามาจีบเธอได้ แต่ตามธรรมเนียมแล้ว น้องสาวของเธอจะแต่งงานไม่ได้ถ้าพี่สาวยังไม่เป็นฝั่งเป็นฝาไปก่อน

ดังนั้น พ่อและชายหนุ่มที่มาติดพันเบียงกาน้องสาว จึงพยายามหาทางให้มีคนมา “ปราบ” คาทารีนาให้อยู่หมัด และผู้ชายคนนั้นคือเพทรูชิโอ ซึ่งใช้วิธีการต่างๆ นานา ทั้งรุนแรงและจิตวิทยากระทำการปราบพยศสาวเจ้าจนสำเร็จลงในที่สุด

แต่การที่เช็กสเปียร์เขียนให้เรื่องราวการปราบพยศนี้เป็นละครซ้อนละคร ก็ทำให้เป็นที่กังขาว่าเขามีทัศนะจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด หรือว่าเขาเพียงแต่ใช้ละครซ้อนละครนี้ในลักษณะการเสียดสีเพื่อแสดงให้เห็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของสามีต่อภรรยาจนทำให้ภรรยาเชื่อฟังทุกอย่างแบบชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนก หรืออย่างในบทละคร คือชี้พระอาทิตย์ให้เป็นพระจันทร์ ภรรยาก็ต้องคล้อยตาม เป็นต้น

ทั้งนี้เนื่องจากเช็กสเปียร์เริ่มต้นบทละครด้วยตัวละครอีกกลุ่มที่สรวลเสเฮฮาเมาจนหัวทิ่ม คริสโตเฟอร์ สไล ถูกหลอกให้เชื่อว่าตัวเองเป็นขุนนางซึ่งมี “ภรรยา” ที่เป็นคนใช้ผู้ชายปลอมตัวมาเป็นหญิง และได้รับฟังเรื่องราวของการปราบพยศระหว่างเพทรูชิโอกับคาทารีนา

 

เอาล่ะค่ะ มาพูดกันถึงหนังจากโปแลนด์ที่ใช้ชื่อตามบทละครเรื่องนี้ของเช็กสเปียร์ตรงๆ เลยดีกว่า

แม้จะใช้ชื่อตรงๆ แต่ก็เรื่องราวก็ดัดแปลงไปสู่ยุคสมัยปัจจุบัน โดยให้ “เคต” (มักดาเลนา ลัมเปอร์สกา) เป็นสาวเลือดร้อนที่เห็นแฟนมีอะไรกับคนอื่นตำตา เลยอาละวาดเสียจนทุกคนพากันขยาดและแขยง

และแล้วเธอก็เลยสาปส่งผู้ชายและเซย์กู๊ดบายกับชีวิตในเมืองหลวง ออกเดินทางกลับสู่บ้านเกิดในชนบท

ให้พอดีกับการที่พ่อกำลังจะเซ็นสัญญาขายที่ดินกับโครงการใหญ่โตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เคตจึงเข้ามาขวางทางของการที่อ้อยกำลังจะเข้าปากช้างอยู่แล้ว

บอกไม่ถูกว่าใครเป็นอ้อยใครเป็นช้างนะคะ เพราะบทบาทจะกลับตาลปัตร ตลบหลังช้างไปอีกในตอนท้าย

เคตกลับมาอยู่บ้านที่ทิ้งร้างไว้ จึงต้องมาทำการซ่อมแซมหลายอย่าง เธอได้รับความช่วยเหลือจากหนุ่มมอเตอร์ไซค์รูปหล่อล่ำ (มิโคไล รอซเนอร์สกี) ซึ่งเข้ามารถเสียอยู่ในเขตบ้านเธอ และในที่สุดเขาก็อาสาใช้แรงงานเข้าแลกกับการได้พักอยู่ที่บ้านเธอ

แต่การณ์กลับเป็นว่านี่เป็นแผนการ “ปราบ” เคต เพราะหนุ่มบิ๊กไบก์มีความเกี่ยวพันอยู่กับบริษัทอสังหาฯ ที่อยากได้ที่ดินแปลงของเคต

 

หนังมีโทนของคอเมดี้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมีการตอบโต้ด้วยวิชามารต่างๆ นานา กลั่นแกล้งให้หนุ่มบิ๊กไบก์ต้องเจอดีเข้าบ้าง

แต่คอเมดี้ลักษณะนี้ก็ต้องมีตอนจบที่ลงตัว และตอนจบของหนังก็คือหนุ่มสาวได้พบรักแท้ และได้พิสูจน์ความรักด้วยความเสียสละทั้งหมดที่มีให้แก่คนรัก

ลงเอยด้วยดีค่ะ และเป็นหนังที่ออกจะตลกโปกฮาด้วยเรื่องราวเว่อร์ๆ ที่คาดเดาได้ แต่ก็ยังทำให้หัวเราะได้เสมอ

พระเอกนางเอกเข้าคู่กันได้ดี เหมือนขนมผสมน้ำยา ตัวละครอื่นๆ โดยรอบเป็นตัวตลกชูโรงทั้งหมด เรื่องราวไม่แปลกใหม่หรอกค่ะ เพราะเรื่องแบบนี้ดูมาไม่รู้ว่ากี่หนต่อกี่หนแล้ว แต่ก็ยังดูได้ดูดีอยู่อีกเรื่อยๆ

อ้อ หนังมีฉายในเน็ตฟลิกซ์นะคะ •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ The Taming of the Shrew ได้ที่นี่